การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยอาศัยหลักการทำงานของภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้ทำการกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกจากร่างกาย เป็นการส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพื่อให้สามารถกำจัด หรือควบคุมเซลล์มะเร็งในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภูมิคุ้มกันบำบัดประเภทต่างๆ กับการรักษามะเร็ง
ภูมิคุ้มกันบำบัดที่นำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ตามกลไกการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน ดังนี้
- โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies) เป็นโปรตีนสังเคราะห์เลียนแบบสารภูมิต้านทานที่เป็นโปรตีนของระบบคุ้มกันของร่างกาย ในการรักษามะเร็ง แอนติบอดีจะได้รับการพัฒนาให้มีความจำเพาะและออกฤทธิ์ต่อมะเร็งชนิดนั้นๆ
- ยับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ (Immune Checkpoint Inhibitors) มีกลไกทำงานโดยยับยั้งระบบควบคุมและสั่งการให้มีการทำลายเซลล์แปลกปลอมหรือหยุดการทำลายเซลล์ของร่างกาย (Immune Checkpoint) เพราะบางกรณีเซลล์มะเร็งจะอาศัยระบบนี้ในการ “ซ่อนตัว” จากการถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ยากลุ่มนี้จึงได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันตรวจจับเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น
- วัคซีนโรคมะเร็ง (Cancer Vaccines) วัคซีนโรคมะเร็งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้โดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถทำลายเซลล์มะเร็ง หรือปกป้องร่างกายให้ปลอดจากมะเร็งได้ อาทิ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
- ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบไม่จำเพาะ (Non-specific Immunotherapies) ภูมิคุ้มกันบำบัดประเภทนี้ไม่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อมะเร็งโดยตรง แต่เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยทั่วไป เพื่อให้ตอบสนองต่อเซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภูมิคุ้มกันบำบัดใช้ในการรักษามะเร็งชนิดใด
การศึกษาวิจัยในเรื่องของภูมิคุ้มกันบำบัดกับโรคมะเร็งยังคงดำเนินต่อไปอย่างกว้างขวาง ยาหลายชนิดที่มีกลไกการทำงานโดยอาศัยภูมิคุ้มกันบำบัดได้รับการอนุญาตให้ใช้แล้วในสหรัฐอเมริกา โดยใช้เป็นการรักษาหลัก หรือการรักษาเสริมร่วมกับวิธีการรักษามาตรฐานอย่าง เคมีบำบัด การฉายรังสี หรือการผ่าตัด
ปัจจุบันมีการนำวิธีทางภูมิคุ้มกันบำบัดมาใช้รักษาโรคมะเร็ง ดังต่อไปนี้
- มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะลุกลาม
- มะเร็งปอดบางชนิด
- มะเร็งไตที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น
- มะเร็งศีรษะและลำคอที่ดื้อต่อเคมีบำบัด
- มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะที่ดื้อต่อเคมีบำบัด
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ภูมิคุ้มกันบำบัดมีผลข้างเคียงอย่างไร
แม้การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดจะสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย แต่ผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ก็ยังอาจพบได้ เช่น มีไข้ ท้องเสีย คลื่นไส้ มีแผลในช่องปาก เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันเอง และโดยทั่วไปอาการดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งโดยหลักการภูมิคุ้มกันบำบัดยังมีความใหม่อยู่มากและมีความจำเพาะเจาะจงสูง ผู้ป่วยจึงต้องเข้ารับคำปรึกษาและตรวจร่างกายอย่างละเอียดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นกรณีไป
ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นวิทยาการที่ก้าวหน้าในการรักษามะเร็งซึ่งยกระดับการรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการพยากรณ์โรคที่ดีขึ้น และมีระยะเวลาปลอดโรคยาวนานขึ้น นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยในการต่อสู้กับมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม
การติดตามผลการรักษา
ผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
สถานที่ตั้ง
ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน
อาคารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชั้นล่าง ด้านใต้
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 33 สุขุมวิท ซอย 3 เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110 ประเทศไทย
ติดต่อสอบถามและทำการนัดหมายแพทย์
โทรสาร: 02 011 5100