bih.button.backtotop.text

ควันบุหรี่มือสอง อันตรายกว่าที่คิด

คุณไม่สูบบุหรี่เพราะคุณทราบดีว่าบุหรี่ทำลายสุขภาพมากเพียงใด แต่คุณทราบหรือไม่ว่าควันบุหรี่ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณได้ไม่แพ้กัน

การสูดดมควันบุหรี่โดยไม่ตั้งใจส่งผลร้ายแค่ไหน? บทความนี้มีคำตอบที่เราเชื่อว่าจะทำให้คุณไม่อยากเข้าใกล้ควันพิษเหล่านี้อีกอย่างแน่นอน
 

ในควันบุหรี่มีอะไร

ควันบุหรี่มือสอง คือควันบุหรี่ที่ผู้สูบพ่นออกมาทางลมหายใจผสมกับควันจากปลายมวนบุหรี่ที่กำลังเผาไหม้โดยไม่ผ่านตัวกรองสารพิษใดๆ ควันชนิดนี้ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด เป็นสารพิษนับร้อยชนิดและในจำนวนนี้ราว 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็งที่สามารถปะปนอยู่ในอากาศได้นานถึง 5 ชั่วโมงโดยไม่มีกลิ่นให้รับรู้ได้เลย
สารพิษในควันบุหรี่เกิดจากการเผาไหม้ของสารเคมีที่มีอยู่ในใบยาสูบตามธรรมชาติ จากสารเคมีที่ใช้ปรุงแต่งกลิ่นและรสในกระบวนการผลิตบุหรี่ และจากกระดาษที่ใช้มวนบุหรี่ ซึ่งตัวอย่างของสารพิษเหล่านี้ ได้แก่ 
  • เบนซีน เป็นสารก่อมะเร็งที่พบในยาฆ่าแมลงซึ่งอาจติดมากับใบยาสูบ
  • ฟอร์มาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีน เป็นสารก่อมะเร็งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา เยื่อบุจมูก และเยื่อบุทางเดินหายใจ
  • พอโลเนียม-210เป็นสารกัมมันตรังสี เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอด
  • แคดเมียม เป็นสารโลหะที่เป็นอันตรายต่อไต ตับ และสมอง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดและอัณฑะ
  • สารตะกั่ว เป็นสารโลหะที่ทำลายสมอง ไต ระบบประสาทและเม็ดเลือดแดงอย่างรุนแรง สามารถถูกดูดซึมผ่านผิวหนังได้โดยเฉพาะในเด็ก
  • แอมโมเนีย ใช้ปรุงแต่งรสชาติและช่วยให้นิโคตินดูดซึมเข้าสู่สมองและประสาทส่วนกลางเร็วขึ้น มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ
  • โครเมียม เป็นสารโลหะที่อาจตกค้างในใบยาสูบหลังจากการพ่นยาฆ่าแมลง
  • คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้บุหรี่ ออกฤทธิ์ขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ผู้สูดควันบุหรี่ได้รับออกซิเจนน้อยลง เลือดข้นและหนืดขึ้นจนหัวใจต้องทำงานหนักเพื่อให้เลือดนำออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายซึ่งนำไปสู่สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ
  • สารหนู มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร และเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
สารเคมีเหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่ในควันที่เราสูดดมเข้าไป แต่ยังติดอยู่บนเส้นผมและเสื้อผ้าของผู้สูบ อยู่บนพรม บนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เรียกกันว่าควันบุหรี่มือสามซึ่งเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างไม่แพ้ควันบุหรี่มือสองเลย
 

โรคร้ายที่มาพร้อมควันบุหรี่

ในแต่ละปี มีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองมากถึง 1 ล้านคนโดยประมาณ โดยโรคที่มีความรุนแรงถึงชีวิตนี้ ได้แก่
  • โรคมะเร็ง        ควันบุหรี่สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งหลายระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอด นอกจากนี้เบนซีนในควันบุหรี่มือสองยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอีกด้วย
  • โรคหัวใจ         ควันบุหรี่มือสองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบหลอดเลือดและระบบการไหลเวียนของเลือด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
  • โรคปอด          สารเคมีและแก๊สในควันบุหรี่มือสองก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดลมและถุงลมจนนำไปสู่การอักเสบเรื้อรังและทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพ เป็นสาเหตุสำคัญของกลุ่มโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD) เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืด และโรคหลอดลมโป่งพอง
สารพิษในควันบุหรี่เป็นอันตรายกับทุกคน แต่เด็กๆ มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กมีน้ำหนักน้อยแต่มีอัตราการเผาผลาญอาหารสูงกว่าและหายใจเร็วกว่า นอกจากนี้ เด็กยังอยู่ในช่วงวัยที่เนื้อเยื่อต่างๆ กำลังพัฒนา เมื่อได้รับสารพิษในปริมาณเท่ากัน สารเหล่านี้ก็จะเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะของเด็กได้ง่ายและมากกว่าผู้ใหญ่
          สำหรับปัญหาสุขภาพที่เด็กๆ ต้องเผชิญ เช่น
  • น้ำหนักแรกเกิดน้อย  การสัมผัสกับควันบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงต่อการที่ทารกในครรภ์จะคลอดออกมาด้วยน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
  • โรคการเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารก (Sudden infant death syndrome หรือ SIDS) คือภาวะที่ทารกเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบที่ต้องอยู่ใกล้ๆ กับผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าเด็กที่ไม่ได้สัมผัสควันบุหรี่
  • โรคหืดและโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เป็นกลุ่มโรคที่พบบ่อยในเด็กที่ต้องสูดดมควันบุหรี่อยู่เสมอ
  • การติดเชื้อ เด็กทารกที่เกิดจากพ่อแม่ที่สูบบุหรี่มักเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบมากกว่าเด็กทั่วไปโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก
 

จะหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสองได้อย่างไร

การป้องกันตัวเองด้วยการไม่สูดดมควันบุหรี่มือสองอาจทำได้ยาก เพราะแม้คุณจะไม่เข้าใกล้ผู้ที่กำลังสูบบุหรี่ แต่คุณไม่มีทางทราบเลยว่าอากาศในร้านอาหาร ปากประตูทางเข้าอาคาร หรือบันไดหนีไฟนั้นมีควันบุหรี่มือสองหรือไม่ ยิ่งมีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงสารตกค้างจากควันพิษ
         
ดังนั้น สิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำคือ
  • ต้องไม่อนุญาตให้มีการสูบบุหรี่ในบ้านหรือรถยนต์ หากมีการสูบบุหรี่ ควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสสิ่งของต่างๆ ในบ้าน
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่ และไม่อยู่ใกล้เขตสูบบุหรี่
  • เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจ
 

ตรวจสมรรถภาพปอด หากคุณเลี่ยงไม่ได้ 

การหายใจเอาควันบุหรี่เข้าปอดแม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้สารพิษนับร้อยเริ่มต้นทำลายปอดของคุณทันที ด้วยการทำให้กระบวนการปัดกวาดมูกและสิ่งระคายเคืองต่างๆ ออกจากทางเดินหายใจทำงานน้อยลง สารพิษในควันบุหรี่จึงผ่านเข้าสู่ปอดได้ง่ายขึ้นแล้วเริ่มสร้างความเสียหายให้กับระบบทางเดินหายใจโดยคุณไม่รู้ตัว

          หากคุณมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจจากควันบุหรี่มือสอง แพทย์แนะนำว่าการตรวจสมรรถภาพปอดจะช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติได้แม้ในผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจระยะเริ่มต้นที่ยังไม่ปรากฎอาการใดๆ และผลการตรวจเอกซเรย์ปอดก็จะยังไม่แสดงความผิดปกติ

การตรวจสมรรถภาพปอด หรือ Pulmonary Function Testings (PFTs) เป็นการตรวจการทำงานของปอดในด้านต่างๆ เพื่อดูความเสื่อมของการทำงานของปอด เพื่อตรวจวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรค รวมถึงเพื่อติดตามผลการรักษา
การตรวจสมรรถภาพภาพปอดสามารถทำได้หลายวิธีและด้วยเครื่องมือหลายชนิด โดยแต่ละวิธีจะให้ข้อมูลที่ต่างกันไป สำหรับการตรวจเพื่อดูการทำงานและประเมินความเสียหายของปอดที่สามารถทำได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
  1. Spirometry (mechanics) เป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจประเมินสมรรถภาพปอด โดยวัดปริมาตรและอัตราการไหลของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด แล้วนำมาเทียบกับค่าอ้างอิงเพื่อดูว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในกระบวนการหายใจหรือไม่
  2. Post bronchodilator spirometry เป็นการตรวจเพื่อประเมินการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาขยายหลอดลม และดูว่าหลอดลมตีบแก้ไขได้หรือไม่ เป็นการตีบแบบชั่วคราวหรือถาวร
  3. Complete set of Pulmonary function test เป็นการตรวจเพื่อประเมินภาวะหลอดลมอุดกั้น ปริมาตรปอด และการแลกเปลี่ยนแก๊สภายในถุงลม รวมถึงใช้ในการประเมินภาวะเหนื่อย โรคเนื้อเยื่อในปอดอักเสบ (interstitial lung diseases) ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
  4. Bronchial challenge test เป็นการตรวจเพื่อประเมินภาวะความไวเกินของหลอดลม สามารถใช้สำหรับการหาโรคหืดแฝงได้


ทั้งนี้ แพทย์ผู้ทำการรักษาจะทำการตรวจวินิจฉัยและเป็นผู้เลือกวิธีการการตรวจสมรรถภาพปอดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

โรคระบบทางเดินหายใจมักเริ่มด้วยการไอ มีเสมหะมากผิดปกติในเวลาเช้า เจ็บหน้าอก รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติโดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย หายใจมีเสียงหวีดหรือเสียงผิดปกติซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าโรคได้พัฒนาไปมากแล้ว ดังนั้น อย่ารอจนถึงวันที่อาการปรากฏ เพราะอาจสายจนเกินแก้ได้

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs