bih.button.backtotop.text

รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง โรคร้ายที่ใกล้ตัว

เมื่อพูดถึงโรคร้ายที่เป็นอันตรายถึงชีวิต คนส่วนใหญ่มักนึกถึงโรคมะเร็งและโรคหัวใจเป็นลำดับแรกๆ แต่จากสถิติในประเทศไทยพบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวันอันควรสูงเป็นอันดับหนึ่งในเพศหญิงและสูงเป็นอันดับสองในเพศชาย รวมถึงทำให้มีอัตราตายมากกว่าโรคหัวใจขาดเลือดและโรคเบาหวานถึง 2 เท่าตัว

 

 

โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร

โรคที่ระบบประสาทเกิดภาวะบกพร่องเฉพาะที่อย่างเฉียบพลันจากสมองขาดเลือด อาการของโรคอาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของสมองที่ถูกทำลาย

 

โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ  ดังนี้
  • เส้นเลือดแตกทำให้เลือดออกในสมอง
  • เส้นเลือดอุดตันโดยลิ่มเลือด ทำให้สมองขาดเลือด
  • เส้นเลือดตีบตัน ทำให้สมองขาดเลือด
  • ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันสูง การสูบบุหรี่
  • ปัจจัยอื่นๆที่ทำให้สมองขาดเลือด เช่น การใช้สารเสพติด การบาดเจ็บของเส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณลำคอ โรคมะเร็งบางชนิด โรคติดเชื้อในสมองบางชนิดและโรคทางพันธุกรรมเกี่ยวกับเลือดแข็งตัวง่ายหรือหลอดเลือดผิดปกติ
 

สังเกตอาการได้อย่างไร

โรคหลอดเลือดสมองมักจะมีอาการเฉียบพลันขึ้นมาทันที สังเกตได้ง่ายๆด้วยการทดสอบอาการที่เรียกว่าย่อๆว่า FAST
  • F = Face ให้ยิงฟันหรือยิ้ม สังเกตว่าปากเบี้ยว มุมปากตกหรือไม่
  • A = Arms ให้ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นนาน 10 วินาที พบว่าแขนข้างใดข้างหนึ่งตกยกไม่ขึ้นหรือไม่
  • S = Speech ให้พูดตามและสังเกตว่าพูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่องหรือไม่พูดหรือไม่
  • T = Time ให้รีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตหรือเสียชีวิต
 

วินิจฉัยได้อย่างไร

  • ตรวจพบอาการแสดงที่เข้าได้กับโรคหลอดเลือดสมอง
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan)
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (Magnetic resonance imaging)
  • การตรวจหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดใหญ่ที่คอ
    • CT angiography (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองด้วยการฉีดสารทึบรังสี)
    • MR angiography (การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองด้วยการฉีดสารทึบรังสี)
    • Carotid duplex ultrasound (การตรวจการตรวจอัลตร้าซาวด์หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ)
 

รักษาได้กี่วิธี

การรักษาขึ้นอยู่กับความผิดปกติ เช่น ความผิดปกติเกิดจากหลอดเลือดตีบตันหรือเกิดจากเลือดออกในสมองเนื่องจากการที่มีหลอดเลือดฉีกขาดหรือหลอดเลือดแตก โดยมีวิธีรักษาดังนี้
  • การรักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ
  • การใส่สายสวนหลอดเลือดและใช้อุปกรณ์ในการลากหรือดูดลิ่มเลือดที่อุดตันออก
  • การให้ยาต้านเกร็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด
  • การให้สารน้ำทางน้ำเกลือ
  • การควบคุมความดันโลหิต น้ำตาล และไขมันในเลือด
  • การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟู
 

ป้องกันได้หรือไม่

ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้โดย
  • ตรวจเช็คสุขภาพประจำปี
  • ควรปรึกษาแพทย์หากมีความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูงและโรคหัวใจ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน เค็มและมัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่
  • เรียนรู้วิธีจัดการความเครียด
 

ศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีบริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง เรามีทีมแพทย์ที่มีความชำนาญและประสบการณ์สูง พร้อมให้บริการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างครอบคลุม

 
เรียบเรียงโดย นพ. พงศธร เรืองรองหิรัญญา



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs