bih.button.backtotop.text

โรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริกตามข้อต่างๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม แดงบริเวณข้ออย่างเฉียบพลัน โดยพบได้บ่อยในผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โรคเก๊าท์เป็นโรคที่สามารถรักษาและควบคุมไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์เกิดจากภาวะกรดยูริก (uric acid) ในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกิดเป็นผลึกสะสมอยู่ในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบ ปวดบวมอย่างรุนแรง ทั้งนี้ กรดยูริกเปรียบเสมือนของเสียในร่างกายที่เหลือจากการกำจัดเซลล์ที่หมดอายุลง โดยร่างกายของแต่ละคนจะมีกรดยูริกอยู่ประมาณร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 มักได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป


ปัจจัยที่กระตุ้นให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงจนตกตะกอนเป็นผลึก ได้แก่

  • การรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุกโตส
  • อาการเจ็บป่วยที่มีผลต่อการสร้างเซลล์เพิ่มขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) โรคสะเก็ดเงิน
  • อาการเจ็บป่วยที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างกรดยูริกขึ้นมามากกว่าปกติ ขณะเดียวกันก็ลดความสามารถในการกำจัดกรดยูริกออกจากร่างกาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไต
  • การใช้ยาบางชนิด ที่ส่งผลให้ไตขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้น้อยลง
ผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีอาการปวด บวมแดง ร้อนบริเวณข้ออย่างฉับพลันทันทีทันใด โดยมักเริ่มจากข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้ออื่นๆ ได้ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ซึ่งจะเป็นๆ หายๆ ในระยะแรก โรคเก๊าท์ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกต้อง อาการอักเสบจะรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยปวดถี่ขึ้นและนานขึ้นจนอาจกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคไต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ และไตวาย

นอกเหนือจากการตรวจร่างกายแล้ว แพทย์วินิจฉัยโรคเก๊าท์ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1. เจาะน้ำในข้อที่มีอาการออกมาตรวจว่ามีผลึกของกรดยูริกหรือไม่ ถือเป็นวิธีหลักในการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเจาะ เพราะหากผู้ป่วยยังมีอาการปวดมาก อาจไม่สมควรเจาะในขณะนั้น แต่อาจให้รับประทานยาเพื่อให้หายอักเสบก่อน

2. เจาะเลือดดูระดับกรดยูริกว่าสูงมากน้อยเพียงใด เป็นการตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่พร้อมรับการเจาะน้ำในข้อ ทั้งนี้ระดับกรดยูริกสูงไม่ได้หมายความว่าเกิดการตกตะกอนเป็นผลึกในข้อเสมอไป

3. การตรวจ dual energy CT scan เป็นการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้แพทย์เห็นผลึกของกรดยูริกที่ตกตะกอนอยู่ในข้อได้โดยไม่จำเป็นต้องเจาะน้ำออกมาตรวจ แต่การตรวจแบบนี้เหมาะสำหรับกรณีที่ผลึกจับตัวเป็นก้อนใหญ่จนสามารถเอกซเรย์เห็นได้ ซึ่งแพทย์จะประเมินจากลักษณะข้อที่ผิดปกติ หรือระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น เป็นๆ หายๆ มานาน 5-10 ปี

แนวทางการรักษาโรคเก๊าท์คือการลดกรดยูริกในเลือดให้ต่ำลง ซึ่งทำได้โดยการรับประทานยาละลายผลึกกรดยูริกแล้วให้ร่างกายขับออก เมื่อกรดยูริกลดต่ำลงก็จะเกิดการอักเสบน้อยลง


ทั้งนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะเป็นการรักษาอาการอักเสบเฉียบพลันแล้ว ยังเป็นการป้องกันการกลับมาสะสมใหม่และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรค รวมถึงการเกิดปุ่มหรือก้อนผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อที่เรียกว่าก้อนโทฟัส (tophus) ซึ่งทำให้ดูไม่สวยงาม

การป้องกันโรคเก๊าท์ที่สามารถทำได้ คือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วยการไม่รับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ได้แก่

  • พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตามนัดทุกครั้ง และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ อาหารทะเลบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเน้นรับประทานโปรตีนจากผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรศึกษาอย่างละเอียดว่าอาหารชนิดใดควรหรือไม่ควรรับประทาน หลีกเลี่ยงฟรุกโตสซึ่งพบมากในน้ำอัดลม
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน ไม่ควรลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเพราะอาจเป็นการเพิ่มระดับของกรดยูริกได้
  • ดื่มน้ำให้มากเพื่อขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ
  • หากมีอาการปวดเฉียบพลันให้พักการใช้ข้อที่อับเสบ แล้วใช้วิธีประคบเย็นช่วยบรรเทาอาการ

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์อายุรกรรม

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.27 of 10, จากจำนวนคนโหวต 51 คน

Related Health Blogs