bih.button.backtotop.text

มะเร็งปอดระยะแรก รักษาหายได้ด้วยการผ่าตัด

11 ตุลาคม 2564


มะเร็งปอดระยะแรก รักษาหายได้ด้วยการผ่าตัด
ถึงแม้มะเร็งปอดจะไม่ได้เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุด แต่ก็เป็นภัยร้ายที่คร่าชีวิตผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุดในแต่ละปี เนื่องจากมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปอดเมื่ออยู่ในระยะที่ 3 หรือ 4 ไปแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ยากต่อการรักษา ดังนั้นการค้นพบมะเร็งปอดแต่เนิ่นๆจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงทีก่อนที่มะเร็งจะเปลี่ยนระยะและโอกาสรอดชีวิตลดลงไปมาก


จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งปอด
โดยปกติการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจะใช้วิธีการตรวจเอกซเรย์ ซึ่งสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงถือว่าเพียงพอ ในปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองแบบใหม่ที่เรียกว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose helical computerized tomography) ซึ่งมีความละเอียดกว่าการตรวจเอกซเรย์ธรรมดา เหมาะกับกลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับสารพิษ ผู้ที่มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ไม่มีประวัติเป็นโรคมะเร็ง แต่มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่หรือเป็นมะเร็งปอด


การรักษามะเร็งปอดทำได้อย่างไร
โดยทั่วไปการรักษาหลักๆมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ การผ่าตัด การรักษาด้วยเคมีบำบัดและการรักษาด้วยการฉายแสง ส่วนการรักษาทางเลือกอื่นรองลงมา เป็นการรักษาที่เรียกว่ายาพุ่งเป้า (Targeted therapy) และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) สำหรับมะเร็งระยะแรกเริ่มหรือระยะที่ 1 ที่มะเร็งยังไม่แพร่กระจาย สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดอย่างเดียว โดยเฉพาะหากผู้ป่วยมีก้อนมะเร็งขนาด 1 ซม.หรือเล็กกว่านั้น อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี (5 year survival) สูงถึง 90% และหากภายใน 5 ปี ผู้ป่วยไม่กลับมาเป็นมะเร็งซ้ำอีก ถือว่าหายขาดจากโรค


การผ่าตัดทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง
เป้าหมายของการผ่าตัดคือการผ่าเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด เป็นวิธีที่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดระยะที่ 1, 2 และ อาจรวม3A และไม่ใช่มะเร็งชนิดเซลล์เล็ก การผ่าตัดทำได้ 3 วิธีดังนี้
  • การผ่าตัดเปิดช่องทรวงอก (Thoracotomy) โดยแผลผ่าตัดอยู่ทางด้านหลังหรือสีข้างค่อนไปทางด้านหลัง ปัจจุบันแพทย์สามารถผ่าตัดให้แผลมีขนาดเล็กลง ตัดกล้ามเนื้อน้อยลงและไม่ได้ตัดซี่โครงเมื่อแต่ก่อน เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและรักษามะเร็งปอด
  • การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องตรวจทางช่องทรวงอก (Thoracoscopy)  แพทย์จะเจาะรูทางเข้า (Port) ซึ่งมีทั้งแบบ 3 แผล 2 แผลและแผลเดียว แล้วจึงใส่กล้องผ่านเข้าไปทางผนังทรวงอกเพื่อตรวจและรักษามะเร็ง โดยแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กประมาณ 1.5 ซม. และมีแผลเพื่อนำชิ้นเนื้อออกมาขนาด 3-5 ซม.
  • การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robot- assisted thoracic surgery) เป็นการผ่าตัดโดยใช้แขนและข้อมือกลของหุ่นยนต์ที่สามารถหมุนและโค้งงอข้อมือได้เหมือนมือมนุษย์ โดยแพทย์ควบคุมการผ่าตัดผ่านจอภาพ 3 มิติ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจน


ต้องเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดอย่างไร
  • ก่อนการผ่าตัด แพทย์จะตรวจและประเมินสภาพร่างกาย ความรุนแรงของโรค และอธิบายรายละเอียดภาวะโรค เหตุผลในการผ่าตัด ความเสี่ยง ข้อดีและข้อเสีย รวมถึงข้อมูลต่างๆเพื่อช่วยให้การวางแผนการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติเลือดออกง่าย หยุดยากผิดปกติหรือมีจ้ำเลือดตามร่างกาย
  • แจ้งประวัติการแพ้ยา อาหาร สารบางอย่างหรือการใส่เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ชนิดฝังในร่างกายให้แพทย์ทราบ
  • งดยาบางชนิดอย่างน้อย 5-7 วัน เช่น กลุ่มยาละลายลิ่มเลือด
  • งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  • งดเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์และงดบุหรี่ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • ในวันเข้ารับการผ่าตัด ให้นำยาที่รับประทานเป็นประจำมาโรงพยาบาลด้วย


ศูนย์โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ประกอบด้วยแพทย์ผู้ชำนาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำงานเป็นทีมร่วมกับแพทย์ผู้ชำนาญการหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องและทีมสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ  เรารักษาผู้ป่วยโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ดังนั้นเราจึงเน้นวิธีการรักษาเฉพาะบุคคล โดยพิจารณาจากความเหมาะสมของสภาวะโรค เช่น ขนาด ตำแหน่งและระยะของเซลล์มะเร็ง รวมถึงสภาพจิตใจและร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรกและได้ผลลัพธ์ในระยะยาว

 

 

นพ. พัฒนศักดิ์ เลิศประดิษฐ์  ศัลยศาสตร์แพทย์หัวใจและทรวงอก




 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs