bih.button.backtotop.text

ตรวจสุขภาพประจำปี! ควรตรวจอะไรและดีกับคุณอย่างไร?

28 มีนาคม 2561
การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอช่วยให้คุณอุ่นใจและคลายกังวลจากปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการตรวจสุขภาพเป็นการตรวจสำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรค หรือโรคและภาวะต่างๆที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งการพบปัญหาแต่เนิ่นๆ ไม่เพียงช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ประสบความสำเร็จ ลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย

การตรวจสุขภาพจะต้องตรวจอะไรบ้างและตรวจถี่ขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพโดยรวม ประวัติครอบครัว และรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้วโปรแกรมตรวจสุขภาพเบื้องต้นจะแบ่ง ตามเพศและอายุ โดยแพทย์แนะนำให้ตรวจทุก 1 ปี    สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษอาจจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและตรวจบ่อยขึ้น
 


ตรวจสุขภาพเบื้องต้น สำหรับทุกคนและทุกวัย

การตรวจสุขภาพโดยรวมเบื้องต้น หรือการตรวจแบบ comprehensive สำหรับทั้งเพศหญิงและเพศชาย ประกอบไปด้วย
  • การตรวจร่างกายทั่วไป โดยแพทย์จะสอบถามประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิดของคนในครอบครัว ประวัติอาการต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยา รวมถึงพฤติกรรมต่างๆที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ ร่วมกับการตรวจเบื้องต้น เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจหาดัชนีมวลกาย ประกอบกับการตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถแยกโรคได้ในระดับหนึ่ง
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ประเมินความเข้มข้นของเลือด ซึ่งอาจบอกถึงสภาวะผิดปกติเช่น ภาวะโลหิตจาง ภาวะที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย จำนวนเกล็ดเลือด รวมถึงโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) และค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c) เพื่อประเมินความเสี่ยง และคัดกรองโรคเบาหวาน
  • ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด เพื่อดูระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดีและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี เพื่อูประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
  • ตรวจระดับกรดยูริก เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์
  • ตรวจการทำงานของไต เป็นการตรวจเลือดเพื่อดูระดับค่าครีเอตินิน (creatinine) ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อ และ ค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) ซึ่งเป็นค่าของเสียจากการย่อยสลายโปรตีน เพื่อประเมินความสามารถในการขับของเสียของไต
  • ตรวจการทำงานของตับ เป็นการตรวจดูความผิดปกติของตับและทางเดินน้ำดี โดยตรวจหาเอ็นไซม์และสารต่างๆ ในเลือดเพื่อหาภาวะตับอักเสบ ตับเสื่อมสภาพ ภาวะดีซ่าน
  • ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ เป็นการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์จากระดับฮอร์โมนในเลือด เช่น TSH และ Free T4
  • ตรวจไวรัสตับอักเสบ โดยไวรัสตับอักเสบบีสามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นได้จากส่วนประกอบของเชื้อ HBsAg และการตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้แก่การตรวจ HBsAb ขณะที่ไวรัสตับอักเสบซีสามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นได้โดยตรวจ Anti-HCV
  • ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง ได้แก่ การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งทางเดินอาหาร (CEA) การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP) ในสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรี และตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) ในสุภาพบุรุษทุกช่วงวัย
  • ตรวจปัสสาวะ ช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะเบื้องต้น รวมถึงโรคอื่นๆ ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะเช่น โรคเบาหวาน
  • ตรวจอุจจาระ ช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น เช่น ภาวะการอักเสบติดเชื้อในลำไส้ พยาธิ รวมถึงตรวจหาภาวะเลือดปนในอุจจาระซึ่งอาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ริดสีดวงทวาร มะเร็งทางเดินอาหาร 
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการประเมินการทำงานของหัวใจในขณะพัก เพื่อดูความผิดปกติเช่นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การนำไฟฟ้าที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องทรวงอก เช่น ขนาดของหัวใจ  วัณโรคและโรคต่างๆของปอด
  • ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะสำคัญภายในช่องท้องเช่น ตับ ไต ตับอ่อน ม้าม เส้นเลือดใหญ่ภายในช่องท้อง รวมถึงมดลูกและรังไข่ในผู้หญิงและต่อมลูกหมากในผู้ชาย
  • ตรวจวัดความสามารถในการมองเห็นและความดันลูกตา เป็นการตรวจสุขภาพตาทั่วไป และค้นหาความเสี่ยงต่อภาวะต้อหิน
การตรวจต่างๆ เหล่านี้เหมาะกับกลุ่มคนวัยทำงานขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี โดยอาจมียกเว้นบ้าง สำหรับการตรวจบางอย่างในผู้สูงอายุ เช่น การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำเป็นกรณีไป


ตรวจเพิ่มเติม เรื่องเฉพาะของคุณสุภาพสตรี

สำหรับสุภาพสตรี ภาวะการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรงถึงชีวิต ได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งทั้งสองชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบแต่เนิ่นๆ ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคจึงสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยง
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
สตรีทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป หรือ 3 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ขึ้นกับว่าเวลาใดถึงก่อน ควรเริ่มทำการตรวจ หลังจากนั้นทำการตรวจทุก 1-2 ปี
สตรีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกปี หากผลตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี สามารถตรวจทุก 3 ปีได้ ยกเว้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก เช่น มีการติดเชื้อ HIV ติดเชื้อ HPV ทั้งนี้เพราะหลังจากได้รับเชื้อไวรัส HPV แล้ว มีโอกาสที่จะค่อยๆเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในเนื้อเยื่อชั้นผิวของปากมดลูกหรือที่เรียกว่าระยะก่อนมะเร็ง (pre-cancer) โดยร่างกายไม่แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างใด และอาจเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ในที่สุด
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง สามารถทำได้ 2 รูปแบบคือ
  1. การตรวจมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก ด้วยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) ซึ่งแพทย์จะเก็บเซลล์จากปากมดลูกแล้วนำส่งตรวจเพื่อหาเซลล์ผิดปกติที่อาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้
  2. การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการหาเชื้อ HPV เป็นการตรวจทางชีวโมเลกุลเพื่อหาเชื้อไวรัส HPV โดยตรง ซึ่งเป็นการตรวจที่มีความแม่นยำอย่างมาก


ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย โดยความเสี่ยงของการเป็นโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุ แพทย์จึงแนะนำให้ท่านที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมพร้อมอัลตราซาวนด์เต้านมทุก 1-2 ปี

การตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมให้ภาพที่มีความคมชัดสูง สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อบริเวณเต้านมที่มีความหนาแน่นต่างกันได้อย่างชัดเจน การอ่านผลการตรวจจึงมีข้อผิดพลาดน้อย และเมื่อตรวจร่วมกับการทำอัลตราซาวนด์ก็ยิ่งทำให้ผลการตรวจมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
 

55 ปีขึ้นไป ยิ่งต้องใส่ใจสุขภาพ +

 

สำหรับท่านที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป การตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นต้องเพิ่มการตรวจให้ครอบคลุมปัญหาสุขภาพมากกว่าคนในวัยน้อยกว่า โดยเป็นการตรวจเพิ่มเติมเพื่อค้นหาภาวะผิดปกติที่มักเกิดกับผู้สูงวัย ซึ่งมีตั้งแต่การขาดสารอาหารไปจนถึงความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ

การตรวจที่แนะนำ ได้แก่

  • ตรวจระดับวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นวิตามินที่มีความสำคัญมากต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงและเซลล์ระบบสมองและเส้นประสาท การขาดวิตามินบี 12 เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางและมีความเสี่ยงต่อภาวะความจำเสื่อม
  • ตรวจวัดระดับวิตามินดี เป็นวิตามินที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับกระดูก โดยปกติร่างกายได้รับวิตามินดีจากอาหาร และสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้เมื่อได้รับแสงแดดในระดับที่เหมาะสม
  • ตรวจระดับเกลือแร่โซเดียมและโพแทสเซียม เป็นเกลือแร่สำคัญสองชนิดที่ทำงานควบคู่กันในการรักษาความสมดุลของเซลล์ และช่วยรักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ช่วยให้ระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงรักษาสมดุลของของเหลวในร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หากปริมาณโซเดียมหรือระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำหรือสูงกว่าปกติ อาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
  • ตรวจระดับแคลเซียม แคลเซียมช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและสร้างมวลกระดูกให้มีความหนาแน่น ผู้สูงอายุต้องการแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,000 มิลลิกรัม จึงควรตรวจว่าระดับแคลเซียมพร่องหรือไม่
  • ตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หรือ Ankle-Brachial Index เป็นการวัดดัชนีความดันเลือดเปรียบเทียบหลอดเลือดแดงแขนกับขา เพื่อดูว่ามีภาวะหลอดเลือดแดงตีบตันที่แขนและขาหรือไม่ โดยเฉพาะท่านที่มีความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับการตีบตันของหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • ตรวจอัตราส่วนไมโครอัลบูมินต่อครีเอตินินในปัสสาวะ สำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อดูความผิดปกติของไต
  • ตรวจตาโดยการขยายรูม่านตา เป็นการตรวจเพื่อวัดความสามารถในการมองเห็น วัดความดันลูกตา การตรวจตาด้วยเครื่อง OCT & Fundus เพื่อค้นหาโรคทางจอประสาทตาและขั้วประสาทตา เช่น ต้อหิน เบาหวานขึ้นจอประสาทตา หรือโรคจุดรับภาพจอประสาทตาเสื่อม
     

นอกจากนี้ สุภาพสตรีในวัย 55 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกช่วงกระดูกสันหลังส่วนเอวและสะโพกเพิ่มด้วย ในขณะที่สุภาพบุรุษยังสามารถชะลอการตรวจนี้ออกไปได้ อย่างไรก็ตาม สุภาพบุรุษในช่วงวัย 55-69 ปีควรเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) เพิ่มเติม เพื่อทดสอบการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกายโดยการเดินสายพาน ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs