รอยยิ้มที่สร้างได้ ในการรักษาเด็กปากแหว่งเพดานโหว่
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่คือความพิการของใบหน้าที่เกิดกับทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการใช้ชีวิตของเด็กตั้งแต่แรกเกิด ไม่ว่าจะเป็นการกิน การพูดหรือความมั่นใจในตนเองเมื่อเติบโตขึ้น ในปัจจุบันการตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ 3 มิติหรือ 4 มิติ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และเริ่มวางแผนการรักษาได้ตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา
สาเหตุของภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
- พันธุกรรม ครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่
- สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่นภาวะการติดเชื้อ การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การขาดวิตามินและสารอาหาร ผลข้างเคียงของยาและสารเคมีบางอย่าง
ขั้นตอนการรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มีอะไรบ้าง
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ยิ่งรักษาเร็วและมีความต่อเนื่องยิ่งดี ดังนั้นเด็กควรได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่นตอนปลาย การรักษาในแต่ละช่วงวัยจะมีความแตกต่างกันออกไป เป็นการแก้ไขความผิดปกติที่อาจพบได้ในหลายอวัยวะ เช่น จมูก ริมฝีปาก เพดานปาก สันเหงือกไปจนถึงการพูดและการได้ยิน ดังนั้นจึงต้องใช้ทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางหลายด้านร่วมกันรักษาอย่างต่อเนื่อง
ระยะตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุสามเดือน
หากทารกมีภาวะเพดานโหว่ร่วมด้วยจะทำให้ดูดนมได้ยากลำบาก ดังนั้นทันตแพทย์จะทำเพดานเทียม (Obturator) เพื่อช่วยในการดูดนม นอกจากนี้ในเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มักจะมีจมูกค่อนข้างบี้ในข้างที่ปากแหว่ง ทันตแพทย์สามารถทำเครื่องมือปรับจมูกและ/หรือสันเหงือกที่เรียกว่า NAM (Naso Alveolar Molding) เพื่อช่วยปรับตำแหน่งริมฝีปากสันเหงือกและจัดรูปทรงจมูกร่วมกับการคาดปาก (Lip strapping) เพื่อดึงให้ริมฝีปากมาชิดกันมากขึ้นและกดสันเหงือกซึ่งยื่นออกมาผิดปกติให้เข้ามาได้
ระยะตั้งแต่อายุ 3-6 เดือนหรือมีน้ำหนักประมาณห้ากิโลกรัมขึ้นไป
ศัลยแพทย์ตกแต่งจะผ่าตัดเพื่อปิดรอยแยกที่ริมฝีปาก เพื่อลดความกว้างของรอยแยก ทำให้ริมฝีปากและสันเหงือกอยู่ในตำแหน่งที่ปกติมากที่สุด จมูกที่ได้รับการปรับโดยการใส่เครื่องมือ NAM อาจกลับมาบี้ได้เล็กน้อย ดังนั้นหลังการผ่าตัด แพทย์อาจใส่ที่ดันจมูก (Nasal stent) เพื่อปรับรูปทรงจมูกให้ใกล้เคียงเด็กปกติ
ระยะตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไปจนถึง 1 ขวบ
เป็นช่วงที่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้น ทันตแพทย์จะเริ่มสอนพ่อแม่ถึงวิธีการทำความสะอาดฟันน้ำนมของลูกและแนะนำให้เย็บปิดเพดานปากก่อนเด็กเริ่มพูด เพื่อให้พูดได้ชัดและไม่สำลักนมหรืออาหารเข้าจมูก แต่ถึงแม้จะเย็บปิดเพดานปากแล้ว อาจจะมีรอยแยก (Fistula) ทำให้เด็กพูดไม่ชัด ควรได้รับการแก้ไขด้วยการฝึกพูดกับนักอรรถบำบัด (Speech therapist) รวมถึงพบแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เพื่อประเมินการได้ยินของเด็ก
ระยะอายุ 8-9 ขวบ
ฟันแท้ของเด็กจะเริ่มขึ้นตอนอายุประมาณ 6 ขวบ เมื่อเด็กมีอายุ 8-9 ขวบ เด็กจะมีฟันชุดผสมคือมีฟันแท้และฟันน้ำนมอยู่ด้วย ในช่วงนี้ เด็กส่วนใหญ่ที่มีเพดานโหว่ จะมีการสบฟันผิดปกติแบบฟันหน้าล่างครอบฟันบนหน้าบน ฟันหน้าบิด เก หายไปหรือมีรูปร่างผิดปกติ ทันตแพทย์จะใส่เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้ (Active plate with screw) เพื่อขยายขากรรไกรบน แก้ไขความผิดปกติของการสบฟันและจัดเรียงฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ช่วย ลดโอกาสที่จะต้องผ่าตัดเมื่อโตขึ้น หลังการจัดฟัน ในกรณีที่เด็กมีช่องโหว่บริเวณสันเหงือก ศัลยแพทย์ตกแต่งจะทำศัลยกรรมปลูกถ่ายกระดูก (Bone graft) โดยนำกระดูกเชิงกรานของเด็กมาปลูกบริเวณสันเหงือก แล้วจึงจัดฟันต่อ
ระยะอายุ 12 ปีขึ้นไป
เป็นระยะที่เด็กเริ่มมีฟันแท้ครบ ทันตแพทย์จะใช้วิธีการจัดฟันชนิดติดแน่นหรือการจัดฟันใส (Invisalign) ทั้งฟันบนและฟันล่าง หากเด็กมีฟันหายบางซี่ ทันตแพทย์อาจจะจัดฟันเพื่อปิดช่องว่าง หรือจัดฟันร่วมกับการใส่ฟันปลอม
ระยะอายุ 18-20 ปี
เมื่อการเติบโตของขากรรไกรใกล้จะหยุด เด็กที่มีความผิดปกติของการสบฟันร่วมกับความผิดปกติของขากรรไกรที่รุนแรง จะต้องรักษาด้วยการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรเพื่อเลื่อนขากรรไกรบนมาด้านหน้าหรือผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรล่างไปทางด้านหลังหรือทั้งสองอย่าง หลังการผ่าตัดเด็กจะได้รับการจัดฟันต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อการสบฟันที่ดี นอกจากนี้ หากเด็กต้องการแก้ไขจมูกที่ฟีบหรือทรงไม่สวย รวมถึงแก้ไขรอยแผลเป็นก็สามารถทำได้ในช่วงนี้
ป้องกันภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้อย่างไร
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ถึงแม้ไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่สามารถลดความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดภาวะนี้ได้ ดังนี้
- รับประทานกรดโฟลิก (Folic acid) ในปริมาณที่แพทย์แนะนำ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาใดๆระหว่างตั้งครรภ์
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอและรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- หากมีประวัติครอบครัวเป็นภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม
หากตรวจพบว่าทารกในครรภ์มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางเพื่อวางแผนการดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ศูนย์ทันตกรรมโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีทีมทันตแพทย์ผู้ชำนาญด้านการรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับ แพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กุมารแพทย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง แพทย์หูคอจมูก นักอรรถบำบัดรวมถึงจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องในทุกระยะอย่างปลอดภัยและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เรียบเรียงโดย ทพญ. ปิยะธิดา จิตตานันท์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 16 กรกฎาคม 2568