bih.button.backtotop.text

โรคตาในเด็ก ปล่อยทิ้งไว้อาจสายเกินแก้

โรคตาในเด็กมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากโรคตาของผู้ใหญ่ หลายโรคสามารถตรวจพบและรักษาได้แต่เนิ่นๆ ช่วยไม่ให้โรคพัฒนารุนแรงไป จนหมดทางแก้ไข Better Health ฉบับนี้พูดคุยกับ รศ.พญ.สุดารัตน์ ใหญ่สว่าง จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาเด็ก เกี่ยวกับโรคตาในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อาจมองข้าม เพราะสุขภาพตาและการมองเห็นเป็น ส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตของบุตรหลาน 

พัฒนาการทางสายตาของเด็กไม่อาจมองเห็นได้โดยง่ายเหมือนพัฒนาการทางร่างกาย ปัญหาโรคตาในเด็กจึงต้องอาศัยการสังเกตอย่างใกล้ชิดร่วมกับการตรวจคัดกรองโรคตามระยะเวลาที่เหมาะสม

ช่วงเวลาทองของการดูแล


รศ.พญ. สุดารัตน์ ใหญ่สว่าง การดูแลสุขภาพตาเด็กนั้นมีช่วงเวลาเฉพาะที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษนั่นคือ ก่อนที่เด็กจะอายุ 8-9 ขวบ ซึ่งแพทย์ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เปราะบาง และหากมีโรคที่ขัดขวางพัฒนาการของสายตาเกิดขึ้นก็จะต้องรีบรักษาอย่างทันท่วงที เพราะเมื่อสายตาหยุดพัฒนาแล้วจะไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้อีก

รศ.พญ.สุดารัตน์อธิบายถึงพัฒนาการด้านการมองเห็นของเด็กว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อเด็กอายุได้ 3-6 เดือน โดยเด็กจะเริ่มใช้ตาสองข้างพร้อมกัน เริ่มมองเห็นสี เหน็ภาพสามมิติ และสามารถกะระยะได้

“3 เดือนแรกดวงตาของทารกจะล่องลอยไปมาเหมือนตาเข เพราะดวงตาสองข้างไม่ได้ใช้งานร่วมกัน ฉะนั้นแพทย์จะวินิจฉัยโรคตาเขได้เมื่อผ่าน 3 เดือนไปแล้ว และถ้าจะวัดการมองเห็นที่ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ก็ต้องรอจนอายุ 6 เดือน ซึ่งพัฒนาการนี้จะดำเนินไปจนสมบูรณ์เต็มที่เมื่อเด็กอายุได้ 8-9 ขวบ”

ความผิดปกติที่พบได้บ่อย

ปัญหาสายตาและการมองเห็นที่พบได้บ่อยในเด็กและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ได้แก่

ภาวะสายตาผิดปกติ ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ทั้งที่เกิดจากกรรมพันธุ์และที่เป็นตั้งแต่วัยยังน้อยๆ ซึ่งเด็กมักไม่สามารถบอกถึงความผิดปกติของสายตาตัวเองได้ ผู้ใหญ่จึงต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆ ว่ามีอาการเพ่งหรือหยีตาเวลามองต้องมองใกล้มากๆ หรือ ขยี้ตาบ่อยๆ หรือไม่ กรณีสายตาผิดปกตินี้แพทย์จะแก้ไขโดยให้เด็กใส่แว่นซึ่งสามารถใส่ได้ตั้งแต่ก่อนหนึ่งขวบ

ตาเข ตาเขหรือตาเหล่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์และภาวะสายตาผิดปกติที่ทำให้กล้ามเนื้อตาแต่ละข้างทำงานไม่สมดุลกัน “หลายคนคิดว่าตาเขไม่ใช่เรื่องร้ายแรงและหายเองได้เมื่อเด็กโตขึ้น หรือเห็นว่าเป็นปัญหาเรื่องความสวยงามเท่าน้ันรอไปรักษาตอนโตก็ได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะเมื่อตาข้างที่เขนั้นไม่ได้อยู่ในแนวตรง เด็กก็จะใช้แต่ตาข้างตรงข้างเดียว ส่วนตาข้างที่เขนั้นเมื่อไม่ได้ใช้นานเข้าก็จะเริ่มมัวเกิดเป็นภาวะตาขี้เกียจได้” รศ.พญ.สุดารัตน์อธิบาย

ส่วนแนวทางการรักษาภาวะตาเขนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคโดยอาจให้ใส่แว่นตา หรือผ่าตัดแก้ไขให้ตาเขกลับมาตรงเป็นปกติ

สายตาขี้เกียจ หมายถึง การมองภาพด้วยตาข้างเดียวซึ่งพบได้ในเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 8 ปีโดยประมาณ มักเกิดจากภาวะตาเขและสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้นมาก ยาวมาก หรือเอียงมากที่ไม่ได้รับการแก้ไขให้ทันเวลา ยิ่งตาข้างหนึ่งผิดปกติมากกว่าอีกข้างหนึ่งก็ยิ่งมีโอกาสเกิดตาขี้เกียจได้มาก เพราะเด็กจะใช้เฉพาะตาข้างที่ดีและปล่อยให้ตาอีกข้างมัวไปเรื่อยๆ

“มีหลายกรณีที่เด็กบ่นว่าตามัวมองไม่เห็นกระดานแต่พ่อแม่ไม่ได้สนใจ กว่าจะพามาหาหมอก็เมื่อเด็กบ่นมา 2-3 ปีซึ่งก็เป็นวัยใกล้ 8 ขวบ หรือบางรายกว่าจะพามาก็ 10-11 ขวบเกิดเป็นโรคตาข้ีเกียจแล้ว”


โรคสายตาขี้เกียจถือเป็นโรคที่รุนแรงโรคหนึ่ง เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้จนเด็กโตแล้วจะไม่สามารถแก้ไขให้การมองเห็นกลับคืนมาเหมือนเดิมและเด็กอาจมีอาการตามัวอย่างถาวร แต่ถ้ายังอยู่ในช่วงที่เด็กยังมีพัฒนาการด้านการมองเห็นอยู่ แพทย์จะกระตุ้นตาข้างที่ผิดปกติให้ใช้งานมากขึ้น เช่น ปิดตาข้างที่ดี หรือหยอดตาข้างที่ดีให้มัวเพื่อบังคับให้เด็กใช้ตาอีกข้างหนึ่ง


หนังตาตกแต่กำเนิด เกิดจากกล้ามเนื้อเปลือกตาอ่อนแรงซึ่งอาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ หากตกทั้งสองข้างเด็กจะใช้วิธีแหงนหน้าขึ้นมองเพื่อให้เห็นภาพได้ถนัด แต่ถ้าตกข้างเดียวจนบังรูม่านตาก็จะทำให้เกิดตาขี้เกียจได้เพราะเด็กจะใช้เฉพาะตาข้างที่มองเห็น ซึ่งในกรณีนี้แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดยกหนังตาขึ้น


มะเร็งจอตาในเด็ก จัดเป็นโรคตาในเด็กที่ร้ายแรงที่สุด โดยอาการของโรคที่พบได้บ่อยคือมีลักษณะตาวาวสีขาวๆ กลางตาดำ ซึ่งอายุเฉลี่ยของเด็กที่ตรวจพบและวินิจฉัยโรคได้จะอยู่ที่ประมาณ 1-3 ขวบเท่านั้น ดังนั้นผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตาอย่างละเอียดทันที

ตรวจคัดกรอง จำเป็นกว่าที่คิด

เนื่องจากโรคตาในเด็กต้องได้รับการแก้ไขในช่วงเวลาที่ยังสามารถทำได้ การตรวจคัดกรองโรคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยช่วงอายุที่เหมาะสม ควรเริ่มตั้งแต่ 3-6 เดือน จากนั้นจึงตรวจอีกครั้งในวัยแรกเข้าอนุบาลคือประมาณ 3 ขวบ และเริ่มต้นชั้นประถมคือประมาณ 6 ขวบ เว้นแต่กรณีที่พ่อแม่มีประวัติโรคตาซึ่งจัดเป็นความเสี่ยงที่ควรพาเด็กมาพบแพทย์เร็วกว่ากำหนด “การตรวจวินิจฉัยโรคตาในเด็กอาจต่างจากการตรวจผู้ใหญ่ เนื่องจากบางครั้งเด็กไม่ให้ความร่วมมือเพราะกลัวว่าหมอจะทำเขาเจ็บ หรือการตรวจบางอย่างเด็กเล็กจะยังทำไม่ได้ เช่น การตรวจการมองเห็นสามมิติหรือการตรวจลานตาที่เด็กต้องตอบคำถามเอง ฉะนั้นจักษุแพทย์เด็กจึงต้องเลือกใช้เทคนิคที่เหมาะสมสำหรับเด็กเป็นรายๆ ไป” รศ.พญ.สุดารัตน์กล่าวทิ้งท้าย

แม้การตรวจครั้งแรกจะไม่พบความผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาลูกมาตรวจตาตามกำหนดเพราะการดูแลสุขภาพตาคือการสร้างความมั่นใจว่าเด็กจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคตนั่นเอง
 

สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต ปัญหาใหญ่ของสายตาเด็ก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมีผลต่อสายตาและการมองเห็นของเด็กๆ โดยส่วนหนึ่งของปัญหาที่พบ ได้แก่              

  • จำนวนเด็กที่สายตาสั้นมีมากขึ้น ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 15 ปีสายตาสั้นถึงร้อยละ 30*
  • เด็กสายตาสั้นตั้งแต่อายุน้อยๆ และสั้นเพิ่มเร็วขึ้นมากในแต่ละปี
  • เกิดภาวะสายตาสั้นเทียมซึ่งเกิดจากการใช้สายตาเพ่งดูใกล้จอมากจนเกินไป
  • เด็กมีอาการแพ้แสง คือตาแห้ง ตาแดงก่ำ มีน้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้

ข้อแนะนำสำหรับปัญหานี้คือ ไม่ควรปล่อยให้เด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอนานเกินไปแต่ควรจำกัดเวลาให้เด็กใช้เท่าที่จำเป็น เช่น 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แล้วให้หยุด รวมถึงไม่ควรให้เด็กใช้อุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กเกินไปหรือใช้ในที่แสงน้อยเพราะเด็กจะต้องเพ่งมากอาจทำให้เกิดอาการตาแห้งและอักเสบตามมาได้

* ข้อมูลจากสำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:



แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs