bih.button.backtotop.text

มะเร็งท่อน้ำดี

มะเร็งท่อน้ำดี เป็นก้อนเนื้อร้ายที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังของท่อทางเดินน้ำดีซึ่งรวมถึงท่อน้ำดีภายในตับและท่อน้ำดีภายนอกตับ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ในประเทศไทยโรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการรับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบๆ ทำให้ได้รับตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับ

ชนิดของมะเร็งท่อน้ำดี
มะเร็งท่อน้ำดีสามารถแบ่งออกตามตำแหน่งของมะเร็งได้ 2 ชนิด คือ 
  • มะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ เกิดจากเซลล์ของเยื่อบุท่อน้ำดีในตับและขยายออกสู่เนื้อตับข้างๆ ทำให้มีลักษณะคล้ายมะเร็งตับ จึงเป็นโรคที่มักถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นมะเร็งตับ
  • มะเร็งท่อน้ำดีภายนอกตับ จะเกิดที่ท่อน้ำดีใหญ่ตั้งแต่ขั้วตับจนถึงท่อน้ำดีร่วมส่วนปลาย มะเร็งชนิดนี้ทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำดี ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง
ในประเทศไทย ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีที่สำคัญโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ การรับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบๆ ทำให้ได้รับตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งจะเจริญเติบโตอยู่ในท่อน้ำดี
 
สำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจมีผลทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีมีดังนี้
  • ภาวะท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง
  • โรคของระบบทางเดินน้ำดี
  • มีนิ่วในตับ
  • โรคทางพันธุกรรมผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคมีถุงน้ำผิดปกติในระบบทางเดินน้ำดี
โดยส่วนใหญ่มะเร็งท่อน้ำดีในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามมากแล้วอาจมีอาการแสดงได้ เช่น
  • อาการตัวเหลืองตาเหลืองซึ่งเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำดี
  • มีอาการไม่สบายในท้อง อึดอัด แน่นท้อง
  • ปวดท้องส่วนบนบริเวณใต้ชายโครงขวา อาจมีอาการปวดหลังและไหล่ร่วมด้วย
  • มีไข้ ไม่ทราบสาเหตุ
  • คันบริเวณผิวหนังทั่วร่างกาย
  • อุจจาระมีสีซีดและปัสสาวะมีสีเข้ม
  • เหนื่อย อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • คลำหน้าท้องพบตับโต
การรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีแพทย์จะพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะโรคและการกระจายของมะเร็ง สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เพื่อวางแผนการรักษาที่ดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย 
  • การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักของโรคมะเร็งท่อน้ำดี
    • การผ่าตัดเนื้องอก เป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่ได้ผลดีและเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยได้
    • การผ่าตัดระบายท่อน้ำดี ในผู้ป่วยที่คาดว่าสามารถผ่าตัดเนื้องอกได้แต่ในขณะที่ผ่าตัดพบว่าระยะโรคไม่สามารถผ่าตัดออกได้ ควรได้รับการผ่าตัดระบายท่อน้ำดีเพื่อรักษาอาการคันและตัวเหลืองตาเหลือง
  • การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography: ERCP) ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเนื้องอกออกได้หรือผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้
  • เคมีบำบัด/รังสีรักษา ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเอามะเร็งออกได้หมด หรือใช้ในการรักษาหลังผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสการหายขาด
ผู้ป่วยควรได้รับการติดตามผลการรักษาโดยวิธีสังเกตอาการและตรวจอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทุก 3-6 เดือนจนครบ 2 ปี

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.40 of 10, จากจำนวนคนโหวต 204 คน

Related Health Blogs