bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดมดลูก

การผ่าตัดมดลูก คือ การผ่าตัดเอามดลูกออก บางรายการผ่าตัดมดลูกจะมีการผ่าตัดนำเอารังไข่ออกด้วย ซึ่งในผู้ที่ยังไม่หมดประจำเดือน จะส่งผลให้ผู้ป่วยหมดประจำเดือนทันทีและขาดฮอร์โมนเพศหญิงร่วมด้วย ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับฮอร์โมนเสริมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

จุดประสงค์/ประโยชน์ในการทำหัตถการ
เพื่อรักษาโรคทางนรีเวชที่พบได้บ่อย ได้แก่
 
  1. ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
  2. มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)
  3. เนื้องอกโพรงมดลูก (Adenomyosis)
  4. ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว (Endometrial hyperplasia)
  5. ภาวะมดลูกหย่อน (Prolapsed uterus and relate conditions)
การผ่าตัดมดลูกมี 4 วิธีหลักด้วยกัน ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีใดนั้น แพทย์จะพิจารณาจากสภาวะของผู้ป่วยและความร้ายแรงของโรคที่เป็น


การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด (Vaginal hysterectomy)
การผ่าตัดมดลูกโดยวิธีที่แพทย์เข้าถึงมดลูกผ่านทางช่องคลอดนี้ เป็นการผ่าตัดที่ผู้ป่วยมักเลือกเป็นลำดับแรกๆ เนื่องจาก
  1. ไม่ทิ้งรอยแผลเป็นหลังผ่าตัด แม้จะมีรอยเย็บด้านในเช่นเดียวกับการผ่าตัดวิธีอื่น แต่เนื่องจากไม่มีการเปิดหน้าท้อง จึงไม่มีแผลปรากฏให้เห็นบริเวณผิวหนังภายนอก
  2. ใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยกว่าวิธีการอื่นๆ
  3. เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
  4. มีโอกาสติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัดน้อยกว่า
  5. มีผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียงน้อยกว่า
การผ่าตัดมดลูกโดยใช้กล้องส่องช่องท้อง (Laparoscopic hysterectomy)
การผ่าตัดมดลูกโดยใช้กล้องส่องช่องท้องจะกระทำเมื่อไม่สามารถผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอดได้เนื่องด้วยข้อจำกัดบางประการในการผ่าตัด แพทย์จะเปิดแผลโดยการทำรอยเล็กๆ 3 รอย บริเวณสะดือ 1 รอย และบริเวณหน้าท้องส่วนล่างอีก 2 รอย และเนื่องจากรอยเปิดมีขนาดเล็กมาก กล่าวคือประมาณ 8-12 มิลลิเมตรเท่านั้น หากเกิดรอยแผลเป็นก็จะไม่เห็นชัดมากนัก อาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดจะน้อยกว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบปกติ
 
การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบปกติ (Abdominal hysterectomy)
การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบปกติจะกระทำเมื่อจำเป็นเท่านั้น เนื่องจากต้องเปิดแผลกว้างถึง 15 เซนติเมตร แม้จะเป็นหัตถการที่มีความปลอดภัยแต่ต้องอาศัยเวลาในการพักฟื้นนานและมีโอกาสเกิดแผลเป็นสูง ดังนั้นในโรงพยาบาลที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสภาวะของผู้ป่วยเอื้ออำนวย การผ่าตัดมดลูกโดยวิธีการอื่นๆ จะเป็นที่นิยมมากกว่า
 
การผ่าตัดมดลูกโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด (Robotic-assisted hysterectomy)
เป็นการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด ลักษณะคล้ายกับการผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง

 
วิธีการรักษาอื่นๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย
  1. อาการเลือดออกอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาคุมกำเนิดหรือยาชนิดอื่นๆ เพื่อควบคุมอาการดังกล่าว
  2. อาการเลือดออกผิดปกติ การขูดมดลูกอาจช่วยได้ในเรื่องของปัญหาการมีประจำเดือนมากผิดปกติ และจะสามารถควบคุมอาการเลือดออกได้ถึงร้อยละ 70-80 อย่างไรก็ตามอาจก่อให้เกิดปัญหาการมีบุตรยากตามมา และอาจส่งผลในระยะยาวด้วยเช่นกัน
  3. เนื้องอกมดลูก ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเพื่อลดขนาดของก้อนเนื้อได้ แต่ผลข้างเคียงคือประจำเดือนจะไม่มา และก้อนเนื้อจะก่อตัวขึ้นอีกหลังหยุดรับประทานยา
  4. การผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก ถือเป็นการผ่าตัดใหญ่และหนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีการก่อตัวของก้อนเนื้ออีกครั้งภายใน 5 ปี
  5. อาการปวดเรื้อรัง สามารถรักษาได้โดยวิธี
  • รับประทานยาแก้อักเสบ
  • รับประทานยาคุมกำเนิด
  • กายภาพบำบัด
  • เข้ารับการปรึกษาด้านจิตวิทยา

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์สูติ-นรีเวช

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.58 of 10, จากจำนวนคนโหวต 119 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง