bih.button.backtotop.text

ถาม-ตอบ ปัญหาสุขภาพ

Q: อยากขอคำแนะนำจากคุณหมอเกี่ยวกับการเลือกรับประทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เนื่องจากครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวาน จึงอยากระวังไว้ก่อนค่ะ

A: การใส่ใจดูแลเรื่องการรับประทานอาหารในกรณีที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวานเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่อันที่จริงแล้วอาหารของผู้ป่วยเบาหวานกับอาหารของผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวานคืออาหารแบบเดียวกัน หลักการอยู่ที่ต้องรู้จักเลือกรับประทาน เช่น ไม่รับประทานแป้งกับน้ำตาลมากเกินไป แต่ให้เน้นผัก ส่วนผลไม้ถ้าหวานมากก็รับประทานน้อยชิ้น หรือแบ่งเป็นส่วนๆ วันละ 3-4 ครั้ง ไม่รับประทานทีเดียวในปริมาณมาก

ส่วนสารให้ความหวานหรือที่เราเรียกว่าน้ำตาลเทียมนั้นเป็นวัตถุให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงานหรือให้น้อยมาก โดยตัวของมันเองสามารถรับประทานได้โดยไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือมีโอกาสเสี่ยงจะเป็นเบาหวาน ปัจจุบันมีให้เลือกใช้หลายชนิด เช่น แซ็กคาริน (saccharin), แอสปาร์เทม (aspartame), ซูคราโลส (sucralose) และหญ้าหวาน (stevia)‎ แต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติและรสชาติแตกต่างกันไป ให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น ใส่ในชา กาแฟ เพียงเล็กน้อย ข้อควรระวัง เช่น ใช้ปรุงอาหารพวกขนมหวานแล้วเข้าใจว่ารับประทานแล้วไม่อ้วน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเพราะในอาหารนั้นยังมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น แป้งรวมอยู่ด้วย รับประทานแล้วก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้

พญ.รสนีย์ วัลยะเสวี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม  
 

Q: คุณพ่อวัย 75 ปี เริ่มมีอาการมือสั่นอย่างเห็นได้ชัดอาการแบบนี้เป็นปกติของผู้สูงอายุหรือเปล่าครับ?

A: อาการสั่นที่เห็นได้ชัดเจนและมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่มีอาการไหนที่ถือว่าปกติ ต้องดูว่าอาการสั่นนั้นเกิดจากโรคอะไร เพราะมีโรคในผู้สูงอายุ หลายโรคที่มีอาการสั่นซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นโรคพาร์กินสันเสมอไป

อาการสั่นในโรคพาร์กินสันจะสังเกตได้ง่าย คือ จะเริ่มสั่นข้างเดียวก่อน โดยร้อยละ 70 เริ่มที่มืออีกร้อยละ 30 เริ่มที่ขา บางรายริมฝีปากหรือคางสั่นแต่จะไม่สั่นทั้งศีรษะ นอกจากนี้อาการสั่นจะเกิดเฉพาะเวลาที่ผู้ป่วยอยู่เฉยๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเช่น ขณะนั่งดูโทรทัศน์ แต่เมื่อขยับร่างกายยกมือขึ้นปรากฏว่าอาการสั่นหายไป ซึ่งช่วงแรกๆ ผู้ป่วยอาจจะยังไม่รู้ตัว ฉะนั้นผู้สูงอายุที่มีอาการสั่นจนตักอาหารรับประทานไม่ได้ ตักแล้วหก กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

ถ้าคุณพ่อมีอาการนานกว่า 6 เดือนแล้ว และอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ควรพาท่านมาพบแพทย์โดยด่วนครับ

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs