bih.button.backtotop.text

Q & A การควบคุมอาการของโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน โรคไต

การควบคุมอาการของโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไตนั้น นอกจากการใช้ยาแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตไปจากเดิม

การควบคุมอาการของโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไตนั้น นอกจากการใช้ยาแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตไปจากเดิม ซึ่งหลายครั้งที่มักมีคำถามตามมา พบคำตอบที่จะช่วยให้การมีชีวิตอยู่กับโรคเรื้อรังเป็นไปอย่างราบรื่นจาก พญ. นภิสวดี ว่องชวณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ใน Better Health ฉบับนี้


Q: ตอนนี้กำลังรับประทานยาลดความดันโลหิต ซึ่งก็ได้ผลดีค่ะ แต่รู้สึกว่าไม่อยากจะพึ่งยาไปตลอด ถ้าหยุดรับประทานยาจะเป็นอะไรหรือเปล่าคะ
  
A: กรณีนี้ ต้องขึ้นอยู่กับว่ามีอาการของอวัยวะที่เริ่มเสื่อมจากความดันโลหิตสูงหรือไม่ เช่น โรคหัวใจ ไตเสื่อม เส้นเลือดในสมองตีบ เป็นต้น ถ้ายังไม่มี ประกอบกับมีการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันให้ดีขึ้น เช่น เลิกบุหรี่ และควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด ก็มีบ้างเหมือนกันที่หยุดยาได้ แต่เป็นส่วนน้อย เพราะหากอวัยวะต่าง ๆ เริ่มแสดงอาการจากความดันโลหิตสูงแล้ว ก็จำเป็นต้องกินยาต่อ เพราะยาบางตัวไม่ได้ลดความดันเพียงอย่างเดียว แต่ช่วยเยียวยาส่วนอื่น ๆ ภายในร่างกายด้วย
นอกจากนี้ยาลดความดันโลหิตบางตัว เช่น โคลนิดีน และเบต้าบล็อคเกอร์หากหยุดทันทีจะทำให้ความดันขึ้นหรือที่เรียกกันว่า “รีบาวด์”แบบนี้ผู้ป่วยจะหยุดยาเองไม่ได้ ต้องปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์ก็จะใช้วิธีค่อย ๆ ลดยาลงแต่ก็เฉพาะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เพราะโดยปกติแพทย์จะไม่แนะนำให้ลดยาอยู่แล้ว


Q: เพื่อนของดิฉันต้องเลิกรับประทานของโปรดทุกชนิดเพราะต้องการควบคุมคอเรสเตอรอล แต่ดิฉันเห็นว่าแทนที่จะคุมอาหารเช่นนี้ น่าจะใช้วิธีกินยาควบคุมคอเรสเตอรอลแล้วก็รับประทานตามที่ใจต้องการ ชีวิตน่าจะมีความสุขกว่า อยากถามว่า ในทางการแพทย์แล้ว วิธีของดิฉันสามารถทำได้หรือไม่คะ

A: มีบางคนเหมือนกันที่ไม่อยากคุมอาหารทำให้ต้องใช้ยา แต่ก็แน่นอนว่าต้องรับประทานยามากกว่าคนที่คุมอาหาร ซึ่งตามหลักการแล้ว ไม่ควรทำถ้าเป็นนาน ๆ ครั้งก็ยังพอจะเพิ่มยาได้ไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าทำเป็นประจำวัน เช่น อาทิตย์ละสี่ครั้ง อันนี้ก็ต้องดูระดับคอเรสเตอรอลว่าทำได้ตามที่ตั้งไว้หรือเปล่า และแน่นอนว่าเมื่อเพิ่มปริมาณยาผลข้างเคียงของยาก็จะเพิ่มตามไปด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่อาการกล้ามเนื้ออักเสบ ตับอักเสบ หรืออาการอื่น ๆ ได้นอกจากนี้ ยาคุมคอเรสเตอรอลจะช่วยได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าจะเพิ่มปริมาณไปเท่าไหร่ ในขณะที่ผลข้างเคียงจะมากขึ้นตามปริมาณยาที่ได้รับ


Q: เราสามารถล้างไตเองที่บ้านได้หรือไม่ครับ ถ้าทำได้ จะมีข้อแนะนำ หรือข้อควรละเว้นอะไรบ้าง

A: การล้างไตแบบที่ผู้ป่วยสามารถทำที่บ้านได้ เรียกว่า เพอริโตเนียลไดอาไลซิส ซึ่งผู้ป่วยจะต้องได้รับการฝึกฝน ให้ล้างไตโดยการนำน้ำยาใส่เข้าไปในบริเวณเยื่อบุช่องท้องผ่านทางสายยาง และแช่ทิ้งไว้เพื่อให้มีกาแลกเปลี่ยนของเสียระหว่างเส้นเลือดกับน้ำยาในช่องท้อง ก่อนจะถ่ายน้ำยาทิ้ง 

ข้อเสียของวิธีนี้คือ มีโอกาสติดเชื้อที่บริเวณสายยางและอาจลุกลามถึงเยื่อบุช่องท้องได้ง่ายผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตามการฝึกอย่างเคร่งครัด ผู้ที่เคยผ่าตัดหรือเคยได้รับบาดแผลบริเวณช่องท้องมาก่อนจะไม่สามารถปฏิบัติได้ เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วยเพราะบางครั้งอาจจะมีผลต่อสายตา ทำให้การถ่ายน้ำยาด้วยตัวเองทำได้ยาก ทางที่ดีคือควรจะมีพยาบาลหรือผู้ชำนาญการคอยดูแลช่วยเหลือทุกครั้ง
 

 หากคุณมีข้อสงสัยเรื่องสุขภาพ ส่งคำถามของคุณมาที่: บรรณาธิการนิตยสาร Better Health ฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล 33 สุขุมวิท ซอย 3 กรุงเทพฯ 10110 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
          8.00-20.00  (BKK Time)
          02-0113984-5 and 02-113991

          20.00-8.00 (BKK Time)
          Contact center +662 066 8888 and  1378

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs