bih.button.backtotop.text

ผู้สูงวัยกับการมองเห็น

วัยที่ล่วงเลยอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของความเสื่อมทางร่างกายหลายๆ ประการเช่นเดียวกับเรื่องของสุขภาพตา Better Health ฉบับนี้พาคุณไปคุยกับ พญ.อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาผู้สูงอายุ ถึงโรคตาและการมองเห็นในผู้สูงอายุ เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมตัวรับมือได้อย่างถูกต้อง 

ความผิดปกติของตาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

ภาวะตาแห้ง

ภาวะตาแห้ง คือภาวะที่น้ำหล่อเลี้ยงมีปริมาณไม่มากพอที่จะเคลือบให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ก่อให้เกิดการระคายเคืองในตาและแสบตา ภาวะตาแห้งเป็นภาวะที่พบไดบ่อยเมื่ออายุมากขึ้นเนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ต่อมไขมันเปลือกตาที่อุดตันได้ง่ายขึ้น ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป โรคประจำตัวที่ส่งผลให้ตาแห้ง อาทิ โรคไทรอยด์ โรคข้ออักเสบ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ยาลดความดันที่ออกฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งแพทย์ต้องวินิจฉัยโดยละเอียดเป็นกรณีไป


“อาการที่ปรากฏโดยมากคือ รู้สึกไม่สบายตา ตาแห้งหรือฝืดๆ ในตาเคืองตาหรือมีน้ำตาไหล รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา ซึ่งบางท่านอาจสงสัยว่ามีน้ำตาไหลแล้วตาจะแห้งได้อย่างไร ต้องเข้าใจว่าองค์ประกอบของน้ำตานั้นเปลี่ยนไป พอตาแห้งร่างกายจะกระตุ้นให้สร้างน้ำตาขึ้นมาเพื่อลดอาการเคืองตาทำให้มีน้ำตาไหลรื้นแต่ดวงตากลับไม่ชุ่มชื้น”

ต้อกระจก

ต้อกระจกเป็นการเสื่อมสภาพตามอายุ เกิดจากการที่เลนส์ตาขุ่นจนแสงที่เข้ามาในลกูตาลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการมองเห็น โรคตอ้กระจกเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ทั้งนี้อาจพบได้เร็วขึ้นในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการตามัว เห็นภาพซ้อน ตาสู้แสงไม่ได้ หรือมองไฟแล้วเห็นเป็นแสงกระจาย
 

การรักษาทำโดยการผ่าตัดสลายต้อและใส่เลนส์เทียม” พญ.อรทัยเล่า “ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันค่อนข้างพัฒนาไปมาก แพทย์จะใช้เครื่องมือเข้าไปสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์และใส่เลนส์เทียมเข้าไป การผ่าตัดก็เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กซึ่งผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็ว ยกเว้นในรายที่มีความซับซ้อนซึ่งการผ่าตัดต้องซับซ้อนมากขึ้น”

ต้อหิน

โรคต้อหินแม้จะมีอุบัติการณ์ไม่สูงมากเหมือนต้อกระจก แต่ก็พบได้ไม่น้อย โรคต้อหินคือโรคที่มีการเสื่อมของประสาทตาโดยมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความดันลูกตาเป็นสำคัญ จัดเป็นภัยเงียบที่คุกคามสายตาโดยที่ผู้ป่วยอาจไม่ทันรู้ตัว และอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
 

สาเหตุของโรคต้อหินโดยทั่วไปเกิดจากความดันในลูกตาที่สูงขึ้นจนมีการทำลายประสาทตา ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นต้อหินก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ เชื้อชาติ อายุ ภาวะสายตาสั้นมากๆ โรคประจำตัวบางชนิด อาทิ เบาหวาน” พญ.อรทัยอธิบาย
 

โรคต้อหินมักจะไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรก “อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ ลานสายตาผิดปกติ กล่าวคือการมองเห็นจำกัดวงแคบลงเริ่มจากความผิดปกติของการมองเห็นด้านข้างก่อน เกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่ทราบ เมื่อลานสายตาผิดปกติมากขึ้น ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการ เช่น เดินชนโต๊ะบ่อยๆ หรือมีปัญหาขณะขับรถเนื่องจากมองไม่เห็นด้านข้างและมักจะเป็นมากแล้ว” พญ.อรทัยกล่าว
 

ทั้งนี้เป้าหมายในการรักษาโรคต้อหินอยู่ที่การรักษาประสาทตาที่ยังเหลือให้คงอยู่ โดยทางเลือกในการรักษาจะมีตั้งแต่การใช้ยา การทำเลเซอร์ และการผ่าตัดตามแต่ชนิดและความรุนแรงของโรค
 

พญ.อรทัยเน้นว่า การตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยง การวินิจฉัย และให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มมีความสำคัญมากสำหรับโรคต้อหิน เพราะประสาทตาที่เสียไปแล้วไม่อาจฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้ “ในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปหรือผู้ที่มีความเสี่ยง แนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อหินหรือไม่ เพราะต้อหินโดยทั่วไปมักเป็นโรคเรื้อรังซึ่งเกิดจากการที่ความดันตาเพิ่มขึ้นช้าๆ จะไม่มีอาการใดให้สังเกตได้ ยกเว้น ในกรณีที่เป็นต้อหินแบบเฉียบพลันซึ่งความดันตาขึ้นสูงเฉียบพลัน จะมีอาการตามัว ตาแดง ปวดศีรษะ ปวดตารุนแรงซึ่งมากพอที่จะทำให้ผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์เพื่อรักษา แต่ต้อหินเฉียบพลันพบได้ไม่บ่อยนัก” 

โรคจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และมักพบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พญ.อรทัยอธิบายว่า “โรคจอประสาทตาเสื่อมมี 2 ชนิด ได้แก่ แบบเปียกและแบบแห้ง โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียกเกิดขึ้นจากการที่เมื่อจอประสาทตาเสื่อม ร่างกายจะมีการสร้างเส้นเลือดที่ผิดปกติขึ้นมาที่บริเวณจุดรับภาพ เส้นเลือดดังกล่าวมีความเปราะบาง แตกง่าย ทำให้มีเลือดออกที่จอประสาทตา ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวแบบเฉียบพลันและรีบมาพบแพทย์ ส่วนโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้งนั้นมักไม่เกิดอย่างเฉียบพลัน แต่เซลล์จอตาจะเสื่อมลงอย่างช้าๆ จนสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร”
 

การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมก็เช่นเดียวกับโรคต้อหินที่มีเป้าหมายอยู่ที่การชะลอความเสื่อมของจอประสาทตา กรณีเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก แพทย์อาจรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดพิเศษหรือฉีดยา เข้าไปในน้ำวุ้นลูกตาเพื่อยับยั้งการหลั่งสารที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดผิดปกติ ส่วนโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง แพทย์อาจให้รับประทานวิตามินสูตรเฉพาะเพื่อชะลอการเสื่อมลง แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยละเอียด “โรคจอประสาทตาเสื่อมในระยะแรกนั้นอาจไม่มีอาการใดๆ ให้สังเกตได้ จะทราบเมื่อมีการตรวจขยายม่านตาเท่านั้น เพราะฉะนั้นการเข้ารับการตรวจตาอย่างน้อยสักครั้งจะช่วยได้มากทีเดียว” พญ.อรทัยเน้นถึงความ สำคัญของการตรวจคัดกรองโรค 

เบาหวานขึ้นตา

โรคเบาหวานที่ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นกันมากนั้นส่งผลต่อเส้นเลือดทั่วร่างกายรวมทั้งเส้นเลือดในจอประสาทตา ซึ่งพญ.อรทัยอธิบายว่า โอกาสที่ผู้ป่วยเบาหวานจะเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเบาหวานและระยะเวลาที่เป็น เบาหวานทำให้ผนังเส้นเลือดมีความผิดปกติ อาจมีการโป่งพอง มีเลือดหรือของเหลวไหลซึม อยู่ในชั้นจอประสาทตา หรือเส้นเลือดตีบตัน
 

“ในระยะแรกนั้นผู้ป่วยอาจไม่พบอาการผิดปกติใดๆ หรือมีแต่ไม่ได้สังเกตเห็นเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยที่จอรับภาพ บางรายอาจมีอาการตามัวลงเนื่องจากจุดรับภาพบวมหรือตามัวมากแบบเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากมีเลือดออกในลูกตา หากเป็นมากๆ เกิดเป็นพังผืดที่จอประสาทตาขึ้น ก็มีโอกาสที่จอตาจะถูกดึงรั้งจนลอกหลุดออกมาได้”
 

โดยทั่วไปหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน พญ.อรทัยแนะนำให้มาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตา จะมีการขยายรูม่านตาตรวจประสาทตา ซึ่งจะทราบได้ว่ามีความผิดปกติที่ตาเกิดขึ้นแล้วหรือยัง
 

โรคตาสังเกตได้ยาก


การสังเกตความผิดปกติต่างๆ ด้วยตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่บางกรณี ด้วยลักษณะของตัวโรคทำให้โรคตาหลายโรคไม่สามารถสังเกตความผิดปกติในระยะแรกได้และต้องได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดเท่านั้นจึงจะทราบ พญ.อรทัยแนะนำว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองโรคตาอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อประเมินว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ส่วนความถี่ของการตรวจขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคน หากกรณีที่สังเกตได้ว่าการมองเห็นผิดปกติไปจากเดิมควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที
 

ความเสื่อมตามวัยนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคนและส่วนมากแล้วไม่อาจย้อนคืนได้ เตรียมตัวรับมืออย่างมีความรู้และเข้าใจตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นก้าวย่างที่สำคัญเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและมุมมองที่สดใสในวัยที่เพิ่มขึ้น

 
พญ.อรทัย สุวรรณพิมลกุล

“โรคตาหลายโรคไม่สามารถบอกความ ผิดปกติในระยะแรกได้ ต้องตรวจตาอย่างละเอียดเท่านั้นจึงจะทราบ” พญ.อรทัย สุวรรณพิมลกุล
 

คุณทราบหรือไม่
 

ความดันลูกตา หมายถึง ความดันของสารน้ำภายในลูกตา มีประโยชน์ในการช่วยให้ลูกตาคงรูปไว้ได้ ความดันตาเป็นค่าที่เกิดจากความสมดุลระหว่างการผลิตสารน้ำในลูกตาและการไหลเวียนออกของน้ำในช่องหน้าลูกตาส่วนหน้า เมื่อเกิดการอุดตันขึ้นการหมุนเวียนน้ำไม่สะดวกเป็นเหตุให้ความดันตาขึ้นสูงซึ่งโดยทั่วไปจะทราบได้จากการวัดความดัน ลูกตาด้วยเคร่ืองมือเท่าน้ัน
 

 

Premier Eye Examination 

การตรวจคัดกรองโรคตาอย่างละเอียดจะช่วยให้ทราบถึงสุขภาวะที่แท้จริงของดวงตา รวมทั้งช่วยประเมินความเสี่ยงของโรคที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นชั่วคราวหรือถาวร เพื่อจะได้วางแผนรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ แพ็กเกจ Premier Eye Examination ครอบคลุมการตรวจดังนี้
  • วัดระดับการมองเห็นด้วยการอ่านตัวเลขหรือตัวอักษร (visual acuity)
  • ตรวจคัดกรองตาบอดสี (Ishihara test)
  • ตรวจความโค้งของกระจกตาด้วยเครื่อง auto keratometer เนื่องจาก โรคบางอย่างจะมีความโค้งของกระจกตาผิดปกติ อาจเป็นสาเหตุให้สูญเสียการมองเห็น
  • ตรวจวัดความดันตาด้วยเครื่อง air puff tonometer
  • ตรวจคัดกรองโรคทางจอประสาทตา รวมถึงขั้วประสาทตา เช่น ต้อหิน เบาหวานขึ้นจอประสาทตาหรือโรคจุดรับภาพจอประสาทตาเสื่อมด้วยเครื่อองถ่ายภาพจอประสาทตาด้วยระบบดิจิตอล (fundus camera)
  • ตรวจลักษณะและรูปร่างของส่วนด้านหน้าของลูกตา ได้แก่ กระจกตา ช่องหน้าลูกตา ม่านตาและมุมตา ด้วยเครื่อง anterior segment OCT ซึ่งใช้ลำแสงพิเศษในการตรวจ เนื่องจากความผิดปกติบางอย่างอาจเป็นความเสี่ยงของโรคตาได้ เช่น มุมตาแคบมีโอกาสเกิดต้อหินเฉียบพลันได้
  • วัดความหนาของชั้นประสาทตา และแสดงความผิดปกติของเนื้อเยื่อ แต่ละชั้นของจอประสาทตา รวมถึงความผิดปกติของขั้วประสาทตา ด้วยเครื่อง spectral domain OCT ตรวจลานสายตา (frequency doubling perimetry) เพื่อตรวจว่ามองเห็นในมุมกว้างขนาดไหน มีความผิดปกติของการมองเห็นด้านข้าง หรือไม่ เช่น ในต้อหินผู้ป่วยมักสูญเสียการมองเห็นด้านข้างหรือรอบนอกในระยะแรก ซึ่งจะไม่มีอาการแสดงใดๆ นอกจากนี้การตรวจลานสายตาอาจบอกถึงความผิดปกติในสมองที่มีผลกระทบต่อตาได้

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs