bih.button.backtotop.text

การตรวจแมมโมแกรม

การตรวจแมมโมแกรม (mammogram) คือ กระบวนการตรวจโดยใช้เอกซเรย์พลังงานต่ำถ่ายภาพของเต้านม เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งเมื่อมีอาการและยังไม่มีอาการผิดปกติ จากการวิจัยพบว่าการตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปีทำให้สามารถตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรกได้ ซึ่งทำให้มีโอกาสสูงในรักษาให้หายขาดได้โดยไม่ต้องตัดเต้านมทิ้งทั้งเต้า
 
ดิจิตอลแมมโมแกรม
คือ เครื่องเอกซเรย์เต้านม ซึ่งใช้ตัวรับภาพแทนการใช้ฟิล์ม (ตัวรับภาพนี้มีลักษณะคล้ายกับตัวรับภาพที่ใช้ในกล้องถ่ายรูปดิจิตอล) โดยตัวรับภาพนี้จะเปลี่ยนเอกซเรย์ให้เป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปสร้างภาพ ซึ่งสามารถแสดงภาพได้ทั้งที่จอคอมพิวเตอร์และพิมพ์ออกมาบนฟิล์ม
 
Computer-aided detection (CAD)
คือ กระบวนการทางคอมพิวเตอร์ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อช่วยวิเคราะห์หาความผิดปกติบนภาพแมมโมแกรมซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจพบมะเร็ง โดยระบบจะทำสัญลักษณ์บนภาพแมมโมแกรมเพื่อเตือนให้รังสีแพทย์พิจารณาบริเวณที่น่าสงสัยนั้นๆ

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ
  1. ใช้เพื่อตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรกตั้งแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ
  2. ใช้เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคของเต้านมในผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น คลำก้อนได้ ปวด หรือมีของเหลวผิดปกติไหลออกจากหัวนม
  3. วิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American College of Radiology: ACR) แนะนำให้ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจแมมโมแกรมทุกปี เนื่องจากสามารถตรวจหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกได้ และเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้สูงขึ้น อีกทั้งยังสามารถเก็บเนื้อเต้านมไว้ได้โดยไม่ต้องตัดทิ้งทั้งเต้า
  4. สำหรับผู้หญิงที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมและผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงอันเนื่องมาจากมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำว่าควรตรวจแมมโมแกรมก่อนอายุ 40 ปีหรือไม่ รวมทั้งความถี่ในการตรวจแมมโมแกรม
  1. ภาพแมมโมแกรมช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบเนื้องอกขนาดเล็กได้ดีขึ้น มีผลให้สามารถเลือกวิธีการรักษาได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้
  2. ไม่มีรังสีตกค้างในร่างกายหลังตรวจเสร็จ
  3. ปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยมักไม่มีผลข้างเคียงกับร่างกาย
ท่านจะรู้สึกถึงแรงกดซึ่งเกิดจากการกดด้วยแผ่นพลาสติก สำหรับท่านที่ไวต่อความรู้สึกเจ็บอาจรู้สึกเจ็บมาก ดังนั้นจึงควรนัดตรวจแมมโมแกรมในช่วงที่เต้านมตึงน้อยที่สุด ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กดเต้านมของท่าน หากรู้สึกว่าเจ็บมากขึ้นควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบ และหากรู้สึกเจ็บมากเจ้าหน้าที่จะลดแรงกดลง
 
การกดเต้านมมีความสำคัญและจำเป็น เนื่องจาก
  1. ทำให้ความหนาของเต้านมลดลง มีผลทำให้สามารถมองเห็นเนื้อเยื่อเต้านมได้ชัดขึ้น
  2. เนื้อเยื่อเต้านมถูกกระจายออก ทำให้พบสิ่งผิดปกติได้ง่ายขึ้นเนื่องจากไม่ถูกบดบังจากเนื้อเยื่อเต้านมที่ซ้อนทับ
  3. ลดปริมาณรังสีที่ใช้ในการถ่ายภาพ
  4. ทำให้เนื้อเต้านมอยู่นิ่งมากขึ้น ลดโอกาสการเกิดภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว
  5. ลดรังสีกระเจิงทำให้ได้ภาพที่คมชัดมากขึ้น
  1. การใช้รังสีมีผลให้โอกาสการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามความเสี่ยงนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้จากการตรวจแมมโมแกรมและผลการตรวจที่ถูกต้อง
  2. สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการแต่ผลตรวจแมมโมแกรมผิดปกติ พบว่า 5-15 เปอร์เซ็นต์ของผลตรวจนี้ต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ถ่ายแมมโมแกรมท่าพิเศษหรือทำอัลตราซาวนด์ แพทย์อาจติดตามความผิดปกตินั้นต่อเนื่อง (follow up) หรือบางรายแพทย์อาจแนะนำให้ทำการเจาะเนื้อเยื่อบริเวณนั้นออกมาตรวจทางพยาธิสภาพ
  3. กรณีสงสัยว่าอาจตั้งครรภ์จะต้องแจ้งให้แพทย์หรือนักรังสีการแพทย์ทราบก่อนรับการตรวจแมมโมแกรมเสมอ
  4. สำหรับผู้ที่ผ่าตัดเสริมเต้านม พบว่าถุงเต้านมเทียมอาจบดบังบางส่วนของเต้านม จึงต้องมีการถ่ายแมมโมแกรมจำนวนภาพมากกว่าปกติ คือมีภาพที่ดันและไม่ดันถุงเต้านมเทียม การตรวจนี้อาจทำให้เกิดการรั่วของถุงได้ โดยเฉพาะผู้ที่ผ่าตัดเสริมมาเป็นเวลานานแล้วหรือผนังมีจุดอ่อน แต่โอกาสที่จะรั่วมีน้อยมาก
  5. หญิงที่อายุน้อยกว่า 40 ปี หรือผู้ที่ได้รับฮอร์โมน จะมีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่นมาก ซึ่งมีผลให้รังสีแพทย์แปลผลได้ยาก
  6. เนื้อเยื่อเต้านมของหญิงที่อายุน้อยกว่า 40 ปี จะมีความไวต่อรังสีมากกว่า (sensitive to radiation) ถึงแม้การถ่ายแมมโมแกรมจะใช้ปริมาณรังสีน้อยมากก็ตาม
  1. ปกติการตรวจแมมโมแกรม ในบางกรณีอาจไม่เพียงพอสำหรับแพทย์ที่จะวินิจฉัย โดยเฉพาะเมื่อพบจุดที่น่าสงสัย รังสีแพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น
  2. การแปลผลแมมโมแกรมเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเนื้อเยื่อเต้านมของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน รวมทั้งในกรณีที่เคยผ่าตัดเต้านมก็ทำให้ภาพที่ได้อาจมีข้อจำกัดในการแปลผล
  3. มะเร็งเต้านมเป็นรอยโรคที่มองเห็นได้ยาก ดังนั้นรังสีแพทย์จึงต้องการเปรียบเทียบภาพครั้งปัจจุบันกับภาพครั้งก่อน เพื่อให้สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น
  4. แมมโมแกรมไม่สามารถแสดงให้เห็นมะเร็งเต้านมได้ทุกชนิด (ตรวจพบมะเร็งได้ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์)
  5. ถุงเต้านมเทียมมีผลให้ความถูกต้องของผลตรวจแมมโมแกรมลดลง (บดบังบางส่วนของเต้านม)
  6. ขณะที่ในปัจจุบันการตรวจแมมโมแกรมเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก แต่แมมโมแกรมก็ไม่สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ทุกชนิด รวมทั้งการตรวจแมมโมแกรมบางครั้งอาจแสดงผลว่าเป็นมะเร็งเต้านมทั้งๆ ที่ความจริงไม่ใช่มะเร็ง (เรียกผลตรวจแบบนี้ว่า false-positive result)

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์วินิจฉัยและบำบัดรักษา

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 2 คน

Related Health Blogs