นอนกรน อาจเป็นสัญญาณของต่อมอะดีนอยด์โตในเด็ก
ภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นในเด็กเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุหลักของภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นในเด็กที่พบได้บ่อยมากขึ้นในยุคปัจจุบันคือ โรคภูมิแพ้ที่ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจบวมจนตีบแคบ หายใจลำบากและต่อมทอนซิลกับต่อมอะดีนอยด์โต เนื่องจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นกว่าเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เช่น ฝุ่น p.m. 2.5 และควันบุหรี่ รวมถึงเชื้อโรคต่างๆที่พบมากขึ้น โดยเฉพาะเชื้อไวรัส เมื่อเด็กไปโรงเรียน มีการเล่นกัน สัมผัสตัวกัน ทำให้ติดเชื้อเป็นหวัดได้ง่าย การที่เด็กเป็นหวัดติดเชื้อบ่อยๆ ทำให้ต่อมทอนซิลกับต่อมอะดีนอยด์โตได้ เนื่องจากต่อมเหล่านี้เป็นต่อมน้ำเหลือง มีหน้าที่ดักจับเชื้อโรค เมื่อดักจับเชื้อโรคแล้วต่อมจะมีขนาดโตขึ้น ถึงแม้ได้รับยาฆ่าเชื้อจนหายอักเสบแล้ว ต่อมก็ยังมีขนาดโตกว่าปกติอยู่ดี นอกจากนี้สาเหตุอื่นๆที่พบได้คือ ภาวะโรคอ้วน ที่ทำให้มีไข้มันสะสมบริเวณคอ ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบหรือสรีระของเด็กบางคนที่มีโพรงจมูกเล็กหรือโครงกระดูกผิดปกติ
อาการของภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นในเด็ก
เนื่องจากต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์อยู่ข้างหลังโพรงจมูกหรือข้างหลังคอ พอต่อมมีขนาดโตขึ้นก็จะไปเบียดทางเดินหายใจ ทำให้เด็กหายใจลำบาก เห็นได้ชัดในช่วงนอนหลับ ทำให้มีอาการดังนี้
- นอนหายใจเสียงดัง
- นอนกรน
- นอนอ้าปากหายใจ
- หากเป็นมาก เด็กจะหยุดหายใจเป็นช่วงๆ
การหยุดหายใจขณะหลับทำให้ร่างกายขาดก๊าซออกซิเจน มีผลต่อการทำงานของสมองและพัฒนาการ ทำให้เด็กไม่มีสมาธิในการเรียนและอาจมีพฤติกรรมซุกซน ก้าวร้าว นอกจากนี้ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตและความอยากอาหาร รวถึงทำให้หัวใจทำงานหนัก จนถึงขั้นภาวะหัวใจล้มเหลวได้ การหยุดหายใจขณะหลับยังทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นของเสียค้างอยู่ภายในร่างกาย ทำให้เด็กมีอาการปวดศีรษะในตอนเช้าได้
วินิจฉัยภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นในเด็กได้อย่างไร
แพทย์จะซักประวัติอย่างละเอียดเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง เช่น ประวัติโรคภูมิแพ้ เป็นหวัดสภาพแวดล้อมต่างๆและความรุนแรงของอาการ รวมถึงตรวจทางเดินหายใจด้วยการส่องกล้องเข้าไปตรวจหรือการทำเอกซเรย์บริเวณลำคอด้านข้างเพื่อดูขนาดของต่อมอะดีนอยด์ ทำให้แพทย์เห็นชัดเจนว่าต่อมมีขนาดโตและเบียดทางเดินหายใจมากน้อยแค่ไหน ในกรณีที่เด็กมีอาการรุนแรงหรือสงสัยว่าหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจคุณภาพการนอนหลับ (sleet test) เพิ่มเติม
รักษาภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นในเด็กได้ด้วยวิธีใดบ้าง
การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากมีความรุนแรงมาก เช่น หยุดหายใจขณะหลับอย่างชัดเจนจนหน้าเขียวปากเขียว เป็นมากจนนอนไม่ได้ หากหลับเมื่อไหร่ หยุดหายใจเมื่อนั้น บางคนหัวใจเต้นผิดปกติมาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางด้านหู คอ จมูก แต่เด็กส่วนใหญ่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มักมีอาการไม่มาก แพทย์จะเน้นไปที่การรักษาโรคภูมิแพ้ ดังนี้
- การใช้ยา เช่น ยารับประทานหรือยาพ่นเข้าไปในจมูก เป็นการพ่นยาเข้าไปที่ตัวต่อมอะดีนอยด์โดยตรงซึ่งต้องใช้การรักษาระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์จะอธิบายความจำเป็นในการใช้ยา ชนิดของยา วิธีการใช้ยาอย่างละเอียด รวมถึงระยะเวลาในการใช้ยาที่เหมาะสม และแนะนำการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อชะล้างฝุ่นละออง เชื้อโรคออกมา ซึ่งสามารถทำๆได้ทุกวันแม้ไม่มีอาการ
- การปรับสภาพแวดล้อม การรักษาภูมิแพ้ให้ได้ผลนั้นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมร่วมกับการใช้ยา เช่น คนในบ้านเลิกสูบบุหรี่ ลดหรือกำจัดสิ่งที่สะสมฝุ่น เช่น ตุ๊กตาและพรม ใช้เครื่องนอนกันไรฝุ่น ใช้เครื่องฟอกอากาศและล้างเครื่องปรับอากาศบ่อยๆ
- หากมีการอักเสบ ติดเชื้อของต่อมอะดีนอยด์ แพทย์อาจมีการให้ยาแก้อักเสบร่วมด้วย
แพทย์จะนัดติดตามผลหลังจากรักษาได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เด็กส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องตรวจคุณภาพการนอนหลับ (sleep test) และรักษาด้วยการผ่าตัด
ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีทีมกุมารแพทย์ผู้ชำนาญด้านโรคเด็กอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การวินิจฉัยและการรักษา ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการดูแลรักษาแบบองค์รวมเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เรียบเรียงโดย นพ. กัลย์ กาลวันตวานิช
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: