bih.button.backtotop.text

การฝังรากฟันเทียม

การวางแผนการรักษาที่ดีและครอบคลุมในขั้นแรกได้จากภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์และแบบจำลองฟัน ซึ่งเป็นตัวช่วยในการประเมินปริมาณกระดูกในแง่ของความกว้างและลึก เพื่อที่จะสามารถวางแผนสำหรับเลือกขนาดของรากฟันเทียมที่เหมาะสมได้

ในกรณีที่มีการสูญเสียฟันไปเป็นระยะเวลานาน ควรทำการปรึกษาทันตแพทย์ว่าจะทำการใส่รากเทียมได้หรือไม่ ทั้งนี้ทันตแพทย์อาจต้องส่งผู้ป่วยไปเอกซเรย์พิเศษเพิ่มเติม (computed tomography (CT) Scan) เพื่อตรวจดูความหนาของกระดูกโดยรอบ และนำผลภาพรังสีมาวางแผนในการใส่รากเทียมว่ามีกระดูกเพียงพอหรือไม่ หากไม่เพียงพอ จะต้องทำการปลูกกระดูกซึ่งสามารถทำก่อนใส่รากเทียมหรือทำพร้อมๆ กับการใส่รากเทียม ขึ้นอยู่กับปริมาณของกระดูกที่เหลืออยู่

ข้อดีของรากเทียมมีอะไรบ้าง
ข้อดีของรากเทียมคือมีลักษณะคล้ายฟันธรรมชาติมาก ไม่ต้องอาศัยฟันข้างเคียงเป็นหลักยึด ต่างกับการทำสะพานฟันซึ่งต้องมีการกรอฟันข้างเคียงเพื่อใช้เป็นหลักยึด มีการสูญเสียเนื้อฟันข้างเคียง และในกรณีที่ตำแหน่งฟันที่สูญเสียไปเป็นฟันซี่หลังสุดนั้นจะไม่สามารถทำฟันเทียมแบบติดแน่นได้และต้องทำฟันเทียมแบบถอดได้เท่านั้น ซึ่งมักก่อให้เกิดความรำคาญ เพราะจะมีการหลุดหลวมโดยเฉพาะถ้ากระดูกบริเวณนั้นบาง การใช้รากเทียมทดแทนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหาร ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและก่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น
 
หลังจากมีการสูญเสียฟันธรรมชาติไปจะมีการละลายตัวของกระดูกบริเวณนั้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งปล่อยให้เวลาผ่านไปนานก็ยิ่งมีการสูญเสียกระดูกเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งความหนาของกระดูกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออัตราความสำเร็จของการทำรากเทียม รากเทียมที่ประสบผลสำเร็จนั้นต้องถูกฝังอยู่ในกระดูกที่มีความหนาเพียงพอ ดังนั้นหลังจากมีการสูญเสียฟันไปแล้วไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจและวางแผนการรักษาหากต้องการใส่รากเทียมเพื่อที่ทันตแพทย์จะได้วางแผนการใส่รากเทียมในระยะเวลาที่เหมาะสม

ขั้นตอนการใส่รากเทียมแบ่งเป็น 2 ช่วง

  • ช่วงแรก เป็นการผ่าตัดฝังรากเทียมลงในกระดูกขากรรไกร รอให้แผลหายและมีการสร้างกระดูกมาล้อมรากฟันเทียม มักใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพกระดูกของผู้ป่วย
  • ช่วงที่สอง ทำการต่อแกนฟันและครอบฟันเข้ากับรากเทียม เกิดเป็นฟันเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
การทำรากฟันเทียมเป็นกระบวนการทางศัลยกรรมที่ทำภายใต้ภาวะปลอดเชื้อ ใช้เวลาประมาณ 45-90 นาที โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ จึงไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด ในการทำรากฟันเทียมที่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้น เช่น ในกรณีที่มีการเติมปริมาณกระดูก อาจพิจารณาใช้การดมยาสลบสำหรับคนที่กลัวการทำฟันมากๆ ได้ โดยต้องอาศัยบุคลากรที่ชำนาญการโดยเฉพาะเมื่อเหงือกและเนื้อเยื่อหมดความรู้สึก (ชา) ทันตแพทย์จะเปิดเหงือกออกอย่างระมัดระวัง แล้วกรอกระดูกจนมีขนาดพอเหมาะกับรากฟันเทียมที่เลือกไว้ แล้วใส่รากฟันเทียม (เฉพาะในส่วนของราก) ลงไป จากนั้นเย็บปิดเหงือกด้านบนเอาไว้ รอเวลาให้แผลหาย โดยในระหว่างนี้อาจมีฟันเทียมให้ใช้งานไปก่อนได้ แล้วแต่กรณี

ระยะเวลาการหายของแผลรากฟันเทียมก่อนใส่ครอบหรือฟันเทียมลงไปบนนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของกระดูกที่ฝังรากเทียมนั้นๆ เอง รวมทั้งความยาวและเส้นผ่านศูนย์กลางของรากฟันเทียมที่ใช้ฝังด้วย ในรายปกติทั่วไปที่กระดูกดีและเหมาะสม หากฝังรากฟันเทียมเพียง 2-3 รากก็อาจใส่ฟันเทียมลงไปได้เลย แต่ยังรับแรงไม่ได้ เพราะรากฟันเทียมยังไม่แน่นดีนัก เสี่ยงต่อการหลุดได้ หากฝังจำนวนมากกว่านั้นหรือกรณีกระดูกไม่ดีนักคงต้องรอประมาณ 6-12 สัปดาห์จนกว่ารากฟันเทียมจะแน่นพอแล้วใส่ฟันให้รับแรงเคี้ยวได้ หากมีการเติมกระดูกจะต้องรอนานขึ้น อาจนานถึง 6 เดือนได้

ฟันเทียมชนิดติดแน่นหรือถอดได้สำหรับใช้ชั่วคราวระหว่างรอแผลรากฟันเทียมหายก็สามารถใส่ได้ช่วงนี้ ผู้ป่วยจะได้มีฟันในปากตลอดเวลาแม้หลังทำรากฟันเทียมไปแล้ว
อายุการใช้งานโดยเฉลี่ยแล้วมากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยจากการวิจัย รากฟันเทียมที่ทำโดยทันตแพทย์เฉพาะทาง มักจะมีความสำเร็จที่สูงกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นคนไข้ก็ต้องดูแลทำความสะอาดให้ดี แปรงฟันใช้ไหมขัดฟันเหมือนฟันธรรมชาติปกติ และมาให้ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน ก็จะหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดกับรากฟันเทียมได้ 
ความสูงหรือความกว้างของกระดูกขากรรไกรจะลดลงจากปรากฏการณ์ละลายของกระดูกตามธรรมชาติ กรณีเช่นนี้จำเป็นต้องมีการเติมกระดูก ซึ่งอาจทำก่อนหรือขณะที่ทำการฝังรากฟันเทียมก็ได้ วัสดุที่ดีที่สุดสำหรับการเติมกระดูกคือ กระดูกของตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งสามารถเอามาจากกระดูกขากรรไกรล่างของตัวผู้ป่วยนั่นเอง ในกรณีที่ต้องการกระดูกในปริมาณมากจะต้องใช้จากแหล่งภายนอกช่องปาก เช่น จากกระดูกสะโพก เป็นต้น การปลูกกระดูกในกรณีเช่นนี้จะใช้กระดูกเป็นชิ้นแล้วยึดติดที่บริเวณที่ต้องการเติมด้วยสกรูไทเทเนียม หรืออาจบดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาไว้บริเวณที่ต้องการเติม แล้วคลุมไว้ด้วยแผ่นเมมเบรนบางๆ ทิ้งไว้ประมาณ 6 เดือน กระดูกที่เติมลงไปจะเชื่อมติดกับกระดูกที่บริเวณนั้น จากนั้นก็ทำการฝังรากฟันเทียมได้

สำหรับร่องรอยที่กระดูกไม่เพียงพอเพียงเล็กน้อยนั้น สามารถใช้กระดูกสังเคราะห์ มาเติมได้ภายใน 6-12 เดือน กระดูกสังเคราะห์และกระดูกจริงในบริเวณนั้นจะเชื่อมติดกันได้ ข้อดีของวิธีนี้คือ ไม่ต้องเอากระดูกมาจากแหล่งอื่นๆ ในตัวผู้ป่วยเองแต่อย่างใด
“Sinus Lift” คือ การยกระดับพื้นของโพรงอากาศเหนือขากรรไกรบน เป็นการเติมกระดูกชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วบริเวณปลายรากของฟันกรามบนมีโพรงอากาศขนาดใหญ่อยู่ ซึ่งจะมีปริมาณกระดูกน้อย ทำให้การฝังรากฟันเทียมเป็นไปได้ยาก การยกระดับพื้นของโพรงอากาศสามารถช่วยให้มีกระดูกมากพอฝังรากฟันเทียมได้ โดยกระบวนการผ่าตัดจากภายในช่องปากจะเห็นพื้นของโพรงอากาศ จากนั้นยกมันขึ้นไป แล้วเติมบริเวณช่องว่างที่เกิดจากการยกพื้นโพรงอากาศขึ้นไปแล้วด้วยเศษกระดูกหรือกระดูกสังเคราะห์ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่กระดูกที่มีอยู่มีความสูงพอจะฝังรากฟันเทียมได้ ก็สามารถฝังไปพร้อมกับการเติมกระดูกหลังจากยกพื้นโพรงอากาศไปแล้วได้ในครั้งเดียวกัน แต่ถ้าปริมาณกระดูกไม่เพียงพอที่จะพยุงรากฟันเทียมเอาไว้ได้เลย ก็ต้องเติมกระดูกเสียก่อน รอจนกระดูกที่เติมลงไปเชื่อมติดกับกระดูกเดิม แล้วค่อยฝังรากฟันเทียมอีกครั้งหนึ่ง โดยทิ้งระยะเวลาไว้ประมาณ 6 เดือน
 
รากฟันเทียมที่รับแรงในทันทีนั้นก็คือการต่อตัวฟันเข้ากับรากฟันเทียมที่เพิ่งฝังลงไปในกระดูก รากฟันเทียมชนิดนี้ช่วยลดเวลาให้ผู้ป่วยและช่วยให้รู้สึกสบายได้เร็วขึ้นเพราะมีฟันใช้ อย่างไรก็ตามในคนไข้แต่ละคนมีความแตกต่างกัน การพิจารณาใช้ข้อดีของรากฟันเทียมชนิดนี้ในแต่ละคน จะต้องชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกับความเสี่ยงอื่นๆ ด้วย ที่สำคัญทันตแพทย์เฉพาะทางด้านรากเทียมจำเป็นต้องมีประสบการณ์สูงที่จะทำการรักษาชนิดนี้ และจะเลือกทำก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีข้อดีมากกว่าและไม่มีเสี่ยงใดๆ อย่างชัดเจน
การผ่าตัดฝังรากฟันเทียมจะใช้ยาชาเฉพาะที่ ซึ่งทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด หากท่านต้องการยาสงบประสาทหรือการดมยาสลบก็สามารถใช้ได้เช่นกัน หลังจากการฝังรากฟันเทียมแล้วอาจมีเจ็บแผลบ้างเล็กน้อย ซึ่งจะหายได้เองในไม่กี่วันหลังจากนั้น ยาแก้ปวดสามารถช่วยให้หายได้ บางทีอาจมีการบวมเกิดขึ้นได้บ้าง โดยทั่วไปแล้วอาจบวมได้นานประมาณ 3-4 วัน และในบางกรณีอาจพบเห็นรอยฟกช้ำได้เช่นกัน แต่ก็จะหายเป็นปกติได้โดยเร็ว
 
แม้จะมีการวางแผนการรักษาและดำเนินการอย่างระมัดระวังเป็นอย่างดีแค่ไหน ผลการรักษาที่ล้มเหลวก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การสูญเสียรากฟันเทียมหรือกระดูกที่เติมลงไปจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจเพราะรับแรงมากเกินไป และอาจพบผลต่อเส้นประสาทรับความรู้สึกหรือฟันข้างเคียงอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก
ผลจากการศึกษาวิจัยเป็นระยะเวลานานพบว่า โลหะไทเทเนียมที่ใช้ทำรากเทียมเป็นวัสดุที่ทำให้กระดูกในร่างกายยึดจับตัวโลหะได้แน่นหนาและมีความปลอดภัย ไม่มีการต่อต้านจากร่างกาย ทำให้รากเทียมกลายเป็นทางเลือกใหม่ของการใส่ฟันและมีผลสำเร็จสูงกว่าร้อยละ 90
 
โดยปกติแล้วการฝังรากฟันจะอยู่ได้นาหลายปี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรากฟัน การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นอย่างดี และการไปพบทันตแพทย์ตามกำหนด
 
การดูแลรากฟันเทียมทำได้โดยการแปรงฟันและทำความสะอาดหลังรับประทานอาหารเสมือนฟันธรรมชาติ ควบคู่กับการใช้ไหมขัดฟัน และเข้ารับการตรวจสุขภาพเหงือกและฟันเป็นระยะอย่างน้อยทุก 6 เดือน มีการศึกษาถึงความคงทนของรากฟันเทียมมานานถึง 30 ปีแล้ว ผลปรากฏว่า หากมีสุขภาพช่องปากและการดูแลที่ดี มีการตรวจสุขภาพปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ รากฟันเทียมจะสามารถอยู่คงทนได้ตลอดชีวิต
 
ในปัจจุบันมีรากฟันเทียมผลิตออกมาจากหลายบริษัท แต่มีเพียงไม่กี่ยี่ห้อที่มีการศึกษาในระยะยาวเกี่ยวกับรากเทียมของบริษัทนั้นๆ ทางบำรุงราษฎร์ เลือกใช้รากฟันเทียมที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง และมีบริการหลังการขายที่ดี มีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไว้พร้อมสำหรับเรียกใช้ยามฉุกเฉิน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากเมื่อผ่านไปแล้วหลายสิบปี หากจำเป็นต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไรบางอย่างก็สามารถทำได้
  • การทำฟันเทียมแบบถอดได้
  • การทำสะพานฟันบนฟันธรรมชาติ
ผู้ที่เหมาะสมเข้ารับการทำรากฟันเทียมควรมีอายุ 21 ปีขึ้นไปและมีสุขภาพแข็งแรง หากมีโรคประจำตัวหรือได้รับยาอยู่ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ ส่วนในเด็กที่ยังมีการเจริญเติบโตของขากรรไกรอยู่ต้องรอให้การเจริญเติบโตหยุดก่อน จึงจะทำการใส่รากฟันเทียมได้
 
การเตรียมตัวสำหรับการฝังรากต้องมีสุขภาพเหงือกที่แข็งแรงและมีกระดูกมากเพียงพอที่จะรองรับรากฟัน และต้องยอมรับที่จะรักษาสุขภาพของเหงือกและกระดูกให้สมบูรณ์ การดูแลความสะอาดของช่องปาก และไปพบทันตแพทย์ตามระยะเวลาที่กำหนดจะทำให้การฝังรากฟันมีอายุการใช้งานได้นานยิ่งขึ้น
การใช้รากเทียมทดแทนฟันที่สูญเสียไปได้หลายกรณี ตั้งแต่การสูญเสียฟันซี่เดียวจนถึงการสูญเสียฟันทั้งปาก โดยนำรากเทียมมาช่วยในการยึดติดกับฟันเทียมถอดได้เพื่อให้ฟันเทียมถอดได้นั้นแน่นขึ้น ลดปัญหาการหลวมหลุดของฟันเทียม
  • ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวลดลง
  • ฟันคู่สบอาจเคลื่อนที่จากตำแหน่งเดิม และส่งผลต่อการบดเคี้ยว
  • โครงหน้าเปลี่ยนแปลงไปจากการสูญเสียฟัน
  • กระดูกขากรรไกรละลาย
  • การสบฟันผิดปกติ

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ทันตกรรม

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs