แม้ว่าปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อส่วนใหญ่จะพบได้ทั่วไปในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของความชราที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด คุณก็ยังสามารถปกป้องกระดูกและข้อให้คงความแข็งแรงได้ ซึ่งวิธีที่แพทย์แนะนำคือ สะสมมวลกระดูกให้ได้มากที่สุดในช่วงวัย 30 และลดการสูญเสียมวลกระดูกให้ได้มากที่สุดหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเลยวัยสะสมมวลกระดูกไปแล้ว การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักอย่างการเดินหรือวิ่งเหยาะๆ เป็นประจำ ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีในปริมาณที่เหมาะสมจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการชดเชยเนื้อกระดูกที่สูญเสียไป โดยปริมาณความต้องการแคลเซียมและวิตามินดีที่เพียงพอต่อวันจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย
ทั้งนี้ อาหารที่ให้แคลเซียมสูง ได้แก่ นม โยเกิร์ต ชีส ปลาตัวเล็กทอด กุ้งแห้ง ผักคะน้า ใบยอ ดอกแค เต้าหู้แข็ง ถั่วแดง และงาดำ ส่วนวิตามินดีนั้นนอกจากจะได้รับจากแสงแดดแล้ว ยังพบได้ในนมเสริมวิตามินดี น้ำมันตับปลา ไข่แดง และปลาทะเลชนิดต่างๆ
เพราะปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อนั้นบั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก การเสริมสร้างกระดูกและข้อให้แข็งแรงจึงสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่ว่าคุณจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีความสุขในทุกช่วงวัย
ปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีที่ควรได้รับในแต่ละวัน สำหรับคนไทย
เมื่อต้องเสริมแคลเซียม
เนื่องจากในแต่ละช่วงวัย ร่างกายหรือสภาวะโรคต่างๆ มีความต้องการแคลเซียมไม่เท่ากัน ดังนั้นเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด ควรปฏิบัติดังนี้
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนว่าคุณมีความจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมจากอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีอนุมูลแคลเซียมเพียงพอและเหมาะสมทั้งรูปแบบและปริมาณ เนื่องจากในท้องตลาดมีหลายรูปแบบ
- เลือกรูปแบบที่เหมาะสม ทั้งแบบที่เป็นชนิดเม็ด ชนิดแคปซูล และเม็ดฟู่ละลายน้ำเหมาะสำหรับผู้มีปัญหาในการรับประทาน
- เลือกปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอและเหมาะสม ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างในรูปของเกลือของแคลเซียมชนิดต่างๆ เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมซิเทรต ไตรแคลเซียมฟอสเฟต แคลเซียมกลูโคเนต และแคลเซียมแล็กเทต เป็นต้น แต่ละชนิดจะให้ปริมาณแคลเซียมแตกต่างกัน และมีการดูดซึมแตกต่างกัน ซึ่งแพทย์และเภสัชกรควรจะต้องเป็นผู้คำนวณให้และเลือกอย่างเหมาะสม
- ผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินดีอยู่ด้วยจะช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ วิตามินดีทำหน้าที่คล้ายกับฮอร์โมน เพราะจะคอยควบคุมสมดุลของแคลเซียมในร่างกายให้เป็นปกติ ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ เมื่อใดที่แคลเซียมในเลือดลดต่ำ วิตามินดีจะทำงานโดยกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารหรือการสลายแคลเซียมจากกระดูก
- ผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมมีข้อควรระวังที่สำคัญในการรับประทาน ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมจะลดการดูดซึมของยาบางชนิดเมื่อได้รับพร้อมกันหรือห่างกันน้อยกว่า 2 ชั่วโมง เช่น ยาปฏิชีวนะผลิตภัณฑ์แร่ธาตุบางชนิด ยาลดความดัน เป็นต้น
- อาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารและทำให้ท้องผูกได้จึงควรรับประทานพร้อมผักและผลไม้ที่มีกากใย พร้อมทั้งดื่มน้ำตามมากๆ
การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่ปริมาณมากเกินไปหรือรูปแบบไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย ดังนั้นไม่ควรซื้อรับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 05 เมษายน 2565