bih.button.backtotop.text

ระบบการสร้างน้ำตาและทางระบายน้ำตาทำงานผิดปกติ

“น้ำตา” โดยทั่วไปอาจเป็นเพียงน้ำใสๆ ที่ไหลออกจากดวงตายามโศกเศร้าหรือปีติยินดีแต่เรื่องของน้ำตาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพนั้นมีอะไรมากกว่าที่คุณคิด

ระบบการสร้างและระบายน้ำตาทำงานอย่างไร และหากเกิดความผิดปกติจะส่งผลอย่างไรบ้าง นพ.ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้างและระบบท่อน้ำตามีรายละเอียดมาแบ่งปันกันใน Better Health ฉบับนี้  

ระบบต่อมน้ำตาและระบบการระบายของน้ำตา

น้ำตาสร้างจากต่อมสร้างน้ำตาส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายในเปลือกตาเปรียบได้กับฝักบัวที่พ่นน้ำออกมาหล่อลื่นไม่ให้เยื่อบุตาแห้ง ลดการเสียดสีขณะกะพริบตา ชะล้างฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจก่อความระคายเคืองให้กับตา

“ในภาวะปกติ น้ำตาที่ผลิตออกมาหล่อลื่นตาจะไหลระบายออกไปทางท่อระบายน้ำตาเล็กๆ ซึ่งอยู่บริเวณหัวตา ท่อระบายน้ำตามีรูเปิด 2 รูคือ ที่ขอบเปลือกตาบนและขอบเปลือกตาล่างทางด้านใน โดยทั้ง 2 รูนี้จะรวมกันเป็นท่อเดียวเพื่อเชื่อมต่อกับถุงน้ำตาผ่านลงมาภายในกระดูกโหนกแก้ม จนมาเปิดภายในจมูกและไหลผ่านลงคอตามลำดับ ทั้งหมดนี้เรียกว่า ระบบทางระบายของน้ำตา” นพ.ณัฐวุฒิเริ่มต้นอธิบาย

ระบบการสร้างและระบบทางระบายน้ำตาที่ทำงานเป็นปกติย่อมก่อให้ เกิดความรู้สึกสบายตา แต่หากระบบการสร้างน้ำตาและระบบระบายน้ำตาทำงานผิดปกติก็จะส่งผลให้เกิดอาการไม่สบายตาต่างๆ ขึ้นได้ เช่น เคืองตา แสบตา ตาแห้ง หรือมีน้ำตาไหลคลออยู่ตลอดเวลา

โรคเกี่ยวกับน้ำตา

โรคตาที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมน้ำตาที่พบได้บ่อยมีสองลักษณะคือ มีน้ำตาน้อยเกินไป ได้แก่ ภาวะตาแห้งหรือกลุ่มอาการที่มีการอักเสบของผิวนัยน์ตา (ocular surface disease) และมีน้ำตามากเกินไป ได้แก่ ภาวะท่อน้ำตาอุดตัน (nasolacrimal duct obstruction) ซึ่งหากตรวจพบและรักษาเร็ว ก็จะสามารถชะลอความเสียหายที่อาจเกิดกับต่อมน้ำตา นัยน์ตา และท่อน้ำตาได้ 

ตาแห้ง

เป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคตา "ร้อยละ 70-80 ของผู้ป่วย นอกที่มาพบจักษุแพทย์มักมาด้วยอาการเคืองตา ไม่สบายตา ซึ่งเมื่อซักอาการแล้วก็พบว่าเป็นโรคตาแห้งทั้งสิ้น" นพ.ณัฐวุฒิเล่า

ตาแห้งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ จากความเสื่อมของต่อมน้ำตาตามวัยหรือความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกายโดยเฉพาะในเพศหญิง ซึ่งทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง การใส่คอนแทคเลนส์ สภาพแวดล้อมที่มีแต่มลพิษทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ที่ตา รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน เช่น การจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานเกินไป 

อาการ

ผู้ป่วยโรคตาแห้งมักมีอาการคันหรือเคืองคล้ายมีทรายหรือฝุ่นอยู่ในตาบริเวณตาขาวมีสีแดงจากการอักเสบ ขอบเปลือกตาแดง แพ้แสง แพ้ลม ตามัวเป็นบางขณะและรู้สึกไม่สบายตาตอนตื่นนอน ซึ่งหากปล่อยไว้ในระยะยาวอาการเคอืงตาจะยิ่งรุนแรงขึ้นเกิดการอักเสบและการดึงรั้งของเปลือกตาทำให้ขนตาลงมาทิ่มตา ท้ายที่สุดหากเกิดการระคายเคืองจนกระจกตาเป็นแผลอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขในที่สุด
 

“มีคนเปรียบเทียบภาวะตาแห้งว่าคล้ายกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหัวใจซึ่งเจ็บหน้าอกอยู่ตลอดเวลา เพราะภาวะตาแห้งนั้นอาจเป็นตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ผลที่ตามมาคือประสิทธิภาพและความอดทนในการทำงานจะลดลง ไม่อยากอ่านหนังสือ ไม่อยากใช้สายตา ไม่อยากทำงาน” นพ.ณัฐวุฒิอธิบาย

8 อาวุธสู้ภาวะตาแห้ง

เดิมแพทย์นิยมใช้น้ำตาเทียมและสเตียรอยด์หยอดตาเพื่อบรรเทาภาวะตาแห้ง แต่ไม่ได้ผลในระยะยาว การรักษาในปัจจุบันจึงเน้นไปที่การวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการในเชิงลึก โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีในการตรวจต่อมน้ำตาเข้ามาใช้เพื่ออธิบายความรุนแรงของอาการแก่ผู้ป่วย และแนะนำวิธีการดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการให้เหลือน้อยที่สุด

สำหรับการรักษาภาวะตาแห้งนี้ นพ.ณัฐวุฒิอธิบายว่าเป็นการ “สู้กับโรคด้วย 8 อาวุธ” ซึ่งได้แก่

  1. การตรวจต่อมน้ำตาไมโบเมียน (meibomian gland) ซึ่งอยู่ภายในเปลือกตาด้วยกล้องชนิดพิเศษ(meibography) เพื่อดูความเสียหายของต่อมน้ำตาว่าเสียหายมากน้อยเพียงใด
  2. ใช้น้ำตาเทียม (artificial tear) เพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
  3. ใช้ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์ ออกฤทธิ์กดและลดการอักเสบผิวนัยน์ตาหรือผิวเยื่อบุตาและช่วยบรรเทาอาการคันระคายเคืองตา (การใช้ยาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์)
  4. ฟอกเปลือกตา (eyelid hygiene) เป็นการทำความสะอาดเปลือกตาด้วยน้ำยาพิเศษ เพื่อฆ่าเชื้อโรคหรือตัวไร (Demodex blepharitis) ตามขนตา
  5. ประคบน้ำอุ่น (warm compression) อุณหภูมิประมาณ 41-43 องศาเซลเซียส เป็นประจำเช้า-เย็น
  6. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดการเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน และพักสายตาเป็นระยะๆ
  7. เสริมด้วยการรับประทานอาหารจำพวกปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อเพิ่มคุณภาพของน้ำตา
  8. รักษาการอักเสบที่ตัวต่อมน้ำตาไมโบเมียน (meibomian gland) ด้วยการอาศัยฤทธิ์ลดการอักเสบของยาปฏิชีวนะกลุ่ม doxycycline หรือ azithromycin


“ถ้าทำได้ทั้งหมดนี้ก็จะช่วยเพิ่มความสำเร็จในการรักษาได้ถึงร้อยละ 80-90 เว้นแต่ความเสื่อมของต่อมน้ำตาตามวัยที่ไม่สามารถรักษาได้”

ทั้งนี้ นพ.ณัฐวุฒิย้ำว่า ต่อมน้ำตาที่เสียหายแล้วไม่อาจทำให้กลับมาดีได้เหมือนเดิม การรักษาจึงเป็นเพียงการถนอมส่วนที่เหลืออยู่ ดังนั้นยิ่งรักษาเร็วเท่าใดก็จะยิ่งชะลอความเสียหายที่จะเกิดกับต่อมน้ำตาได้มากเท่านั้น

ท่อน้ำตาอุดตัน

เป็นภาวะอุดตันในท่อน้ำตาทำให้น้ำตาไม่สามารถระบายออกได้ ผู้ป่วยจึงมีอาการน้ำตาคลอหรือน้ำตาไหลตลอดเวลา โดยทั่วไปแล้วท่อน้ำตาอุดตันแบ่งออกได้เป็น 3 แบบขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่อุดตัน ได้แก่

  1. อุดตันที่ลิ้นเปิดปิดในท่อน้ำตา ส่วนใหญ่พบในเด็กแรกเกิดที่ลิ้นเปิดปิดไม่ยอมเปิดออก
  2. อุดตันที่กลางท่อน้ำตาซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุ หรือเกิดอักเสบติดเชื้อที่ตาบ่อยๆ
  3. อุดตันที่รูเปิดระบายของท่อน้ำตาเกิดได้กับผู้ใหญ่ทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่เยื่อบุตาอักเสบบ่อยๆ จนเป็นพังผืด เช่น ตาแดง เคืองตาบ่อยๆ หรือใช้ยาหยอดตาบางชนิดเป็นเวลานาน

อาการ

นอกจากมีน้ำตาคลอหรือน้ำตาไหลตลอดเวลาแล้ว บางรายอาจพบขี้ตามากผิดปกติ แต่อาจจะมีหรือไม่มีอาการเจ็บหรือเคืองตาก็ได้

“อาการน้ำตาไหลล้นไม่เพียงทำให้เสียบุคลิกและเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น เพราะหากปล่อยไว้ให้ท่อน้ำตาอุดตันนานๆ ฝุ่นละอองและของเสียจะคั่งและสัมผัสกระจกตาและเยื่อบุตาทำให้เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบเรื้อรังได้ เมื่อการอักเสบลุกลามเป็นเวลานานอาจกระตุ้นทำให้เปลือกตาอักเสบซ่อนเร้นเป็นระยะเวลานานจนกระตุ้นให้ขนตาทิ่มหรือเป็นหนองในท่อน้ำระบายน้ำตาได้ บางคนถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ ไม่รักษาก็จะเกิดหนองและบวมรุนแรงบริเวณระบบระบายน้ำตาหรือลุกลามเข้าดวงตาหรือเบ้าตาได้” นพ.ณัฐวุฒิกล่าว

การรักษาท่อน้ำตาอุดตัน

+ สำหรับเด็กทารก โดยทั่วไปแพทย์จะรักษาด้วยการนวดบริเวณที่ท่อน้ำตาอุดตันก่อน เพื่อให้เยื่อบางๆ ที่ขวางลิ้นเปิดปิดในท่อน้ำตาเปิดออก ซึ่งร้อยละ 90 จะหายเป็นปกติได้เองภายในหนึ่งปีหรือหนึ่งปีครึ่ง หากยังไม่หายในช่วงขวบปีแรก แพทย์จะใช้วิธีการแยงท่อน้ำตา ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักหายขาด ในกรณีที่เป็นซ้ำอาจใช้วิธีแยงท่อน้ำตาซ้ำและใส่ท่อซิลิโคนคาไว้ในระบบระบายน้ำตา แตถ้ารักษาทุกวิธีแล้วยังไม่ได้ผล เมื่อเด็กอายุครบ 3-4 ขวบ อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดทำทางระบายเพื่อถ่ายเทของเสีย และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมา

+ สำหรับผู้ใหญ่  ไม่สามารถแยงท่อน้ำตาได้เหมือนในเด็กเนื่องจากพังผืดภายในระบบท่อระบายน้ำตามักจะหนา การรักษาท่อน้ำตาอุดตันจึงต้องใช้วิธีการผ่าตัดซึ่งมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่
 

การผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันแบบดั้งเดิม เป็นวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐานคือเปิดแผลจากด้านนอกบริเวณข้างของจมูก ขนาดแผลประมาณ 1.5 เซนติเมตร และทำทางระบายท่อน้ำตาใหม่ ซึ่งวิธีนี้แผลอาจหายช้าและทำให้เกิดแผลเป็นถาวรได้

การผ่าตัดส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดโดยการส่องกล้องขนาดเล็กที่เรียกว่าเอ็นโดสโคป (endoscope) เข้าไปในช่องจมูกเพื่อผ่าตัดทางเชื่อมท่อน้ำตาและทำทางระบายท่อน้ำตาใหม่ ซึ่งวิธีนี้จะไม่มีแผลผ่าตัดให้เห็นจากทางด้านนอก ฟื้นตัวได้เร็วกว่า และแผลหายเร็วกว่าการรักษาแบบดั้งเดิม แต่การรักษาวิธีนี้จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของจักษุแพทย์เฉพาะทาง

นอกจากนี้แล้ว ปัญหาของระบบน้ำตาผิดปกติ ยังรวมถึงท่อน้ำตาอุดตันร่วมกับภาวะตาแห้งในคราวเดียว ซึ่งผู้ป่วยจะมีภาวะตาแห้งรุนแรงแต่มีน้ำตาเอ่อ เนื่องจากตาแห้งมากจนผิวลูกตาร้อน อักเสบ และเกิดการระคายเคืองทำให้มีน้ำตาเอ่ออยู่ตลอดเวลาได้

“ภาวะตาแห้งที่ซ่อนอยู่ในภาวะท่อน้ำตาอุดตันเป็นปัญหาซับซ้อนที่ต้องได้รับการแก้ไขต่อเนื่องกันไป แต่ส่วนใหญ่เมื่อผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันแล้วก็จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบของผิวนัยน์ตาได้ในระดับหนึ่ง เพราะเมื่อทำให้ของเสียไหลระบายออกไปได้ก็เท่ากับตัดวงจรของโรคที่อักเสบเรื้อรังอยู่ แต่การรักษาภาวะตาแห้งที่เกิดจากโรคต่อมที่เปลือกตาอักเสบ (meibomian gland dysfunction) ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องต่อไป” นพ.ณัฐวุฒิอธิบายทิ้งท้าย

เรื่องของระบบน้ำตาอาจไม่ใช่ปัญหาสุขภาพรุนแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แต่หากนิ่งนอนใจไม่ดูแลแต่เนิ่นๆ ก็อาจลุกลามเป็น ปัญหาใหญ่ได้เช่นกัน

นพ. ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง

“ร้อยละ 70-80 ของผู้ป่วยนอก ที่มาพบจักษุแพทย์มักมาด้วย อาการเคืองตา ไม่สบายตา ซึ่งเมื่อซักอาการแล้วก็พบว่าเป็นโรคตาแห้งทั้งสิ้น” นพ.ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง
 

ตัว (อะ) ไรที่โคนขนตา ?

ผิวหนังของคนเรามีตัวไร 2 ชนิดอาศัยอยู่ คือ ตัวไรในต่อมขน และตัวไรของต่อมไขมัน ตัวไรเหล่านี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์พบว่ามีลักษณะคล้ายหนอน มีหัว มีหาง มีแปดขา ผู้ที่มีภาวะตาแห้งมักพบตัวไรเหล่านี้บริเวณโคนขนตาค่อนข้างมาก บางเส้นมีมากถึง 3-5 ตัว เนื่องจากตัวไรมากินคราบไขมันที่เกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตาที่ขอบเปลือกตาและเพิ่มจำนวนขึ้น เกิดเป็นวงจรการอักเสบไม่สิ้นสุด การทำความสะอาดเปลือกตาจะช่วยตัดวงจรนี้ และทำให้ภาวะตาแห้งดีขึ้นได้

 

เรื่องของน้ำตา

  • น้ำตามี 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นไขมันอยู่ด้านนอกสุด ชั้นสารน้ำอยู่ตรงกลาง และชั้นเมือกเป็นชั้นในสุดอยู่ติดกับกระจกตา
  •  น้ำตามี 3 ชนิดคือ น้ำตาที่ให้ความชุ่มชื้นซึ่งผลิตออกมาตลอดเวลา น้ำตาที่ไหลเมื่อเกิดการระคายเคือง และน้ำตาจากอารมณ์ความรู้สึก
  •  น้ำตาจากอารมณ์ความรู้สึกมีสารประกอบแตกต่างจากน้ำตาชนิดอื่นๆ และการร้องไห้เป็นวิธีที่ร่างกายใช้ในการขจัดสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับความเครียดออกไป
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs