bih.button.backtotop.text

เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง

ในอดีตการผ่าตัดกระดูกสันหลังอย่างเป็นรูปแบบได้มีการบันทักและเริ่มเมื่อประมาณต้นปี ค.ศ. 1900 ซึ่งเกิดตามมาหลังจากการมีการใช้ยาดมสลบ มีเครื่อง x-ray และมียาฆ่าเชื้อที่ดีขึ้น การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังเริ่มมีการทำครั้งแรกในปี 1932 มีการใช้เครื่องตรวจเคลื่อนแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ครั้งแรกเมื่อปี 1977 ซึ่งสามารถศึกษาถึงโครงสร้างภายในกระดูกสันหลัง รวมถึง เส้นประสาท และไขสันหลัง  การผ่าตัดในอดีตมีความแตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก

ในปัจจุบัน การผ่าตัดกระดูกสันหลังมีความทันสมัย และมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มาช่วยศัลยแพทย์ในการผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในขณะผ่าตัด มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อที่น้อย และฟื้นตัวไวมากยิ่งขึ้น   
 

เทคโนโลยีล่าสุดที่ใช้ในปัจจุบัน


1. การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง Endoscope (Endoscopic spine surgery)
เป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง endoscope ขนาดเล็ก มีการใช้ระบบน้ำช่วยให้การมองเห็นขณะผ่าตัดได้อย่างชัดเจน และลดการเสียเลือดจากการผ่าตัด แผลผ่าตัด ประมาณ 1 เซนติเมตร นอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด 1 คืน โดยจุดประสงค์ของการผ่าตัดเป็นการแก้ไขและลดการกดทับของเส้นประสาท สามารถรักษาได้ใน 2 โรคหลักๆ ซึ่งเป็นโรคจากความเสื่อมทางกระดูกสันหลังที่พบได้มากที่สุด

     1. หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท (Herniated disc)
     2. โพรงประสาทตีบแคบทับเส้นประสาท (Spinal stenosis)
 
ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมักจะมาด้วยอาการของการกดทับเส้นประสาท คือ ปวดสะโพกร้าวลงขา ชา หรือ อ่อนแรง 


2.  การผ่าตัดใส่เหล็กเชื่อมข้อแบบบาดเจ็บน้อย (Minimally invasive spinal fusion surgery)
ปัจจุบันการใช้ technology เพื่อช่วยในการผ่าตัดใส่เหล็ก และหรือ หมอนรองกระดูกเทียม โดยมีการเปิดแผลขนาดเล็ก และการเจาะรูเพื่อที่จะใส่เหล็กยึดตรึงจากทางด้านหลัง มักจะใช้ผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) หรือ มีหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมาก (Degenerative disc disease) ผู้ป่วยมักจะมาด้วยปวดหลังมาก และหรือร่วมกับ อาการของการกดทับเส้นประสาท คือ ปวดสะโพกร้าวลงขา ชา หรือ อ่อนแรง 

ปัจจุบันมีการผ่าตัดหลักๆ อยู่ 2 วิธี 
a. การผ่าตัดใส่หมอนรองกระดูกเทียมและใส่เหล็กยึดตรึงแบบเจาะรูจากทางด้านหลัง (MIS-TLIF)
b. การผ่าตัดใส่หมอนรองกระดูกเทียมจากทางด้านข้าง และใส่เหล็กยึดตรึงแบบเจาะรูจากทางด้านหลัง (OLIF/XLIF)


3. การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 3 มิตินำวิถี (O-arm navigation in spine surgery)
เป็นการนำเทคโนโลยีขั้นสูงสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เพื่อเพิ่มความแม่นยำ และ เพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัดให้มากยิ่งขึ้น ระบบคอมพิวเตอร์สร้างภาพ 3 มิตินำวิถีในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง (O-arm navigation system) เป็นเครื่องที่แสกนกระดูกสันหลังในขณะผ่าตัด และสร้างภาพกระดูกสันหลังเป็นภาพทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ โดยสามารถมองเห็นโครงสร้างในทุกมุมมองของกระดูกสันหลังในขณะที่ทำการผ่าตัดแบบ real time เพื่อช่วยหมอผ่าตัดในขณะผ่าตัด เพิ่มความแม่นยำ และความปลอดภัย โดยเฉพาะการผ่าตัดแบบแผลเล็ก บาดเจ็บน้อย เพื่อที่จะใส่เหล็กยึดตรึง (Pedicle screw) ใส่หมอนรองกระดูกเทียมเชื่อมข้อ (Interbody fusion) และช่วยในการผ่าตัดในตำแหน่งที่มีความซับซ้อน หรือ ต้องอาศัยความแม่นยำสูง


4. การตรวจการทำงานของไขสันหลัง และเส้นประสาทในระหว่างผ่าตัด (Intra-operative neuromonitoring)
เป็นการนำเครื่องมือเพื่อตรวจประเมินการทำงานของเส้นประสาท และไขสันหลัง ในขณะที่ทำการผ่าตัด  ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการแปลผล มักจะใช้ในการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูง หรือ การผ่าตัดแก้ไขกระดูกสันหลังผิดรูป เช่น กระดูกสันหลังคด

 

เทคโนโลยีที่อาจจะมีใช้มากขึ้นในอนาคต


1. Virtual reality (VR)/Augmented reality (AR) in spine surgery ยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา เป็นเทคโนโลยีที่เป็นการแสดงภาพ โดยเฉพาะโครงสร้างกระดูกสันหลังในขณะผ่าตัด โดยอาจมองผ่านแว่นที่มีลักษณะเฉพาะ หรือแสดงผลผ่านจอสร้างภาพ  

2. Robotic-assisted spine surgery ปัจจุบันยังมีการใช้น้อย มีค่าใช้จ่ายสูง และยังมีการพัฒนาของระบบอย่างต่อเนื่องอยู่ การใช้ปัจจุบันเป็นการใช้แขนกล เพื่อกำหนดตำแหน่งในการใส่น็อต (pedicle screw) เข้าไปในกระดูกสันหลัง เปรียบเสมือนการนำทางโดยการขับรถโดยไม่มีคนขับ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปในอนาคต


โดยสรุปการผ่าตัดกระดูกสันหลังในปัจจุบันมีความแตกต่างจากในอดีตอย่างมาก ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาช่วยในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้การผ่าตัดมีความปลอดภัย หรือช่วยให้การผ่าตัดมีขนาดแผลที่เล็ก มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อที่น้อย ทั้งนี้การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์แต่ละคน และการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับภาวะและโรคที่เป็นด้วย


เรียบเรียงโดย นพ. ปฤศนัย พฤฒิกุล
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ และกระดูกสันหลัง
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
8.00-20.00  (BKK Time)
Hotline tel. +662 011 3092
20.00-8.00 (BKK Time)
เบอร์ Contact center +662 066 8888 และ 1378

 

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs