bih.button.backtotop.text

“ตาแห้ง” อาการยอดฮิต ของคนติดจอ

ภาวะตาแห้ง คืออะไร ?
ภาวะตาแห้ง (Dry eye) เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปในทุกเพศทุกวัย สาเหตุหลักมาจากการที่ต่อมน้ำตาไม่สามารถผลิตน้ำตาได้เพียงพอ หรือน้ำตาที่ผลิตอาจมีคุณภาพที่ไม่ดี ไม่คงตัว ไม่สามารถรักษาความชุ่มชื้นของดวงตาได้ นำมาสู่อาการอักเสบ ระคายเคือง และอาจเกิดการทำลายพื้นผิวดวงตาได้

 
อาการของภาวะตาแห้ง มีอะไรบ้าง ?
อาการของภาวะตาแห้งส่วนมากจะเป็นที่ตาทั้งสองข้าง โดยอาการที่พบ ได้แก่
  • แสบตา คันตา ระคายเคืองตา
  • ตามัว มองภาพไม่ชัด
  • รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา
  • มีขี้ตาเป็นเมือกเหนียวอยู่ในตาหรือรอบดวงตา
  • ตาไวต่อแสง สู้แสงไม่ได้
  • ตาแดง
  • น้ำตาไหล
 
ภาวะตาแห้ง มีสาเหตุมาจากอะไร ?
น้ำตา (Tear film) มีอยู่ด้วยกัน 3 ชั้น คือ ชั้นไขมัน (Lipid layer) ชั้นน้ำ (Aqueous layer) และชั้นเมือก (Mucous layer) หากเกิดปัญหาที่ชั้นใดชั้นหนึ่งของน้ำตา จะส่งผลให้เกิดภาวะตาแห้งได้ โดยทั่วไปเราสามารถแบ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตาแห้งออกเป็น 2 สาเหตุหลักๆ คือ
1. การผลิตน้ำตาลดลง อันมีสาเหตุมาจาก
  • อายุที่มากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
  • ภาวะความเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น โรคภูมิแพ้ที่ตา โรคโชเกร็น (Sjogren's syndrome) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) โรคของต่อมไทรอยด์ การขาดวิตามินเอ
  • การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาแก้แพ้ ยาฮอร์โมนทดแทน ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิต ยารักษาสิว ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคพาร์กินสัน
  • ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน เคยทำเลสิก หรือผ่าตัดดวงตา
2.น้ำตาเกิดการระเหยไวขึ้น อันมีสาเหตุมาจาก
  • ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ (Meibomian gland dysfunction: MGD) โดยปกติต่อมไมโบเมียนจะทำหน้าที่สร้างน้ำตาชั้นไขมัน ทำให้น้ำตาระเหยได้ช้า หากต่อมนี้ทำงานผิดปกติ จะทำให้น้ำตาระเหยไวขึ้นจนเกิดภาวะตาแห้งในที่สุด
  • การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานเกินไป หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้การกระพริบตาลดลง
  • ความผิดปกติของเปลือกตา เช่น เปลือกตาม้วนออก (Ectropion) เปลือกตาม้วนเข้า (Entropion) เปลือกตาปิดไม่สนิท
  • สารกันเสียที่อยู่ในยาหยอดตา
  • อยู่ในบริเวณที่มีลมแรง มีฝุ่นควัน หรืออากาศแห้ง เป็นเวลานาน
 
กลุ่มเสี่ยงของภาวะตาแห้งมีอะไรบ้าง ?
แม้ว่าทุกคนจะมีโอกาสการเกิดภาวะตาแห้ง แต่จะมีโอกาสมากขึ้นถ้าหาก
  • มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป
  • เป็นเพศหญิง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ หรือจากการใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมนทดแทน
  • รับประทานอาหารที่มีปริมาณวิตามินเอ หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 น้อย
  • ใส่คอนแทคเลนส์ หรือเคยทำเลสิก
 
อาการแทรกซ้อนใดบ้างที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะตาแห้ง ?
  • เกิดการติดเชื้อที่ดวงตา
  • เปลือกตาอักเสบ
  • มีรอยที่กระจกตา กระจกตาเป็นแผล
  • ลดคุณภาพการใช้ชีวิต โดยเฉพาะกิจกรรมที่ใช้สายตาเป็นหลัก เช่น การอ่านหนังสือ การขับรถ
 
การรักษาภาวะตาแห้ง ทำอย่างไรได้บ้าง ?
  • จัดการที่สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตาแห้ง เช่น รักษาโรคหรือภาวะที่เป็น เปลี่ยนไปใช้ยาที่ไม่มีอาการข้างเคียงทำให้ตาแห้ง
  • การใช้ยารักษา ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ตามความรุนแรงของภาวะตาแห้ง
    • น้ำตาเทียม มีทั้งแบบยาหยอดตา เจล หรือขี้ผึ้งป้ายตา
    • ยาลดการอักเสบของเปลือกตา เช่น ยาปฏิชีวนะ Azithromycin, Doxycycline
    • ยาหยอดตาที่ช่วยลดการอักเสบของผิวดวงตา เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิ Cyclosporine
    • ยากระตุ้นการสร้างน้ำตา เช่น Diquafosol, Pilocarpine
    • ซีรัมของตนเอง (Autologous serum) เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยคนนั้นๆ มาทำเป็นยาหยอดตา
  • ประคบตาด้วยน้ำอุ่น ช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันที่เปลือกตา
  • นวดและทำความสะอาดเปลือกตา เพื่อกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกที่อยู่บริเวณรอบเปลือกตา
  • การรักษาด้วยแสง IPL (Intense Pulse Light)
 
เราจะป้องกันการเกิดภาวะตาแห้งได้อย่างไร ?
  • หยุดพักสายตาเป็นช่วงๆ หากต้องใช้เวลาทำงานเป็นเวลานาน โดยหลับตา 1-2 นาที หรือกระพริบตาถี่ๆ เพื่อช่วยกระจายน้ำตาให้เคลือบทั่วดวงตา
  • หยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
  • ระวังอย่าให้ลมแรงๆ ปะทะดวงตาโดยตรง เช่น ลมจากพัดลม เครื่องปรับอากาศ ที่เป่าผม
  • สวมแว่นกันแดดหรือแว่นที่ครอบดวงตา เพื่อป้องกันแสงและลม
  • หากจำเป็นต้องอยู่ในบริเวณที่มีอากาศแห้ง ควรหลับตาเป็นพักๆ เพื่อลดการระเหยของน้ำตา
  • ตั้งจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ระดับต่ำกว่าสายตา เพื่อลดการระเหยของน้ำตา เนื่องจากหากตั้งอยู่สูงกว่าระดับสายตา ตาจะต้องเปิดกว้างขึ้น ทำให้ตาแห้งง่ายมากขึ้น
  • ไม่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน
  • หยุดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีปริมาณวิตามินเอสูง (เช่น น้ำมันตับปลา เครื่องในสัตว์ ไข่แดง แครอท บร็อคโคลี่ ฟักทอง) หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง (เช่น ปลาทะเลน้ำลึก เมล็ดแฟลกซ์ วอลนัท น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว)
 

หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
 


 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs