bih.button.backtotop.text

ทางเลือกในการแก้ไขสายตา วิธีไหนบ้างที่เหมาะสำหรับคุณ?

ทางเลือกในการแก้ไขสายตา วิธีไหนบ้างที่เหมาะสำหรับคุณ?
ปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดเกี่ยวกับสายตา เช่น สายตาสั้นสายตายาวและสายตาเอียง ถึงแม้ไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงแต่ก็เป็นปัญหาที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ นอกจากทางเลือกที่นิยมกันมากที่สุดคือการใส่แว่นสายตาหรือเลนส์สัมผัสแล้ว ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ยังทำให้มีทางเลือกในการแก้ไขสายตาด้วยวิธีการอื่นๆอีกหลายวิธี
 
ทางเลือกในการผ่าตัดแก้ไขสายตา
การผ่าตัดแก้ไขสายตาแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ การผ่าตัดแก้ไขปรับความโค้งของกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขที่ระดับของเลนส์ตา

 
  1. การผ่าตัดแก้ไขปรับความโค้งของกระจกตา โดยวิธีที่นิยมกันมากในปัจจุบันมีดังนี้
  • พีราเค (PRK) เป็นการใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์เพื่อปรับความโค้งของผิวกระจกตา
    • เป็นการผ่าตัดที่ขั้นตอนไม่ซับซ้อน ไม่มีฝากระจกตา หลังผ่าตัด 3-6 เดือน อาจจะมองไม่เห็นรอยแผลเลยแม้จะส่องกล้องตรวจ กระจกตาเหลือมากกว่าทำให้ความแข็งแรงของกระจกตาดีมากในระยะยาว เหมาะกับคนที่กระจกตาไม่หนามาก สายตาสั้นเอียงไม่มาก หรือในคนที่มีแผลเป็นที่กระจกตาตื้นๆ เช่นหลังติดเชื้อจากเลนส์สัมผัส การทำ PRK จะทำให้แผลเป็นจางลงด้วย
    • มีอาการเจ็บเคืองน้ำตาไหล ปวดตาได้บ้างใน 2-3 วันแรก ต้องพักฟื้น พักงานประมาณ 5-7 วัน หลังผ่าตัดตาเปล่าจะเห็นดีขึ้นมาก แต่การกลับมาเห็นได้ชัดต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์
  • เลสิก (LASIK ) ใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์เช่นเดียวกับ PRK แต่จะมีการสร้างฝากระจกตา (flap) ด้วยอุปกรณ์มีดพิเศษ (microkeratome) ขึ้นมาก่อน แล้วจึงใช้เลเซอร์ปรับความโค้งที่ภายในกระจกตา เมื่อเสร็จแล้วจึงปิดฝากระจกตากลับเข้าไป

ข้อดี มีอาการแสบเคืองน้ำตาไหลน้อยมาก พักฟื้นน้อย มองเห็นชัดได้เร็ว นอกจากนี้ยังสามารถแก้ไขสายตายาวตามวัย โดยใช้หลักการ mono-vision ซึ่งบำรุงราษฎร์มีโปรแกรมการรักษาสายตายาวตามวัย เรียกว่า Presbeyond laser blended vision ที่เพิ่มระยะการมองเห็นได้กว้างขึ้น ทั้งไกล-กลาง-ใกล้ ได้ดีกว่า mono-vision ทั่วไป
 
  • เนื่องจากมีฝากระจกตา ทำให้มีความเสี่ยงในการเคลื่อนของกระจกตาในระยะแรกหลังการผ่าตัดได้บ้าง ตาอาจแห้งลงในระยะ 1-3 เดือนแรก แต่การสร้างน้ำตาจะดีขึ้น สู่ระดับเดิมประมาณ 6 เดือนหลังการผ่าตัด
  • เฟมโต เลสิก (Femto-LASIK) เป็นการทำเลสิกแบบไร้ใบมีด โดยใช้เฟมโตเซกกันเลเซอร์สร้างฝากระจกตา ทำให้การสร้างฝากระจกตามีความแม่นยำขึ้น

ข้อดี มีความแม่นยำในการสร้างฝากระจกตาที่ดีมาก ฝากระจกตาติดแน่นกว่า ทำให้ลดความเสี่ยงการเคลื่อนของฝากระจกตา อ่อนโยนกว่าการใช้ใบมีด และสามารถแก้ไขสายตายาวตามวัยได้ด้วยโปรแกรม Presbeyond laser blended vision
ข้อด้อย ราคาสูงกว่าการใช้ใบมีด การอักเสบใต้ฝากระจกตาหลังการผ่าตัดพบได้บ่อยกว่าแบบใบมีดเล็กน้อย รีเลกส์ สไมล์ (ReLex Smile) เป็นการใช้เฟมโตเซกกันเลเซอร์สร้างเลนส์นูนเล็กๆในกระจกตา แล้วสกัดเลนส์กระจกตาผ่านทางแผลเล็ก 2-4 มิลลิเมตร ไร้ใบมีด ไม่มีฝากระจกตา

ข้อดี เป็นการรวมข้อดีของการผ่าตัด PRK และ LASIK เข้าด้วยกัน ทำให้ไม่มีฝากระจกตา กระจกตาแข็งแรงดีมาก ตาแห้งน้อยกว่า เพราะรบกวนเส้นประสาทตาน้อยกว่า ไม่เจ็บเคือง สามารถมองเห็น กลับไปทำงานได้เร็ว
ข้อด้อย ราคาค่อนข้างสูง ปัจจุบันยังสามารถแก้ไขได้เฉพาะสายตาสั้นกับเอียงเท่านั้น

 
  1. การผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ระดับของเลนส์ตา
  • ไอซีแอล (ICL) คือการใส่เลนส์เสริมเข้าไปในตา โดยเลนส์ที่ใส่เข้าไปเป็นเลนส์โพลีเมอร์ชนิดพิเศษเรียกว่า Collamer ซึ่งร่างกายมนุษย์ไม่มีการต่อต้าน มีลักษณะนิ่มและยืดหยุ่นดี แพทย์จะวางเลนส์บริเวณหลังม่านตา ด้านหน้าเลนส์ธรรมชาติ
    • แก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียงมากๆได้ผลดี ไม่มีฝากระจกตา ไม่ได้ปรับความโค้งของกระจกตา ดังนั้นความหนาของกระจกตาจึงเหมือนเดิม การกระเจิงของแสงในคนสายตาสั้นมาก มีโอกาสเกิดน้อยกว่าการแก้ไขที่กระจกตาด้วยเลเซอร์ สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ในกรณีที่จำเป็น

ข้อด้อย เป็นการผ่าตัดเข้าไปข้างในตา จึงมีโอกาสที่จะมีการอักเสบในตา หรือความดันตาแกว่งชั่วคราวหลังการผ่าตัดในระยะแรกได้ และต้องมีช่องลูกตาที่ลึกพอจึงจะทำได้
 
  • อาร์แอลอี (RLE) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ผ่านแผลเล็ก ไม่ต้องเย็บแผล เหมือนการผ่าตัดรักษาต้อกระจก
  • เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีช่องหน้าลูกตาตื้น ไม่สามารถใส่ ICL ได้ หรือสำหรับคนที่มีอายุมาก เริ่มมีต้อกระจก

ข้อเสีย มีความเสี่ยงน้อย เหมือนการผ่าตัดรักษาต้อกระจก เช่น ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น เป็นต้น การดูแลหลังการผ่าตัดข้างในตามีความสำคัญที่จะลดความเสี่ยงการติดเชื้อ จอประสาทตาในคนสายตาสั้นจะบางกว่าคนอื่นอยู่แล้ว ต้องเฝ้าระวังการฉีกขาดของจอประสาทตา โดยเฉพาะที่มีการเกิดวุ้นตาเสื่อม ที่เกิดได้ตามวัยซึ่งพบได้น้อยหลังการผ่าตัด

 
จะเลือกรักษาด้วยวิธีไหนจึงเหมาะสมมากที่สุด
หลังการตรวจละเอียด แพทย์จะแนะนำวิธีการที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย คนไข้บางรายอาจมีทางเลือกในการรักษาได้หลายวิธี ในขณะที่บางรายอาจรักษาได้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งจึงจะเหมาะสมที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดวงตา ลักษณะสายตาว่า สั้น ยาว เอียงเท่าไหร่ อย่างไร อายุและมีโรคร่วมทางตาหรือทางกายอื่นๆหรือไหม อาจสรุปโดยคร่าวๆคือ
 
  • พีราเค (PRK) เหมาะกับคนที่สายตาสั้น เอียงน้อยและอาชีพที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บทางตา เช่น ทหาร ตำรวจและนักบิน หรือ คนที่มีแผลเป็นตื้นๆที่กระจกตา หรือโรคอื่นๆของผิวกระจกตา หรือคนที่ความหนากระจกตาค่อนไปทางน้อย
  • เลสิก (LASIK) และ เฟมโต เลสิก (Femto-LASIK) สามารถรักษาคนที่สายตายาวแต่เด็ก หรือยาวตามวัยได้ผลดี และรักษาสายตาสั้น และสายตาเอียง ได้ด้วย ในคนที่กระจกตาหนาดีพอ
  • รีเลกส์ สไมล์ (ReLex Smile) รักษาได้เฉพาะสายตาสั้นไม่เกิน -10.00 (<-10 Diopters) และสายตาเอียง ไม่เกิน – 5.00 คนที่กลัวเจ็บตา คนที่งานยุ่ง ต้องการกลับมาเห็นเร็ว และพักฟื้นน้อย
  • ไอซีแอล (ICL) เหมาะกับคนที่กระจกตาบางหรือสายตาสั้นเยอะมากหรือเกิน -10.00 (> -10 Diopters)
  • อาร์แอลอี (RLE) สำหรับคนไข้ที่อายุมาก เริ่มมีต้อกระจกหรือคนที่มีช่องลูกตาแคบ ไม่สามารถใส่เลนส์เสริมและไม่สามารถเลเซอร์ปรับความโค้งกระจกได้


ผลลัพธ์ในการรักษาแตกต่างกันหรือไม่
ผลลัพธ์ในการรักษาแต่ละวิธีให้ผลการมองเห็นที่ดีและมีความใกล้เคียงกันมากในระยะยาว หลังการผ่าตัดคนไข้มากกว่า 85-90% มีระดับการมองเห็นด้วยตาเปล่าที่คมชัดที่ 20/20 และมากกว่า 95-99% สามารถเห็นด้วยตาเปล่าดีกว่า 20/40 ซึ่งสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดี สะดวก ขับรถได้อย่างปลอดภัย

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยทีมจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านกระจกตาและการผ่าตัดแก้สายตา ที่มีประสบการณ์สูง และทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญในการดูแลรักษาคนไข้ที่มีปัญหาสายตาผิดปกติทุกประเภท ความชำนาญการของทีมแพทย์และความพรั่งพร้อมของสถานที่และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การรักษาได้ผลลัพธ์ที่ดีมากและลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนให้ต่ำที่สุด
 
ที่มา นพ. ธีรวีร์ หงษ์หยก จักษุแพทย์ชำนาญการด้านกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs