bih.button.backtotop.text

นอนไม่หลับ อย่านิ่งนอนใจ

24 ตุลาคม 2555

เมื่อถึงเวลาที่ต้องนอน แต่ทำอย่างไรก็นอนไม่หลับสักที คนที่เจอปัญหานี้คงรู้สึกหงุดหงิดอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะการนอนไม่หลับ อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและสุขภาพของเราได้
 
โดยทั่วไปคนเราไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยรุ่น ผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ ต่างต้องการเวลานอนในแต่ละวันไม่แตกต่างกัน คือ อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน แต่ก็ขึ้นกับธรรมชาติของแต่ละคนด้วย บางคนอาจต้องการการนอนมากกว่าปกติ คือ อย่างน้อย 8-9 ชั่วโมงต่อวัน จึงจะรู้สึกสดชื่นและทำงานได้ดี ในขณะที่บางคนนอนแค่ 4-5 ชั่วโมงต่อวันก็เพียงพอ และสามารถทำงานได้ดีไปตลอดวัน
 
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งคนเราอาจพบปัญหาการนอน คือ ต้องการจะนอนแต่นอนไม่หลับ ซึ่งถ้านานๆ เป็นสักครั้งหนึ่งก็ไม่จัดว่าเป็นปัญหา แต่ถ้าเป็นบ่อยๆ นั่นแสดงถึงอาการผิดปกติของการนอน คือ อาการนอนไม่หลับ หากเป็นเรื้อรังจะต้องรีบทำการแก้ไข เพื่อป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งสุขภาพกาย อารมณ์ จิตใจ และคุณภาพชีวิต
 
วิธีการป้องกันและแก้ไขอาการนอนไม่หลับ มีหลักปฏิบัติใหญ่ๆ อยู่เพียง 3 ประการคือ
  • ตื่นนอนให้ตรงเวลา
  • ไม่นอนกลางวัน
  • เข้านอนเมื่อง่วง
 
การตื่นนอนตรงเวลาหมายถึงการตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน ซึ่งจะเป็นการตั้งเวลาของสมอง เมื่อปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจะทำให้นาฬิกาของสมองเดินตรงเวลา เราก็จะสามารถตื่นได้ตามเวลาที่กำหนด ในขณะเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงการงีบหลับในระหว่างวัน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืน และสุดท้ายต้องเข้านอนเมื่อง่วง หมายถึงการเข้านอนเมื่อถึงเวลาจะนอนและง่วง โดยในคนที่นอนหลับยากควรงดกิจกรรมที่ทำให้ตาสว่างก่อนเข้านอน และหากิจกรรมที่ทำให้ง่วง ซึ่งแต่ละคนจะมีวิธีที่แตกต่างกัน หากสังเกตตัวเองว่าเป็นคนที่ดูโทรทัศน์แล้วง่วง หรืออ่านหนังสือแล้วง่วง ก็ให้ทำกิจกรรมนั้นๆ เพื่อให้สามารถเข้านอนแล้วหลับได้ทันที 
 
หากใครที่ปฏิบัติตามหลักการทั้ง 3 ข้อแล้วยังไม่สามารถหลับได้ หรือหลับไม่ยาก แต่มักตื่นมากลางดึก ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาการใช้ยานอนหลับ จนเมื่อสามารถปรับการนอนได้เป็นปกติ ก็จะค่อยๆ ลดการใช้ยาลง
 
สิ่งสำคัญคือ เมื่อนอนไม่หลับ อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบหาทางแก้ไข เพราะโรคที่มักพบตามมาในคนที่นอนไม่หลับ คือ โรคซึมเศร้า ซึ่งหากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายได้  
 
 
เรียบเรียงจาก การบรรยายเรื่อง “นอนไม่หลับ ฟังทางนี้” โดยนายแพทย์สเปญ อุ่นอนงค์ จิตแพทย์ ศูนย์คุณภาพการนอนหลับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs