bih.button.backtotop.text

ที่ว่าใช่ อาจไม่แน่ แก้ไขความเข้าใจผิดเรื่องกระดูกและข้อ

ที่ว่าใช่ อาจไม่แน่ แก้ไขความเข้าใจผิดเรื่องกระดูกและข้อ

คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เข้าใจเกี่ยวกับกระดูกและข้อนั้นถูกต้อง....โดย นพ. สิริพงศ์ รัตนไชย
 
การดูแลสุขภาพร่างกายอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการมีสุขภาพดี แต่การจะดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมนั้นจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในยุคที่ทุกคนสามารถส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันได้อย่างอิสระเช่นทุกวันนี้ ยังมีข้อมูลอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการกลั่นกรอง ลองมาดูกันว่าเรื่องราวของกระดูกและข้อที่หลายคนมักเข้าใจผิดนั้นมีอะไรบ้าง

1. กระดูกร้าวไม่น่ากังวลเท่ากระดูกหัก

ไม่ว่าจะเป็นกระดูกร้าวหรือกระดูกหักก็เป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น เพราะเป็นภาวะที่ส่งผลให้ผิวกระดูกที่เคยราบเรียบเกิดการแตกร้าวขึ้น กรณีที่ไม่รุนแรง ความเสียหายอาจไม่ลึกถึงขั้นทำให้กระดูกหักแยกออกจากกัน ส่วนกรณีร้ายแรงก็อาจทำให้กระดูกแยกออกจากกันไปเลย แต่ไม่ว่าจะกระดูกหักหรือร้าวข้อเท็จจริงคือ ความเสียหายเกิดขึ้นแล้วและต้องมีการรักษาฟื้นฟูให้กระดูกกลับมาใช้งานได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด การรักษาอย่างเหมาะสมภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ 
 

2. เมื่อกระดูกพัฒนาจนสมบูรณ์แล้วก็จะไม่เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาต่อไปอีก


กระดูกของผู้ใหญ่ที่พัฒนาเต็มที่แล้ว ไม่ได้มีลักษณะตายตัวดังเช่นที่เห็นในแผ่นภาพทางการศึกษาที่เราดูกันในชั่วโมงวิทยาศาสตร์ แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เซลล์ออสติโอบลาสต์หรือเซลล์สร้างเนื้อกระดูก จะตอบสนองต่อแรงเครียด (Stress) และสร้างกระดูกเพิ่มให้แข็งแรงกว่าเดิมโดยเฉพาะบริเวณข้อต่อที่รับน้ำหนัก การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (Weight-bearing exercise) อย่างเช่นการเดินหรือวิ่งเหยาะ ๆ จึงเป็นการกระตุ้นการสร้างกระดูกใหม่และเป็นเรื่องที่แพทย์แนะนำเพื่อป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน
 

3. เมื่อกระดูกพรุน คุณจะรู้สึกได้เพราะจะปวดกระดูกบ่อย ๆ


เรื่องนี้มีการเข้าใจผิดกันมาก ถ้าไม่มีการแตกหักเกิดขึ้นละก็ โรคกระดูกพรุนไม่ได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแต่ประการใด โรคกระดูกพรุนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระดูกอ่อนแอลง เนื่องจากมีการสูญเสียมวลกระดูกไปอย่างต่อเนื่องจัดเป็นภาวะซ่อนเร้น ค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งยังไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ให้ทราบได้ วิธีการเดียวที่จะทราบได้ คือการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก โดยเริ่มตั้งแต่วัย 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นการป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ได้ผลดีประการหนึ่ง
 

4.โรคปวดข้อ ข้ออักเสบเป็นเรื่องของคนสูงอายุ


ข้ออักเสบไม่ใช่โรคของคนสูงวัยเสมอไป ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ใหญ่และวัยกลางคนล้วนแล้วแต่มีโอกาสปวดข้อ และข้ออักเสบได้เช่นเดียวกัน จริงอยู่ที่ว่าข้ออักเสบจากภาวะข้อเสื่อมเนื่องจากใช้งานมานานอาจเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ข้ออักเสบและเจ็บปวด แต่ต้องไม่ลืมว่าข้ออักเสบยังเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ข้ออักเสบ รูมาตอยด์ ข้ออักเสบจากโรคเกาต์ ข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน รวมทั้งอุบัติเหตุและการติดเชื้อ ฯลฯ ซึ่งสาเหตุของข้ออักเสบเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย
 

5. เมื่อเป็นข้ออักเสบ อย่า...


แม้ภาวะข้ออักเสบอาจทำให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไม่คล่องตัวเหมือนเคยแต่ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยจะทำอะไรไม่ได้เลย ด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย ผู้ดูแลอาจมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติต่อผู้ป่วยเสมือนหนึ่งเป็นผู้พิการ หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ การให้การดูแลอย่างดีเป็นเรื่องสำคัญ แต่อย่า “ปกป้องจนเกินกว่าเหตุ” จนทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิงผู้อื่นตลอดเวลา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล
 
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
8.00-20.00  (BKK Time)
Hotline tel. +662 011 3092
20.00-8.00 (BKK Time)
เบอร์ Contact center +662 066 8888 และ 1378

 

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

ที่ว่าใช่ อาจไม่แน่ แก้ไขความเข้าใจผิดเรื่องกระดูกและข้อ
คะแนนโหวต 8.4 of 10, จากจำนวนคนโหวต 5 คน

Related Health Blogs