bih.button.backtotop.text

มีลูกยาก แก้ไขได้

การมีลูกถือเป็นหนึ่งในการเติมเต็มความสมบูรณ์ของครอบครัว แต่ในบางคู่ พยายามเท่าไรก็ไม่มีลูกเสียที จนบางครั้งอาจทำให้เกิดความเครียดหรือความกังวลในครอบครัว ลองมาดูกันครับว่า คุณเข้าข่ายมีลูกยากกันหรือไม่และจะแก้ไขได้อย่างไร
 

ภาวะมีลูกยากคืออะไร

ตามทฤษฎีทางการแพทย์ ภาวะมีลูกยาก คือ การที่คู่สามีภรรยามีความสัมพันธ์กันโดยไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีใดๆ มาเป็นเวลา 1 ปีแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณๆ จะต้องรอจนถึง 1 ปีแล้วค่อยมาพบแพทย์นะครับ
 
ในความเป็นจริงแล้ว หากคู่สามีภรรยาพร้อมที่จะมีลูก และทราบว่าตนเองมีปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลให้มีลูกยาก เช่น ฝ่ายหญิงมีสุขภาพไม่แข็งแรง มีอายุมากกว่า 35 ปี มีรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ มีประวัติเคยผ่าตัดหรือมีการอักเสบในช่องท้องมาก่อน หรือในฝ่ายชายมีสุขภาพไม่แข็งแรง เคยมีอุบัติเหตุหรือมีการติดเชื้อรุนแรงที่อวัยวะมาก่อน เป็นต้น ก็สามารถมาพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาก่อน 1 ปีได้
 

สาเหตุของการมีลูกยาก

สาเหตุของการมีลูกยากสามารถเกิดได้ทั้งจากฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย หรือทั้งสองฝ่าย โดยที่ผ่านมามีการศึกษามากมายพบว่า การมีลูกยากที่เกิดจากฝ่ายชายพบได้ 30% ในขณะที่เกิดจากฝ่ายหญิง 40-50% ที่เหลือเกิดจากทั้งคู่ หรืออาจหาสาเหตุไม่พบทั้งคู่ด้วยวิธีการตรวจพื้นฐาน
 
สาเหตุจากฝ่ายชาย เช่น มีอวัยวะสืบพันธุ์ผิดปกติแต่กำเนิด ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ มีพันธุกรรมที่ผิดปกติเกี่ยวกับโครโมโซมหรือยีนที่ทำให้ไม่สามารถสร้างตัวอสุจิได้หรือสร้างได้น้อยกว่าปกติมาก ได้รับสารเคมีบางชนิด (เช่น ยาฆ่าแมลง สารตะกั่ว สารประกอบเบนซีน รวมถึงการใช้ยาบางชนิด) สูบบุหรี่เป็นประจำ มีโรคประจำตัวบางอย่างที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ (เช่น เบาหวาน) เป็นโรคคางทูมในวัยเด็ก ได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้น

สาเหตุจากฝ่ายหญิง เช่น มีอายุมาก สูบบุหรี่เป็นประจำ ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ มีความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์แต่กำเนิด มีเนื้องอกของมดลูกขนาดใหญ่หรืออยู่ในโพรงมดลูก ท่อนำไข่ตัน มีเยื่อพังผืดในอุ้งเชิงกรานหรือเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ รังไข่ทำงานไม่ได้ตามปกติ ไม่สามารถมีไข่ตกได้ มีซิสต์หรือเนื้องอกของรังไข่ มีความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกายที่ส่งผลต่อการตกไข่ เป็นต้น  
 

วิธีการตรวจประเมินภาวะมีบุตรยาก

เมื่อคู่สามีภรรยามาพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติเพื่อหาสาเหตุก่อน เช่น ฝ่ายหญิงอาจมีรอบเดือนผิดปกติ มีอาการปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือน เคยมีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน หรือเคยติดโรคทางเพศสัมพันธ์ หรือฝ่ายชายเคยมีประวัติอุบัติเหตุหรือการติดเชื้อรุนแรงที่อวัยวะสืบพันธุ์ เคยทำหมันมาก่อน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถค้นหาสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากได้
 
นอกเหนือจากการซักประวัติแล้ว แพทย์อาจทำการตรวจร่างกายเพิ่มเติม โดยตรวจร่างกายทั่วไปเพื่อให้แน่ใจว่าคู่สามีภรรยาแข็งแรงและพร้อมที่จะตั้งครรภ์ โดยไม่มีโรคติดต่ออันตรายที่จะสามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้ นอกจากนี้แล้วจะต้องทำการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยฝ่ายชายจะต้องทำการตรวจสอบคุณภาพของน้ำเชื้อ ส่วนในฝ่ายหญิงอาจต้องได้รับการตรวจภายใน การทำอัลตราซาวนด์ การตรวจเลือดดูความผิดปกติของฮอร์โมนต่างๆ การทำเอกซเรย์ฉีดสีตรวจท่อนำไข่  ในบางรายอาจต้องทำผ่าตัดส่องกล้องตรวจในช่องท้องและหรือในโพรงมดลูกเพื่อตรวจหาความผิดปกติ
 
เมื่อทำการตรวจต่างๆ เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะสามารถทราบสาเหตุของการมีลูกยากได้ และจะทำการรักษาโดยเริ่มต้นจากการแก้ไขที่สาเหตุนั้นก่อน แต่หากแก้ไขแล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จ หรือในกรณีที่ฝ่ายหญิงมีอายุมาก ก็อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
 

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่นำมาใช้ในการรักษาภาวะมีลูกยาก ลองมาทำความรู้จักกันนะครับ
  1. การผสมเทียมโดยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (Intrauterine Insemination: IUI) แพทย์จะทำการกระตุ้นไข่ จนเมื่อวันที่ไข่ตก ก็ทำการเก็บอสุจิ โดยคัดเอาตัวที่ดี และนำไปใส่ในมดลูก แต่วิธีนี้จะเหมาะกับผู้หญิงที่ไม่มีปัญหาท่อนำไข่ตัน โดยจะมีโอกาสตั้งครรภ์ 15-20% ในผู้หญิงที่อายุไม่มาก หากอายุประมาณ 35-40 ปี โอกาสในการตั้งครรภ์ก็จะลดลง เหลือประมาณ 10%
  2. การทำกิฟท์ (Gamete Intrafallopian Transfer: GIFT) แพทย์จะทำการกระตุ้นไข่ จนเมื่อวันที่ไข่ตก ก็ทำการเก็บอสุจิ นำมาผสมกับไข่ แล้วใส่ในหลอดเล็กๆ ใส่กลับเข้าไปบริเวณท่อนำไข่ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการปฏิสนธิตามธรรมชาติ แต่วิธีการนี้ต้องเจาะผนังหน้าท้องเพื่อนำไข่และอสุจิใส่ในท่อนำไข่ จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน
  3. การทำซิฟท์ (Zygote Intrafallopian Transfer: ZIFT)วิธีการนี้คล้ายกับการทำกิฟท์ แต่ต่างกันที่เมื่อนำอสุจิกับไข่มาผสมกันแล้ว จะนำไปเลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการจนเกิดการปฏิสนธิตัวอ่อนในระยะที่เรียกว่า zygote จึงค่อยใส่กลับไปในบริเวณท่อนำไข่ ซึ่งวิธีการนี้ก็ต้องทำการเจาะผนังหน้าท้องเช่นเดียวกับการทำกิฟท์ จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบันเช่นกัน
  4. การปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (In-vitro Fertilization: IVF) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน  โดยจะเป็นการเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอดและนำมาผสมกับอสุจิให้เกิดปฏิสนธิกันภายในห้องปฏิบัติการจนได้ตัวอ่อน จึงทำการย้ายตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกต่อไป ซึ่งวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องใช้การเจาะผนังหน้าท้อง และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์สูงขึ้น โดยผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 38 ปีมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 30-50% และในคนที่อายุมากกว่า 38 ปีจะมีโอกาสตั้งครรภ์ต่ำกว่า 30%
  5. การทำอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI) เป็นการฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่ จัดเป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำ IVF โดยจะใช้ในกรณีที่ฝ่ายชายมีอสุจิที่คุณภาพไม่ดี ไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ชายมีปัญหาไม่มีตัวอสุจิในน้ำเชื้อ ก็มีวิธีการที่จะนำเอาตัวอสุจิออกมาจากลูกอัณฑะหรือหลอดอสุจิเพื่อมาใช้ในกระบวนการทำอิ๊กซี่ต่อได้ เช่น PESA (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration), MESA (Microsurgical Epididymal Sperm Aspiration) หรือ TESE (Testicular Biopsy Sperm Extraction)
 
ทั้งนี้ ความสำเร็จของการรักษาและโอกาสในการตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอายุ ความผิดปกติ และวิธีการที่ใช้ เมื่อคู่สามีภรรยาตัดสินใจเข้ารับการรักษาภาวะมีลูกยาก แพทย์จะเป็นผู้ร่วมพิจารณาว่าควรใช้วิธีใด เพื่อช่วยเพิ่มความสำเร็จของการตั้งครรภ์โดยคุ้มค่ากับเวลา ค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงจากการใช้ยาต่างๆ
 
สุดท้ายที่อยากฝากไว้ คือ การรักษาภาวะมีลูกยากอาจต้องใช้เวลา คู่สามีภรรยาควรเตรียมร่างกายและใจให้พร้อม และอย่าลืมให้กำลังใจกันและกันอย่างสม่ำเสมอนะครับ

 
เรียบเรียงโดย รศ.นพ.ภัทรภูมิ โพธิ์พงษ์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs