bih.button.backtotop.text

รู้เท่าทัน ป้องกันมะเร็งได้

24 มกราคม 2552
ปี 2553 เป็นปีที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO คาดการณ์ไว้ว่า โรคมะเร็งจะเบียดขึ้นแซงหน้าโรคหัวใจ และกลายเป็นโรคที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากที่สุด ขณะที่ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งได้เพิ่มมากขึ้นถึงราว ๆ 60,000 คนในปี 2550 ที่ผ่านมา

น่าแปลกใจ ที่โรคมะเร็งซึ่งถูกบันทึกไว้ว่าเป็นโรคที่มีมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ หรือ 3,000 - 1,500 ปีก่อนคริสตกาล ยังคงเป็นโรคที่สร้างความหวาดกลัวให้กับมนุษย์จนถึงทุกวันนี้และต่อไปใน อนาคต ไม่ว่าวิทยาการทางการแพทย์จะเจริญรุดหน้าไปมากมายเพียงใด

Better Health ฉบับนี้จะพาคุณไปรู้จักกับโรคมะเร็ง 6 ชนิด ที่มีความรุนแรงมากที่สุด โดยครอบคลุมถึงสาเหตุของการเกิดโรค อาการ และวิธีการป้องกัน เพราะมะเร็งนั้น แม้จะเป็นโรคร้ายแต่หากรู้เท่าทันก็สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้


ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งนั้น เกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายในร่างกายและภายนอกร่างกาย โดยปัจจัยภายใน ได้แก่ ความผิดปกติทางพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการขาดสารอาหารเป็นระยะเวลานาน เช่น การขาดวิตามินเอ หรือ ซี

ส่วนปัจจัยภายนอกที่มาจากสิ่งแวดล้อมนั้น ได้แก่ การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อพยาธิใบไม้ในตับ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อเอชพีวี ฯลฯ นอกจากนี้ยังเกิดจากการสัมผัสหรือได้รับสารก่อมะเร็ง เช่น สารก่อมะเร็งที่เกิดจากการปิ้งย่างอาหาร สารพิษจากเชื้อราอะฟลาท็อกซินที่พบในถั่วลิสงป่น การสัมผัสกับรังสีเอกซเรย์หรือรังสียูวีมากเกินไป การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขาดการออกกำลังกาย

อย่างไรก็ตาม นพ. หฤษฎ์ สุวรรณรัศมี ผู้เชี่ยวชาญโรคเลือด และโรคมะเร็งให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันเราเชื่อกันว่ามะเร็งส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายใน เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในเมืองใหญ่ที่มักมีความเครียดมาก พักผ่อนน้อย รับประทานอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้นทุกปี” 

โรคมะเร็ง 6 ชนิดที่พบมาก

ในจำนวนมะเร็งกว่า 100 ชนิดที่พบในมนุษย์ มะเร็ง 6 ชนิดต่อไปนี้ จัดเป็นโรคมะเร็งที่ร้ายแรงและพบมากเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

มะเร็งตับ

มะเร็งตับเป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย โดยผู้ชายเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า มะเร็งตับมี 2 ชนิด ด้วยกัน คือ มะเร็งของเซลล์ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีตับ

สาเหตุของการเกิดมะเร็งในเซลล์ตับ คือ การได้รับหรือเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี และซี ส่วนสาเหตุของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีตับ คือ การมีเชื้อพยาธิใบไม้ในตับและรับประทานอาหารที่มีดินประสิวเป็นส่วนผสม “คนไทยป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะในภาค อีสานซึ่งยังมีประชากรที่นิยมรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และเชื้อพยาธิใบไม้ในตับนี่เอง เป็นตัวการทำให้ท่อน้ำดีอักเสบเฉียบพลันและกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด” นพ. หฤษฎ์ กล่าว

ผู้ป่วยมะเร็งตับจะมีอาการดังต่อไปนี้ คือ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ต่ำ ๆ แน่นท้อง ท้องผูก ปวดหรือเสียดชายโครงด้านขวาและอาจคลำเจอก้อนได้ ที่สำคัญผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต ขาบวม

ส่วนการป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งตับนั้น นพ. หฤษฎ์แนะนำว่า “ควรตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูความผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนในชีวิตประจำวันให้หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี งดแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่รับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีเชื้อรา อาหารที่ใส่ยากันบูด และอาหารที่มีดินประสิวเป็นส่วนผสม”

มะเร็งปอด

พบมากเป็นอันดับ 2 ในประเทศไทยและเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง สาเหตุส่วนใหญ่ของมะเร็งปอดถึงร้อยละ 80 - 90 คือ การสูบบุหรี่ ดังนั้นมะเร็งประเภทนี้จึงสามารถป้องกันได้ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ การสูดดมควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ การต้องสูดดมฝุ่นแร่จากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงมลพิษในอากาศเป็นระยะเวลานาน

สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนอาจเป็นมะเร็งปอดนั้น นพ. หฤษฎ์ให้ข้อสังเกตุว่า “ถ้ามีอาการไอเรื้อรัง ไอแห้ง ๆ ไอจับหืด ไอแบบมีเสมหะ โดยมีอาการอื่นร่วม เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีไข้ และเจ็บหน้าอก แบบนี้ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน”

การป้องกันมะเร็งปอดนั้น นอกจากจะไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อมแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอ เน้นรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีและอีสูง รวมถึงตรวจเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อหามะเร็งปอดเป็นประจำทุกปี ก็ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันมะเร็งได้เป็นอย่างดี  

มะเร็งปากมดลูก

 “มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทยอายุประมาณ 35 - 50 ปี ส่วนสาเหตุของโรคมาจากเชื้อฮิวแมนแพ็บพิลโลมาไวรัส หรือเชื้อไวรัสเอชพีวี” นพ. หฤษฎ์อธิบาย “หากมีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ตกขาวมากผิดปกติและมีกลิ่นเหม็นเหมือนน้ำคาวปลา หรืออาจมีเลือดปน ให้สงสัยไว้ก่อนแล้วรีบมาพบแพทย์”

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ การมีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน
 
อย่างไรก็ตาม มะเร็งชนิดนี้สามารถป้องกันได้ เนื่องจากปัจจุบัน มีวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีเฉพาะสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึงร้อยละ 70 นอกจากนี้การตรวจคัดกรองหรือตรวจ Pap Smear เป็นประจำทุกปีรวมถึงการไม่สูบบุหรี่ และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ก็จะช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อีกทางหนึ่ง  

มะเร็งเต้านม

เป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 2 โดยพบมากในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีบุตร มีบุตรน้อย หรือผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน

สำหรับอาการของโรคของมะเร็งเต้านมนั้น สังเกตุได้จากลักษณะของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น หัวนมหรือผิวหนังบริเวณเต้านมหด มีรอยบุ๋ม มีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลซึมออกมาจากหัวนม หากคลำดู จะพบก้อนบริเวณเต้านม และมีอาการปวดเต้านมร่วมด้วย

แม้จะเป็นโรคที่พบมาก แต่มะเร็งประเภทนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยอัตราการรอดชีวิตใน 5 ปีแรกสูงถึงร้อยละ 95 หากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ “การตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้งหลังอาบน้ำนับจากเริ่มมีประจำเดือน 7 วัน และตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ทุกปีเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง คุณก็สามารถป้องกันตัวเองจากมะเร็งเต้านมได้แล้ว” นพ. หฤษฎ์แนะนำ

มะเร็งลำไส้ใหญ่

“มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอีกโรคหนึ่งที่คุกคามชีวิตคนไทยมากขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทานเนื้อแดง อาหารไขมันสูง และอาหารที่มีกากใยน้อย” นพ. หฤษฎ์กล่าว
 
ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่จะมีอาการดังนี้คือ ท้องเสีย อุจจาระมีเลือดสีสด สีคล้ำ หรือมีมูกปน ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดเกร็ง น้ำหนักลด อ่อนเพลีย โลหิตจาง รวมถึงคลำพบก้อนที่ท้องและลำไส้ใหญ่อุดตัน

สำหรับวิธีการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น นอกจากจะรับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นกรรมพันธุ์ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้อย่างสม่ำเสมออีกด้วย “โดยทั่วไปผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจลำไส้ใหญ่โดยการส่องกล้อง หรือตรวจ CT Scan ทุก ๆ 5 ปี ถ้าทำได้ โอกาสพบเพียงก้อนเนื้องอกที่ยังไม่กลายเป็นมะเร็งก็จะมีสูง” นพ. หฤษฎ์กล่าว

มะเร็งต่อมลูกหมาก

 มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่มีการดำเนินโรคช้า นั่นคือ อาจไม่มีอาการรุนแรงใด ๆ เลย แต่สามารถสังเกตได้จากอาการปวดปัสสาวะบ่อย ๆ ปัสสาวะกะปริบกะปรอย มีเลือดปน แสบหรือเจ็บเวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะไม่พุ่ง รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และอาจปวดหลังหรือกระดูกด้วย
 
“วิธีป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากคือ ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดงและอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เน้นอาหารที่อุดมด้วยสารไลโคปีนอย่างมะเขือเทศ บร็อคโคลี่ หรือแตงโม ที่สำคัญควรตรวจเลือดเพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) ทุกปี โดยเริ่มเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป” นพ. หฤษฎ์แนะนำ
   
จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ล้วนป้องกันได้ทั้งสิ้น หากดำเนินชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะทั้งการกินและการอยู่ เพียงเท่านี้การมีอายุยืนยาวพร้อมสุขภาพที่ดีก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันอย่างแน่นอน

จำนวนผู้ป่วยใหม่และผู้เสียชีวิตจากมะเร็งทั่วโลก

ตัวเลขน่าสนใจเกี่ยวกับมะเร็ง
  • ภายในปี 2553 โรคมะเร็งจะกลายเป็นโรคที่ คร่าชีวิตคนทั่วโลกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แทนที่ โรคหัวใจ
  • โรคมะเร็งมีมากกว่า 100 ชนิด
  • 1 ใน 5 ของมะเร็งทั่วโลกเกิดจากการติดเชื้อเรื้อรัง เช่น เชื้อเอชพีวีที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก เชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่อาจนำไปสู่ โรคมะเร็งตับต่อไป
  • การเสียชีวิตจากโรคมะเร็งกว่าร้อยละ 70 เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีฐานะยากจนและ ปานกลาง
  • 1 ใน 3 ของมะเร็งที่เกิดขึ้นสามารถรักษาได้ หากตรวจพบตั้งแต่แรกเริ่ม และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
  • มะเร็งกว่าร้อยละ 40 ป้องกันได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งต่อไป
  • จากสถิติทั่วโลก ในผู้เสียชิวิตทุก ๆ 8 รายจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 1 ราย
 

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

  • การสูบบุหรี่ - เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งถึง 1.8 ล้านรายต่อปี (ร้อยละ 60 มาจากประเทศที่มีฐานะยากจน และปานกลาง)
  • ภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วนและการขาดการ ออกกำลังกาย - เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ด้วยมะเร็งรวมเป็นจำนวน 274,000 รายต่อปี
  • การดื่มแอลกอฮอล์ - เป็นสาเหตุของการ เสียชีวิตจากมะเร็ง 351,000 รายต่อปี
  • เชื้อไวรัสเอชพีวี - การติดเชื้อไวรัสจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจำนวน 235,000 รายในแต่ละปี
  • สารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพ - เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากมะเร็งจำนวน 150,000 รายต่อปี
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs