bih.button.backtotop.text

สุขภาพตากับเด็กยุคดิจิตอล

28 สิงหาคม 2558

ในยุคปัจจุบันที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็ล้วนแล้วแต่เห็นผู้คนก้มหน้าก้มตาอยู่กับจอมือถือหรือแทบเล็ต ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กๆ หมอจึงมักได้รับคำถามจากคุณพ่อคุณแม่เสมอๆ ว่า การให้ลูกอยู่กับหน้าจอเหล่านี้นานๆ จะส่งผลต่อสายตาอย่างไร บทความนี้ได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยจากคุณพ่อคุณแม่ เพื่อคลายข้อสงสัยและให้คุณพ่อคุณแม่ตระหนักถึงความสำคัญของการถนอมดวงตาของลูกน้อยให้มีสุขภาพดีไปนานๆ 


Q: Computer Vision Syndrome (CVS) คืออะไร

A: CVS คือกลุ่มอาการทางตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไป เช่น ปวดตา ตาล้า แสบตา ระคายเคืองตา ตาแดงเป็นๆ หายๆ ตามัว ตาแห้ง เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันอาการนี้ไม่ได้พบเฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังพบในเด็กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


Q: เล่นคอมพิวเตอร์มากๆ ทำให้เด็กสายตาสั้นเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่

A: โดยปกติแล้วเมื่ออายุมากกว่า 18 หรือ 20 ปี สายตาจะหยุดการเปลี่ยนแปลง คือไม่สั้นเพิ่มขึ้น ยกเว้นผู้ที่มีพยาธิสภาพเป็นโรคสายตาสั้นไม่หยุด สายตาจะยังคงสั้นเพิ่มขึ้นได้แม้ว่าอายุจะเกิน 20 ปีไปแล้ว แต่สำหรับในเด็กซึ่งยังมีการเจริญเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงของสายตาได้อยู่ การใช้คอมพิวเตอร์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องได้ โดยมีการศึกษาที่รายงานปัจจัยที่ทำให้เด็กสายตาสั้นเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • พันธุกรรม ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีสายตาสั้น ลูกมีโอกาสสายตาสั้นได้ค่อนข้างมาก
  • ผู้ที่มีกิจกรรมการใช้สายตาในระยะใกล้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การใช้คอมพิวเตอร์ จะมีโอกาสสายตาสั้นได้มาก เพราะตาต้องโฟกัสตลอดเวลา
  • ผู้ที่ไม่ค่อยทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น เด็กที่ไม่ค่อยเล่นกีฬา พบว่ามีโอกาสสายตาสั้นได้มากกว่าหรือ+สายตาสั้นจะพัฒนาเร็วกว่าเด็กที่ใช้เวลากับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งนี้มีการศึกษาที่กล่าวว่าวิตามินดีในแสงแดดอาจเป็นปัจจัยที่ดีในการช่วยชะลอภาวะสายตาสั้นในเด็ก 


Q: แสงสีฟ้าหรือที่เรียกกันว่า blue light คืออะไร มีผลกับสายตาจริงหรือไม่

A: แสงตามธรรมชาติหรือแสงอาทิตย์แบ่งประเภทตามความยาวของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ แสงอัลตราไวโอเลต (UV) แสงที่ดวงตามองเห็น (visible light) และแสงอินฟราเรด (infrared)

  • แสงอัลตราไวโอเลต เป็นแสงที่มีความยาวคลื่นสั้น ส่วนมากมักถูกสกัดกั้นที่กระจกตาและเลนส์ตา มีน้อยมากที่จะทะลุไปที่จอประสาทตา จึงไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อจอประสาทตา ดังนั้นผู้ที่ถูกแสงอัลตราไวโอเลตมากๆ เช่น นักกีฬากอล์ฟ เกษตรกร อาจมีโอกาสที่จะเป็นต้อกระจกได้เร็วกว่าปกติ การสวมแว่นกันแดดจะเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นต้อกระจกเร็วกว่าเวลาอันควร
  • แสงที่ดวงตามองเห็น ประกอบด้วยสเปกตรัมตั้งแต่สีฟ้าจนถึงสีแดง ซึ่ง “แสงสีฟ้า” ที่อยู่ในแสงที่ดวงตามองเห็นนี้ เป็นแสงที่มีความยาวคลื่นต่ำแต่พลังงานสูง และเป็นแสงที่ทำลายจอประสาทตาได้มากกว่าแสงสีอื่น
  • แสงอินฟราเรด ส่วนมากมักถูกสกัดกั้นที่เลนส์ตาและวุ้นลูกตา ไม่ค่อยส่งผลต่อจอประสาทตาเช่นเดียวกับแสงอัลตราไวโอเลต

 

อย่างไรก็ดี แสงสีฟ้าไม่ได้มีอยู่เฉพาะในแสงแดดอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟในบ้าน ไฟหน้ารถยนต์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแทบเล็ต ในปริมาณต่างๆ กันไป ทั้งนี้มีการศึกษาทดลองในหนู โดยการฉายแสงสีฟ้าใส่ตาหนู พบว่าแสงสีฟ้าในปริมาณน้อยๆ ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จอประสาทตา แต่เมื่อเพิ่มปริมาณของแสงสีฟ้าไปจนถึงระดับหนึ่งโดยสัมพันธ์กับเวลาที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เซลล์ในจอประสาทตา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้นได้ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ถ้าดวงตาได้รับแสงสีฟ้ามากเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียได้ เพียงแต่ว่ายังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่าปริมาณและระยะเวลาที่สัมผัสเท่าไรในตามนุษย์ที่จะทำให้ก่อโรคได้ 


Q: เด็กควรเล่นคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแทบเล็ตนานเท่าไร จึงจะไม่ส่งผลเสียต่อสายตา

A: จริงๆแล้วผลของคอมพิวเตอร์ไม่ได้มีเฉพาะเพียงสายตา แต่มีผลต่อเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญกว่าไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านอารมณ์ สังคม และสมาธิ ตามคำแนะนำของสมาคมกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบเล่นคอมพิวเตอร์ เนื่องจากไม่มีประโยชน์ในแง่พัฒนาการของเด็ก ส่วนในเด็กที่อายุมากกว่า 2 ขวบแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่จำกัดการใช้คอมพิวเตอร์รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ให้เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน อย่างที่กล่าวแล้วว่าการใช้ตามองดูสิ่งของที่ใกล้ตลอดเวลาอาจมีผลทำให้เกิดสายตาสั้นได้ รวมทั้งสายตาเมื่อยล้าหรือ CVS ได้ด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรจำกัดเวลา เช่น ให้เล่นเพียงแค่ 20-30 นาที แล้วให้หยุดพักสายตา 


Q: จะสังเกตอย่างไรว่าลูกมีสายตาผิดปกติ

A: ถ้าเด็กสายตาสั้น เด็กจะมองไกลไม่ชัด อาจพบว่าเด็กจดการบ้านผิด หรือคุณครูบอกว่าเด็กต้องเดินไปข้างหน้าเพื่อมองกระดานหรือหยีตาจึงจะมองเห็น เมื่ออยู่บ้านต้องเดินไปใกล้โทรทัศน์หรือก้มลงอ่านหนังสือใกล้ตามากขึ้น หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นความผิดปกติเหล่านี้ ควรพาลูกมาพบจักษุแพทย์ แต่ในบางครั้งแม้เด็กจะไม่มีอาการก็อาจมีภาวะสายตาผิดปกติ โดยเฉพาะที่ผิดปกติข้างเดียว ซึ่งอาจสัมพันธ์กับโรคสายตาขี้เกียจได้


Q: เด็กควรมารับการตรวจตาตั้งแต่อายุเท่าไร ถ้าไม่มีอาการผิดปกติมาตรวจตาได้หรือไม่ และความถี่ในการตรวจควรเป็นเท่าไร

A: แนะนำว่าเมื่อเด็กอายุ 3-5 ขวบควรมาตรวจตาครั้งแรกแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม โดยส่วนใหญ่จักษุแพทย์จะทำการตรวจคัดกรองโรคสายตาขี้เกียจ ซึ่งส่วนมากพบได้ 3-5% และถ้ารักษาได้เร็ว เด็กจะหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าตรวจพบได้ช้า การรักษาให้หายขาดอาจเป็นไปไม่ได้เลย สำหรับความถี่ในการตรวจตา หากไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ควรตรวจทุก 1-2 ปี แต่ถ้ามีภาวะสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือสายตาขี้เกียจ อาจจะต้องเข้ารับการตรวจถี่กว่าปกติหรือตามที่จักษุแพทย์แนะนำ 


Q: การป้องกันการเกิด computer vision syndrome หรืออาการเมื่อยล้าทางตาจากการใช้คอมพิวเตอร์ทำอย่างไร

A: ข้อแนะนำในการป้องกันการเกิด CVS ทำได้ดังนี้

  • ตรวจตา ควรทำเป็นอันดับแรก หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาจะได้ทำการแก้ไข เช่น ใส่แว่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการตาล้ามากขึ้นเมื่อใช้คอมพิวเตอร์นานๆ
  • ใช้จอคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมและปรับแสงสว่างให้พอเหมาะ จอคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมควรมีขนาดมากกว่า 19 นิ้ว และเป็นจอที่กันแสงสะท้อน เพราะถ้ามีแสงสะท้อนจะทำให้รู้สึกไม่สบายตา ควรปรับให้ได้แสงที่ทำให้สบายตามากที่สุด ไม่มืดหรือสว่างจนเกินไป และควรจัดแสงจากภายนอกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เช่น โคมไฟ หรือแสงจากหน้าต่าง ไม่ให้แยงตาโดยตรงเพราะจะทำให้ตาล้ามากขึ้น
  • กะพริบตาให้บ่อยขึ้น เนื่องจากโดยธรรมชาติของคนเราจะกะพริบตา 10-15 ครั้ง/นาที และเมื่อกะพริบตา 1 ครั้งจะทำให้มีน้ำตาออกมาเคลือบตา ช่วยให้ไม่แสบตา มองเห็นภาพชัด แต่เมื่อตั้งใจมองอะไรนานๆ เช่น อ่านหนังสือ ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ เราจะกะพริบตาน้อยลงกว่าปกติและกะพริบตาไม่สุด การเคลือบของน้ำตาจึงลดลง ทำให้ตาแห้ง แสบตา มองเห็นภาพไม่ชัด ดังนั้นหากไม่สามารถกะพริบตาได้เท่าปกติในขณะอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรมีช่วงพักให้บ่อยขึ้นหรือหยอดน้ำตาเทียมเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ตาแห้ง
  • พักสายตาโดยใช้กฎ 20-20-20 หมายถึง ทุก 20 นาทีที่ใช้สายตาในการดูคอมพิวเตอร์ให้พักสายตาโดยการมองไปไกลๆ ประมาณ 20 ฟุตอย่างน้อย 20 วินาที แล้วจึงกลับมาดูคอมพิวเตอร์ต่ออีก 20 นาที ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการโฟกัสหน้าจอคอมพิวเตอร์
  • ปรับขนาดตัวอักษรบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมถึง มือถือหรือแทบเล็ต ไม่ให้มีขนาดเล็กจนเกินไป โดยขนาดตัวอักษรที่ทำให้อ่านได้สบายตาในเวลานานๆ จะต้องมีขนาดอย่างน้อย 3 เท่าของขนาดที่เล็กที่สุดที่สามารถอ่านได้ในระยะนั้น
  • ใช้อุปกรณ์ป้องกันแสงสีฟ้า เช่น แว่นตา แผ่นฟิล์มหรือจอกรองแสง แอพพลิเคชันกรองแสงสีฟ้าบนมือถือ ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ลดแสงสีฟ้าลงได้
  • กำหนดระยะห่างระหว่างสายตากับหน้าจอ ระยะห่างที่พอเหมาะจะทำให้ไม่ต้องใช้กำลังโฟกัสของตามากเกินไปจนเกิดอาการล้าของตาได้โดยระยะห่างระหว่างหน้าจอแต่ละประเภทจะแตกต่างกัน หากจะอ่านหนังสือ แทบเล็ต หรือหน้าจอมือถือควรห่างประมาณ 1 ฟุต ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะควรห่างประมาณ 2 ฟุต ส่วนโทรทัศน์ควรห่างประมาณ 10 ฟุต ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรจัดระยะห่างให้เหมาะสม เพื่อสุขภาพสายตาที่ดีสำหรับลูกๆ รวมถึงคุณพ่อคุณแม่เองด้วย


เรียบเรียงโดย พันตรีหญิง พญ.ณัฐธิดา วงศ์วีระวัฒน์ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาเด็ก ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs