bih.button.backtotop.text

นิ้วล็อค อาการที่พบบ่อย รักษาหายขาดได้

สาเหตุเกิดจากอะไร บางที่เป็นแบบไม่รู้ตัว อยู่ๆ นิ้วเกิดล็อค และจะแก้ไขภาวะนี้อย่างไร?...


ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าการที่เราสามารถเคลื่อนไหวนิ้วไปมาได้เป็นปกตินั้น เส้นเอ็นมีส่วนสำคัญเพราะเส้นเอ็นเปรียบเหมือนเชือกที่ทำหน้าที่ดึงให้นิ้วงอเข้าและเหยียดออกได้ นอกจากมีเส้นเอ็นแล้วเรายังมีปลอกเส้นเอ็นคอยทำหน้าที่ให้เส้นเอ็นมีการเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ อาการนิ้วล็อคเกิดจากปลอกเส้นเอ็นมีการอักเสบและตีบแคบลง ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวได้ไม่เป็นปกติ 


บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงการเกิดอาการนิ้วล็อค     

ผู้สูงอายุ : อาการนิ้วล็อคมักพบบ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากเกิดการใช้งานสะสมกันมาเป็นเวลานานและด้วยความ
เสื่อมของเส้นเอ็นจากการใช้งานเป็นเวลามากเช่นกัน

เพศหญิง : เป็นที่น่าแปลกเมื่ออาการนิ้วล็อคมักเกิดขึ้นกับสุภาพสตรีบ่อยกว่าเพศชาย
ผู้ที่มีโรคประจำตัว : อาการนิ้วล็อคมักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ดังนั้นผู้ป่วยในโรคนี้ควรระมัดระวังการเกิดนิ้ว
ล็อคเป็นพิเศษ

 

การใช้สมาร์ตโฟนบ่อยๆ สามารถทำให้เกิดอาการนิ้วล็อคได้หรือไม่?...

หลายคนพูดถึงการใช้สมาร์ตโฟนเป็นระยะเวลานานๆ ในปัจจุบันเราใช้สมาร์ตโฟนกันเยอะจะส่งผลให้เกิดอาการนิ้วล็อคหรือเปล่านั้น สามารถสังเกตจากพฤติกรรมการใช้งานได้ เช่น ถ้าเราใช้งานแบบไม่ได้ใช้แรงกดแรงๆ หรือไม่ได้กำแน่นๆ ก็ไม่ได้สัมพันธ์กับการเป็นนิ้วล็อคได้ เพราะการเกิดนิ้วล็อคนั้นเกิดจากการออกแรงแบบกำแน่นๆ แล้วทำต่อเนื่องกันซ้ำๆ เป็นเวลาครั้งละนานๆ จึงจะเกิดอาการนิ้วล็อคได้


 

อาการนิ้วล็อคมีกี่ระยะ อย่างไรบ้าง?...

อาการนิ้วล็อคมีอยู่ด้วยกัน 4 ระยะ เพราะฉะนั้นคนไข้แต่ละคนที่มาพบแพทย์อาจจะมาด้วยอาการที่ไม่เหมือนกันแต่เป็นโรคเดียวกัน เพียงแต่เป็นคนละระยะ เช่น
 

IMG_7995-(2).PNG
 
ระยะที่ 1    คนไข้จะมาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บฝ่ามือ แต่ยังคงเคลื่อนไหวนิ้วได้เป็นปกติ


IMG_7996-(1).PNG
 
ระยะที่ 2    ปลอกเส้นเอ็นจะตีบแคบลง การเคลื่อนไหวจะยากขึ้น
ดังนั้นเวลางอนิ้วจะมีการสะดุดแต่ยังงอได้เหยียดได้ ยังใช้งานได้เป็นปกติ


IMG_7997-(1).PNG

ระยะที่ 3    ระยะนี้จะกำมือได้ แต่จะมีอาการค้าง, เหยียดนิ้วมือไม่ออก
จึงต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วยในการเหยียดนิ้วมือออกมา


IMG_7998-(2).PNG

ระยะที่ 4    ปลอกเอ็นจะตีบแคบมากจนกระทั่งเอ็นไม่สามารถผ่านจุดคอดได้ ดังนั้นเวลากำมือนิ้วจะกำไม่ลง
ซึ่งเห็นได้ว่าในแต่ระยะจะมีอาการที่ไม่เหมือนกัน นิ้วล็อคมีได้หลายอาการ ตั้งแต่เจ็บฝ่ามือ นิ้วสะดุดขึ้นลง กำมือแล้วไม่
สามารถเหยียดมือออกมาได้ หรือไม่สามารถกำมือได้
 


อาการนิ้วล็อครักษาอย่างไร?...

การรักษาเบื้องต้นของอาการนิ้วล็อคที่หลายคนเข้าใจผิด เช่น การพยายามใช้มือไปกำลูกบอล หรือบางคนอาจจะไปกำลูก
เหล็ก แต่ปรากฎว่าอาการกลับเป็นมากขึ้น 
 

IMG_8001-(1).PNG


ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการนิ้วล็อคให้ถูกต้อง คือ นิ้วล็อค
เกิดจากการใช้เส้นเอ็นเกินกำลัง การรักษาที่ถูกวิธี มีดังนี้
  1. พักการใช้งานในส่วนที่เกิดอาการนิ้วล็อค
  2. ใช้ความร้อน โดยนำมือไปแช่ที่น้ำอุ่น พร้อมกับบริหารมือเบาๆ ไม่ควรกำมือแน่นเพราะการกำมือแน่นนั้นเป็นการเพิ่มการใช้งานของเส้นเอ็นที่มากขึ้น
 

ถ้าเป็นนิ้วล็อคแล้วไม่ทำการรักษา จะกลายเป็นอาการเรื้อรังได้หรือไม่?...

ข้อดีของอาการนิ้วล็อค คือ เป็นอาการที่รักษาได้และรักษาหายขาด แต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ ข้อที่ค้างอยู่งอไม่ลงอาจจะทำให้มีข้อยึดและส่งผลให้เกิดข้อยึดติดถาวรถึงแม้จะทำการรักษาแล้วก็ตาม ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้เกิดอาการในระยะที่ 3 หรือระยะที่ 4 ไว้เป็นเวลานานๆ
 

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดอาการนิ้วล็อค?...

การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการนิ้วล็อค คือ เราต้องเข้าใจว่านิ้วล็อคเป็นความเสื่อมของร่างกายอย่างหนึ่ง เหมือนกับการที่เรามีผมหงอก เหมือนข้อเสื่อม แต่นิ้วล็อคเป็นการเสื่อมของเส้นเอ็น ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้งานหนักของเส้นเอ็นมากที่จนเกินไป โดยเฉพาะท่าที่ต้องกำมือแน่นๆ เช่น การบิดผ้าให้แห้งมากๆ หรือกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อมือเพื่อให้กำแน่นๆ โดยพฤติกรรมเหล่านี้เป็นการใช้เส้นเอ็นมากเกินไป 

IMG_8003-(1).PNGIMG_8004-(1).PNG

 
อาการนิ้วล็อคเป็นอาการที่พบได้บ่อยและสร้างความเจ็บปวดให้กับคนไข้ได้เยอะมาก แต่ข้อดีคือ สามารถป้องกันได้ รักษาให้หายขาดได้ หากรู้ว่าเกิดอาการนิ้วล็อคแล้วนั้น ควรทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้


เรียบเรียงโดย
นพ. สำเริง เนติ
ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ, การผ่าตัดมือ
ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs