bih.button.backtotop.text

ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กับการบำบัดทดแทนไต

ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กับการบำบัดทดแทนไต infographic ดูแลรักษา

การบำบัดทดแทนไต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


ไตวายเรื้อรัง เป็นภาวะที่ไตค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการทำงานลงจนกระทั่งเสื่อมสภาพและไม่สามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติอีก ทางการแพทย์แบ่งภาวะไตวายออกเป็น 5 ระยะ ตามค่าการทำงานของไตหรือ GFR (Glomerular Filtration Rate)

โดยระยะที่ 1 ค่า GFR มากกว่าหรือเท่ากับ 90 ขณะที่ระยะที่ 5 ซึ่งเป็นระยะที่เรียกว่าไตวายระยะสุดท้ายนั้น ผู้ป่วยจะมีค่า GFR เหลือเพียงไม่ถึง 15

อาการของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะมีอาการ
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ซีด คัน บวมตามร่างกาย
  • อึดอัด หอบ เหนื่อย
  • นอนราบไม่ได้ เนื่องจากร่างกายมีของเสียคั่งค้าง
  • เกิดการเสียสมดุลของน้ำ เกลือแร่ กรดด่าง และฮอร์โมนของร่างกาย
เป็นระยะที่ผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยืดชีวิตให้ยาวนานขึ้น
 

การบำบัดทดแทนไตนั้นทำได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ

  1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis)
เป็นการนำของเสียและน้ำออกจากเลือด โดยเลือดจะออกจากตัวผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำแล้วผ่านตัวกรองเพื่อกำจัดของเสีย ปรับสมดุลเกลือแร่และกรดด่างเพื่อให้กลายเป็นเลือดดีก่อนที่เครื่องไตเทียมจะนำเลือดนั้นกลับสู่ร่างกาย ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดเตรียมหลอดเลือดเพื่อใช้ในการฟอกเลือดก่อน และระหว่างการฟอกเลือด ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ เป็นตะคริวได้
  1. การล้างไตทางผนังช่องท้อง (peritoneal dialysis)
ป็นการใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้องผ่านทางสายที่ฝังไว้ในช่องท้องผู้ป่วยเพื่อกรองของเสียในร่างกายออก วิธีนี้จำเป็นต้องทำทุกวันอย่างน้อยวันละ 4-5 ครั้ง ใช้เวลาครั้งละประมาณ 30 นาที โดยต้องใส่น้ำยาทิ้งไว้ 4-6 ชั่วโมงเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนของเสียและน้ำด้วยการซึมผ่านเยื่อบุช่องท้อง จากนั้นจึงปล่อยน้ำยาออก การล้างไตด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดเป็นอย่างมากเพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
  1. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (kidney transplantation)
เป็นการผ่าตัดเอาไตของผู้อื่นมาใส่ไว้ในร่างกายผู้ป่วยเพื่อทดแทนไตเดิมที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว โดยไตใหม่นั้นอาจได้จากผู้บริจาคที่มีชีวิต (living donor) หรือจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต (deceased donor) ผ่านการรับบริจาคโดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
 
 
เรียบเรียงโดย ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs