bih.button.backtotop.text

อุจจาระร่วงเฉียบพลัน

อุจจาระร่วงเฉียบพลัน เป็นภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง หรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งหรือมากกว่า โดยอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและเป็นอยู่ไม่นานเกิน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติอุจจาระร่วงเป็นๆ หายๆ มาก่อนหน้านี้

อาการ
โรคอุจจาระร่วงสามารถแบ่งตามอาการเด่นได้ ดังนี้
  • อาการอุจจาระร่วงเป็นอาการเด่น คือ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการอุจจาระร่วงก่อน ซึ่งเป็นรุนแรงหรือเด่นชัดกว่าอาการอื่น ต่อมาจึงตามด้วยอาการอื่น เช่น อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ โดยสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้ ดังนี้
    • ถ่ายเหลวหรือเป็นน้ำ ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก อาจเป็นสีขาวขุ่นคล้ายน้ำซาวข้าว
    • ถ่ายเป็นมูกเลือดปน
  • อาการอาเจียนเป็นอาการเด่น คือ ผู้ป่วยจะเริ่มต้นด้วยอาการอาเจียนก่อน ซึ่งมักเป็นค่อนข้างรุนแรง จากนั้นจึงตามด้วยอาการอุจจาระร่วง ซึ่งอาจเป็นไม่รุนแรงหรือไม่กี่ครั้งก็ได้
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต เนื่องจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วย เช่น อาการ ประวัติการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่ม วันเวลาที่เริ่มเป็น ระยะเวลาที่เป็น จำนวนครั้งที่ถ่าย ลักษณะอุจจาระ สี กลิ่น อาการอื่นๆ ที่มีร่วมด้วย (เช่น ไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน) เป็นต้น

นอกเหนือจากนี้ แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย เช่น ตรวจชีพจร ตรวจหน้าท้อง รวมถึงประเมินภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ โดยอาการที่บ่งบอกถึงภาวะขาดน้ำ เช่น ปากคอแห้ง กระหายน้ำ ผิวหนังแห้ง (หากดึงหนังขึ้นไปจะไม่คืนตัวทันที) หรือเมื่อกดเล็บแล้ว เล็บจะกลับมาเป็นสีชมพูอีกครั้งในเวลามากกว่า 2 วินาทีขึ้นไป (โดยปกติจะใช้เวลาภายใน 2 วินาที)

ในกรณีที่แพทย์สงสัยความผิดปกติอื่นๆ แพทย์อาจสั่งตรวจเพิ่มเติม
 
  1. การป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำ โดยการทดแทนด้วยสารน้ำ เนื่องจากร่างกายมีความจำเป็นที่ต้องรักษาระดับของเกลือแร่ โดยเฉพาะเกลือโซเดียมและโพแทสเซียมให้เพียงพอเพื่อรักษาระดับการเต้นของหัวใจ หากร่างกายสูญเสียความสมดุลของเกลือแร่และไม่สามารถทดแทนสารน้ำได้โดยการดื่มเกลือแร่ ภาวะการสูญเสียความสมดุลของเกลือแร่อาจส่งผลให้เกิดภาวะอันตรายได้ เช่น ชัก หมดสติ เป็นต้น
  2. การให้ยาปฏิชีวนะและยาต้านอุจจาระร่วง ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่พบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปอาจมีอัตราการเสียชีวิตและการเกิดโรคแทรกซ้อนสูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยสูงอายุมักมีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปอด โรคไต ร่วมด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอาจมีความเสี่ยงเรื่องการเสียสมดุลของเกลือแร่ซึ่งสามารถเกิดได้บ่อยกว่าผู้ป่วยทั่วไป
 
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดกฎทอง 10 ประการ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วง ดังนี้
  1. เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เช่น เลือกนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ผักผลไม้ควรล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ ให้สะอาดทั่วถึง
  2. ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงก่อนรับประทาน
  3. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ
  4. หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารที่ปรุงสุกไว้นานกว่า 4-5 ชั่วโมง ควรเก็บในตู้เย็น
  5. ก่อนจะนำอาหารมารับประทานควรอุ่นให้ร้อน
  6. ไม่นำอาหารที่ปรุงสุกแล้วมาปนกับอาหารดิบอีก เพราะอาหารที่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้
  7. ล้างมือให้สะอาด ไม่ว่าจะเป็นก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และโดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำ
  8. ดูแลความสะอาดของพื้นที่สำหรับเตรียมอาหาร ล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง
  9. เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ
  10. ใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร และควรระวังเป็นพิเศษในการใช้น้ำเพื่อเตรียมอาหารเด็กทารกได้
 
 

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์ศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษาโรคลำไส้ใหญ่ และทวารหนักครบวงจร

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs