bih.button.backtotop.text

“ซาร์โคมา” ตรวจไว รักษาไว เพิ่มโอกาสรอดชีวิต

03 กันยายน 2562
 มะเร็งซาร์โคมา” อาจเป็นชื่อแปลกหูสำหรับใครหลายๆ คน ทว่าแม้มะเร็งชนิดนี้จะหายาก แต่อัตราการเสียชีวิตกลับสูงลิบลิ่วเลยทีเดียวสถิติของสหรัฐฯ ระบุว่าจากผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 1.5 ล้านคนในแต่ละปี จะมีเพียง 12,750 คน เท่านั้น ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งซาร์โคมา ทว่าอัตราเสียชีวิตกลับสูงถึง 5,270 คนต่อปี ด้วยสาเหตุดังกล่าว เดือนกรกฎาคมของทุกปีจึงถูกกำหนดให้เป็นเดือนแห่งการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เรื่องโรคมะเร็งชนิดนี้

มะเร็งซาร์โคมา” คือชื่อรวมของมะเร็งที่เกิดขึ้นกับเซลล์ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ด้วยความที่เซลล์ที่ว่านี้สามารถพัฒนาไปเป็นได้ทั้งเซลล์กระดูก กระดูกอ่อน ไขมัน หลอดเลือด หรือเซลล์ต้นกำเนิดเลือด จึงทำให้มะเร็งซาร์โคมาสามารถแยกย่อยไปได้หลายชนิด แต่ก็แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ มะเร็งซาร์โคมาที่เกิดขึ้นกับกระดูก (bone sarcoma) และมะเร็งซาร์โคมาที่เกิดกับเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissue sarcoma)  

 

มะเร็งซาร์โคมาที่กระดูก

มะเร็งชนิดนี้เกิดขึ้นภายในกระดูกดังชื่อของมัน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดกระดูก ซึ่งจะรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืน และอาจมีอาการปวดบวมตามร่างกายร่วมด้วย     
 

มะเร็งซาร์โคมาที่เนื้อเยื่ออ่อน

ความหลากหลายของเนื้อเยื่ออ่อนในร่างกายมนุษย์ ทำให้มะเร็งซาร์โคมาชนิดนี้แยกย่อยไปได้กว่า 50 ชนิด ขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง ตั้งแต่กล้ามเนื้อ ไปจนถึงเซลล์ประสาท และเส้นเลือด ผู้ป่วยอาจพบตุ่มหรือก้อนแข็ง (จะรู้สึกเจ็บปวดหรือไม่ก็ได้) ตามร่างกาย หรืออาจไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย ยกเว้นในกรณีของมะเร็งซาร์โคมาในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดแน่นท้อง

รศ.นพ.ธีระ อ่ำสวัสดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาประจำโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “ซาร์โคมานั้น ก็เหมือนมะเร็งชนิดอื่นๆ ตรงที่หากตรวจพบเร็ว เราก็สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากตรวจพบในระยะแพร่กระจาย อัตรารอดชีวิตก็จะลดลงอย่างมากเช่นกัน”
 

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งซาร์โคมา

รศ.นพ.ธีระ อ่ำสวัสดิ์ เสริมว่า “การผ่าตัดถือเป็นวิธีการรักษาหลักเกือบทุกกรณี แต่เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้มีโอกาสแพร่กระจายสูงมาก การผ่าตัดจึงไม่อาจตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ต้องอาศัยเคมีบำบัดและ/หรือรังสีบำบัดร่วมด้วย ทว่าผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังไม่น่าพึงพอใจนัก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความหายากของมะเร็งซาร์โคมา ทำให้การวิจัยพัฒนายาเป็นไปได้ช้า” อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าทางวิทยาการแพทย์นำมาซึ่งความเข้าใจกลไกของเซลล์มะเร็งที่ลึกซึ้งขึ้น ปัจจุบัน เราสามารถออกแบบยาที่ออกฤทธิ์เจาะจงต่อเซลล์มะเร็งได้ ต่างกับเคมีบำบัดที่ใช้กันทั่วไปซึ่งจะฆ่าเซลล์ทุกชนิด นอกจากนี้ การที่เซลล์มะเร็งมีต้นกำเนิดจากร่างกายของผู้ป่วยเอง ยังทำให้เซลล์มะเร็งในร่างกายแต่ละคนแตกต่างกันแม้จะเกิดในอวัยวะเดียวกันก็ตาม และกระทั่งเซลล์มะเร็งในร่างกายผู้ป่วยคนเดียวกัน หากเกิดขึ้นคนละตำแหน่ง ก็ยังมีความแตกต่างเช่นกัน เนื่องจากความแตกต่างนี้ส่งผลต่อการตอบสนองในการรักษา ข้อมูลจากการทำ Comprehensive Genomic Profiling หรือ “การตรวจรหัสพันธุกรรมอย่างครอบคลุม” อันเป็นบริการที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซัน นำเข้ามาใช้ จึงช่วยให้แพทย์ระบุวิธีรักษาที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยรายนั้นๆ ที่สุดได้

เนื่องจากอาการบ่งชี้ของมะเร็งซาร์โคมานั้นมีน้อยมาก เราจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เป็นประจำ และหากพบสิ่งผิดปกติใดๆ ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ อันจะนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพต่อไป


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs