bih.button.backtotop.text

อาการปวดเมื่อยเรื้อรัง รักษาอย่างไรให้หายขาด?

อาการปวดหลัง ปวดคอ และการเจ็บปวดกล้ามเนื้อบริเวณต่างๆ เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้ทั่วไปในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับคนวัยทำงานในเมืองที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งทำงานในสำนักงานและขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อเกิดอาการผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ หลายคนเลือกที่จะบรรเทาความเจ็บปวดด้วยการพักร่างกาย นวดแก้อาการ หรือรับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ เมื่ออาการทุเลาลงก็กลับไปดำเนินชีวิตในรูปแบบเดิม ทำให้อาการปวดย้อนกลับมาใหม่ นานวันเข้าก็กลายเป็นอาการเจ็บปวดเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาดและรบกวนคุณภาพชีวิตในหลายๆ ด้าน

ทั้งนี้ การรักษาภาวะความเจ็บปวดที่ดีที่สุดคือการแก้ไขที่ต้นเหตุของการเกิดอาการ นั่นคือการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างตรงจุดให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเสียก่อน นี่จึงเป็นที่มาของการรักษาทางกายภาพบำบัดแนวใหม่สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง
 


การรักษาแบบองค์รวมของอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง

แนวคิดล่าสุดเกี่ยวกับการรักษาอาการเจ็บปวดด้วยวิธีกายภาพบำบัดเชื่อว่า ตำแหน่งหรือบริเวณที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดนั้นมักไม่ใช่สาเหตุของความเจ็บปวดที่แท้จริง เช่น อาการเอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) อาจเกิดจากความตึงของแขนทั้งหมดและต้องแก้ไขด้วยการยืดหัวไหล่ หรืออาการไหล่ติด ปวดหัวไหล่ อาจเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในมือที่ส่งผลต่อเนื่องมายังท่อนแขนส่วนล่าง ส่วนบน จนถึงหัวไหล่และลำตัว เนื่องจากกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ เอ็นกระดูก และเอ็นกล้ามเนื้อของคนเรานั้นทำงานเป็นระบบสอดประสานเชื่อมโยงกันอย่างสมดุล เพื่อให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นตำแหน่งหนึ่งก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังตำแหน่งอื่นๆ และทำให้ร่างกายขาดความสมดุลได้

ดังนั้น การรักษาเฉพาะบริเวณที่เจ็บปวดจึงไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากอาการผิดปกติได้อย่างยั่งยืน แต่ ต้องเป็นการรักษาแบบองค์รวมโดยเน้นคืนความสมดุลให้กับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เนื้อเยื่อดึงรั้ง หรือความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ


4 ขั้นตอน จัดการกับอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง การรักษาทางกายภาพบำบัดแนวใหม่ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. การตรวจประเมินเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการเจ็บปวด โดยนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะตรวจประเมินท่าทางการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยอย่างละเอียด โดยสังเกตทิศทางการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ ของร่างกายผู้ป่วยว่าอยู่ในตำเหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ สังเกตกลไกการขยับของข้อต่อและกล้ามเนื้อ ทดสอบสมรรถนะของกล้ามเนื้อและการออกแรงต้านเพื่อระบุตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่เป็นปัญหาเพื่อการรักษาที่ชัดเจน แม่นยำ พร้อมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับสภาพโครงสร้างของร่างกายและการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูกที่ถูกต้อง
  2. ใช้เครื่องมือที่ถูกต้องในการลดความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นการคลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดโดยใช้ manual technique เช่น การนวดและยืดกล้ามเนื้อ (stretching) หรือใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดร่วมด้วย เช่น การบำบัดรักษาด้วยคลื่นความร้อนลึก อาทิ Ultrasound หรือ Short wave therapy ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการซึ่งแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย
  3. กำหนดและแนะนำรูปแบบการออกกำลังกายเฉพาะบุคคลโดยใช้เทคนิค Linkage Exercise ซึ่งเป็นท่าทางการออกกำลังกายที่ออกแบบมาเพื่อช่วยปรับแก้โครงสร้างของร่างกายในส่วนที่เป็นปัญหาอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดสมดุลและเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีกในอนาคต ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้อุปกรณ์ร่วมด้วย เช่น ยางยืดออกกำลังกายหรือถุงทรายถ่วงน้ำหนัก
  4. ติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยการตรวจร่างกายและทดสอบระบบการเคลื่อนไหวเพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาในแต่ละครั้ง หากผู้ป่วยเริ่มเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นและอาการเจ็บปวดลดลง นักกายภาพบำบัดอาจพิจารณาปรับท่าหรือเพิ่มท่าออกกำลังกายเพื่อให้มั่นใจว่ากล้ามเนื้อต่างๆ ที่เป็นปัญหาได้รับการแก้ไขและกลับสู่สมดุล


กายภาพบำบัดแนวใหม่เหมาะกับใครบ้าง

การรักษาทางกายภาพบำบัดและเทคนิคการออกกำลังกายแบบ Linkage Exercise ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการดังต่อไปนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

  • อาการผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น อาการปวดจากกล้ามเนื้อ กระดูก หรือกระดูกสันหลัง เช่น ปวดคอ ปวดหลัง อาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ อาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อเรื้อรัง ข้อเคล็ดขัดยอก และการอักเสบของข้อกระดูกและ/หรือเอ็นกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  • อาการบาดเจ็บเรื้อรังจากการเล่นกีฬา เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อระหว่างการเล่นกีฬานั้นๆ ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ใช้งานซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง หรือมีการใช้งานกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งมากเกินไป
  • อาการออฟฟิศซินโดรม ( office syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนทำงานในสำนักงาน เนื่องจากลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ การทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ รวมถึงการใช้สมาร์ทโฟนต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนอาจส่งผลให้เกิดโรคและอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย อาทิ กล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท ความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ ปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วโป้งอักเสบ นิ้วล็อก และหลังยึดติดในท่าแอ่น

การรักษาอาการปวดเมื่อยเรื้อรังด้วยกายภาพบำบัดแนวใหม่ ไม่เพียงช่วยลดจำนวนครั้งและความถี่ในการทำกายภาพบำบัดที่คลินิกกายภาพบำบัดหรือที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นการป้องกันอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหมายถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของผู้ป่วยนั่นเอง


เรียบเรียงโดย พัชรินทร์ พัฒนาธรชัย นักกายภาพบำบัด คลินิกกายภาพบำบัด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs