bih.button.backtotop.text

ระวัง! หูตึง…เสี่ยงเป็นโรคความจำเสื่อม

 “ตะกี้พูดว่าอะไรนะ ไม่ได้ยิน” คนรอบตัวผู้สูงอายุอาจเคยชินกับคำถามเช่นนี้และการที่ต้องพูดซ้ำๆเพราะผู้สูงอายุไม่ได้ยินและคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่มาพร้อมกับวัย แต่ผลงานวิจัยล่าสุดได้บ่งบอกว่าภาวะสูญเสียการได้ยินมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคสมองเสื่อมอย่างเป็นนัยสำคัญ จากสถิติ  หนึ่งในหกของคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีภาวะสูญเสียการได้ยิน ดังนั้นจึงมีคำแนะนำผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินทุกปี หากพบว่าเริ่มมีปัญหาการได้ยินเล็กน้อยหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรติดตามผลเป็นระยะ ในกลุ่มคนที่ตรวจพบการได้ยินผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและวางแผนฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้สูญเสียการได้ยินเพิ่มขึ้น ช่วยให้การสื่อสาร และการเข้าสังคมของผู้ป่วยดีขึ้น รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อม

 

ภาวะสูญเสียการได้ยินในผู้สูงอายุเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้มากที่สุดคือประสาทหูเสื่อม นอกจากนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิเช่น การอักเสบของหูชั้นใน โรคเนื้องอกประสาทหู หูถูกทำลายจากยาหรือสารเคมี หรือจากการได้รับเสียงดังเกินขีดมาตรฐาน ดังนั้นจึงควรมาพบแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการสูญเสียการได้ยิน

 

ผลกระทบของภาวะสูญเสียการได้ยินมีอะไรบ้าง

นอกจากการสูญเสียการได้ยินจะทำให้สมองเสื่อมถอยจนอาจนำไปสู่โรคความจำเสื่อมแล้ว การสูญเสียการได้ยินยังมีผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ เพราะสื่อสารกับผู้อื่นอย่างยากลำบาก ทำให้ไม่อยากเข้าสังคม แยกตัวออกจากผู้อื่น รู้สึกโดดเดี่ยว นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพราะไม่ได้ยินเสียง

 

ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

  • มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • เป็นโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไตและภาวะไทรอยด์ต่ำ เป็นต้น
  • ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง เช่น โรงงาน เขตอุตสาหกรรม สถานบันเทิง
  • อาศัยอยู่ในบ้านหรือชุมชนที่มีเสียงดัง เช่น ในเมืองหลวง
  • ทำกิจกรรม งานอดิเรกหรือเล่นกีฬาที่มีเสียงดังและไม่ได้ใช้อุปกรณ์ป้องกันหู เช่น ยิงปืน จุดประทัด ฟังเพลงเสียงดังๆ
  • เคยได้รับรังสี เช่น ได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะและลำคอ
  • มีกรรมพันธุ์หรือประวัติคนในครอบครัวสูญเสียการได้ยิน
  • เคยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ใช้ยาบางประเภทที่มีพิษต่อประสาทหู  ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycosides เช่น เจนตามัยซิน ยารักษามะเร็ง ยาควินิน และยารักษาอาการเสื่อมสมรรถนะทางเพศซิลเดนาฟิลหรือไวอากร้า เป็นต้น

 

ตรวจวินิจฉัยได้ด้วยวิธีการใดบ้าง

การตรวจวินิจฉัยทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
  • การตรวจคัดกรองสมรรถภาพการได้ยิน (Audiogram) โดยให้ผู้ถูกทดสอบนั่งอยู่ในห้องเก็บเสียงแล้วปล่อยเสียงออกมาเพื่อวัดว่าผุ้ถูกทดสอบได้ยินในระดับใดและสามารถแปลความหมายคำพูดได้ดีหรือไม่
  • การตรวจวัดคลื่นการได้ยินระดับเส้นประสาทการได้ยินและก้านสมอง (Auditory Brainstem Response หรือ ABR) เป็นการตรวจโดยใช้เสียงกระตุ้นการตอบสนองของเส้นประสาทการได้ยินและก้านสมองและบันทึกเป็นคลื่นไฟฟ้า
  • การตรวจการทำงานของเซลล์ขนของอวัยวะการได้ยิน (Cochlea) ในหูชั้นใน (Otoacoustic Emission หรือ OAE)
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูความผิดปกติของอวัยวะภายในหู และเส้นประสาทการได้ยิน

 

การรักษาทำได้อย่างไร

การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ อย่างไรก็ตามหากสาเหตุเกิดจากประสาทหูเสื่อมตามวัยมักรักษาไม่หายขาด ต้องหาทางชะลอความเสื่อมและหาทางป้องกันไม่ให้ประสาทเสียงเสื่อมมากขึ้น วิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินทำได้โดยการใช้อุปกรณ์ช่วยฟัง ได้แก่
  • เครื่องช่วยฟัง (Hearing aids) ที่สวมใส่จากภายนอก เช่นสวมใส่ในหูหรือหลังใบหู
  • เครื่องช่วยฟังชนิดผ่าตัดฝังในกะโหลกศีรษะ (Bone anchored hearing aids)
  • เครื่องประสาทหูเทียม (Cochlear Implant)
นอกจากนี้ทางบำรุงราษฎร์ยังมีทีมนักแก้ไขการได้ยิน (Audiologist) ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการฟังของผู้ป่วย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


By Assoc. Prof. Dr. Saowaros Patarapak, Otolaryngologist, Hearing and Balance Clinic, Bumrungrad Hospital.

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs