bih.button.backtotop.text

ปราการด่านแรกจำแนกผู้ป่วยเพื่อรับมือกับมะเร็ง

การตรวจพบสิ่งผิดปกติและวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำตั้งแต่ต้นนั้น ใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการรักษาผู้ป่วยโดยตรง หากขั้นตอนการตรวจและวินิจฉัยไม่ละเอียดครบถ้วนรวดเร็ว ย่อมส่งผลให้การรักษาล่าช้าและยากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญมากของ รังสีแพทย์ (Radiologist) อย่างเช่น พญ.กมลธรรม พูลภิญโญ (Dr.Kamoltham Pulpinyo) รังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเต้านม (Breast Interventionist) แห่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เน้นถึงความแม่นยำและฉับไว ในการตรวจวินิจฉัยปัญหาของเต้านม เพื่อการดูแลรักษาที่ทันการและรวดเร็ว
 

ขั้นตอนปกติ ที่มากกว่าแค่การส่งต่อเพื่อรักษา
 

“ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเต้านมนั้น ผู้ป่วยหญิงที่เข้ามาที่โรงพยาบาล มีด้วยกัน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เข้ามาเพื่อตรวจสุขภาพแบบไม่มีอาการ  เราเรียกว่ากลุ่ม Screening กับกลุ่มที่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นคลำก้อนได้  เจ็บเต้านม หรือมีของเหลวออกจากหัวนม ในกลุ่มนี้เราจะเรียกว่ากลุ่ม Diagnostic”
พญ.กมลธรรม อธิบายประเภทของผู้ป่วยและการตรวจ “ขั้นตอน หลักๆ คือมีการตรวจเต้านมจากแพทย์ทางคลินิก เกือบทุกรายจะถูกส่งตรวจอัลตราซาวด์เต้านม หรือแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านม   ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของรังสีแพทย์ ในการตรวจและวินิจฉัยผลแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์”
 

ผู้ป่วยทั้งหมดจะถูกวินิจฉัยแยกเป็นกลุ่มตามระดับความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม  “ในกลุ่มที่จัดว่ามีความเสี่ยงนั้น หากมีระดับความเสี่ยงต่ำมาก จะมีการติดตามการตรวจทางคลินิค และตรวจแมมโมแกรมและ  อัลตราซาวด์เต้านมในช่วงระยะสั้นๆ เช่นหกเดือน หากมีความเสี่ยงในระดับกลาง หรือสูง ก็จะมีการแนะนำให้เจาะเต้านมเพื่อนำชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิสภาพ ดูว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่”  พญ.กมลธรรม อธิบายเพิ่มถึงระดับความเสี่ยงของผู้ป่วย ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะสามารถทำได้ครบวงจรโดยรังสีแพทย์ ได้ทันที และส่งตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งขบวนการใช้เวลาอีก 48 ชั่วโมง   โดยจะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งซึ่งน้อยมาก ที่การวินิจฉัยอาจจะต้องอาศัยการตรวจในระดับสูงขึ้นเพิ่มเติม เช่นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( MRI )

 

บทบาทของรังสีแพทย์ หลักการสำคัญเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง
 

“ถ้าจะเปรียบเราเป็นด่านแรก ของเส้นทางการการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมก็ว่าได้ เราจึงตั้งใจและทุ่มเทในการตรวจหาความผิดปกติ ที่แม้มีเพียงเล็กน้อยหรือในระยะแรกเริ่มให้ได้  รวมทั้งให้เวลากับผู้ป่วยเต็มที่” พญ.กมลธรรม อธิบายต่อ  “หากด่านแรกทำงานล่าช้า กว่าจะได้ข้อสรุปที่ถูกที่ควร มะเร็งนั้นอาจโตขึ้น มีผลกับผู้ป่วยแน่นอน ยิ่งเราตรวจหาความผิดปกติได้รวดเร็วครบถ้วนและแม่นยำเท่าไหร่ ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาเร็วเท่านั้น และมะเร็งเต้านมระยะแรกย่อมส่งผลการรักษาที่ดีกว่าอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับมะเร็งระยะท้ายๆ”
 

หินปูนกับมะเร็งเต้านม คำถามที่มักถูกถาม
 

พญ.กมลธรรม ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า “หินปูนคนจะกลัวกันมาก หินปูนในเต้านมไม่เหมือนหินปูนในฟัน หินปูนมีหลายชนิด แต่มีอยู่ชนิดหนึ่งที่เป็นลักษณะเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม พบได้ไม่ถึง 10% ของหินปูนที่พบๆกันอยู่ในการตรวจผู้ป่วย screening ในแต่ละวัน ซึ่งหากตรวจพบ จะแนะนำคนไข้ให้เจาะพิสูจน์ชิ้นเนื้อ เช่นกัน” มักจะมีคำถามบ่อยๆ ว่าทำไมถึงต้องเจาะชิ้นเนื้อกับรังสีแพทย์ก่อน พญ.กมลธรรม ได้พูดถึงไว้อย่างน่าสนใจว่า
  1. จะได้ทราบว่า จากการตรวจว่าสงสัยมะเร็งนั้น ใช่หรือไม่  หรืออาจบอกได้ว่าเป็นพวกมีความเสี่ยงต่อมะเร็งมากกว่าคนปกติหรือไม่ เท่าใด และจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง คุณหมอที่ดูแลรักษาก็จะมีคำตอบให้
  2. หากชิ้นเนื้อออกมาว่า ใช่ เป็นมะเร็ง ก็จะมีรายละเอียดบอกว่าเป็นชนิดใด ระดับใด รุนแรงมากน้อยเพียงใด และมีรายละเอียดพอจะพยากรณ์โรคได้ ในระดับหนึ่ง
  3. ศัลยแพทย์จะมีแนวทางการรักษารูปแบบต่างๆให้ผู้ป่วยเลือกและตัดสินใจร่วมกัน
ซึ่งใน กรณี 2) และ 3) อาจจะต้องมีการตรวจ MRI หรือ PET Scan เพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลครบตามแพทย์ผู้รักษาต้องการ แพทย์จะนำข้อมูลไปทำ Staging ว่าเป็นมะเร็งในระยะไหน และจะนำไปสู่ขั้นตอนการพิเคราะห์โรคและการรักษาในที่สุด
 

ยิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งเจอเร็วยิ่งดี
 

หน้าที่ที่มีบทบาทมากอีกส่วนของรังสีแพทย์ คือการติดตามผล (Follow Up) ผู้ป่วย  เคียงข้างกับแพทย์ผู้รักษา  โดยใช้การตรวจทางรังสีวิทยาตามเหมาะสม อันได้แก่ Mammogram & Ultrasound, MRI , PET Scan เพื่อติดตามผลและสืบค้นการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ พญ.กมลธรรม ได้กล่าวทิ้งท้าย  “เนื่องจากยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเต้านม พอจะบอกได้เพียงปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้เท่านั้น การสืบค้นหาอย่างจริงจัง จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง อยากจะฝากผู้หญิงไทยทุกคน ตั้งแต่เริ่มวัยรุ่น ให้ฝึกตรวจเต้านมด้วยตนเอง สร้างความคุ้นเคยกับเต้านมตนเองให้สม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติใดๆให้ปรึกษาแพทย์ ส่วนหญิงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเอกซเรย์และอัลตราซาวด์เต้านม (Mammogram & Ultrasound) ทุกปี ผู้หญิงที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม, มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งรังไข่ ให้ปฏิบัติคล้ายคลึงกัน แต่มีรายละเอียดมากกว่า ขอให้ปรึกษาแพทย์ทางเต้านมแต่เนิ่นๆ”


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs