bih.button.backtotop.text

ไขความลับ.....โรคมะเร็งกับรังสีรักษา

รังสีรักษาคืออะไร

รังสีรักษา คือการนำรังสีมาใช้รักษาโรค ได้แก่ โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ เช่น โรคเนื้องอก แผลเป็นคีลอยด์ ซึ่งรังสีที่ใช้ในการรักษาโรค ได้แก่ รังสีประเภทไอออนไนเซซัน (ionization) ซึ่งเป็นรังสีประเภทเดียวกับรังสีที่ใช้ถ่ายภาพเอกซเรย์ แต่มีพลังงานสูงกว่าและใช้ในจำนวน ขนาด และปริมาณรังสีที่สูงกว่าที่ใช้ในการตรวจโรค
 


รังสีรักษามีกี่รูปแบบ

รังสีรักษามีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่

1. การฉายรังสีระยะไกล (teletherapy) เป็นการรักษาด้วยรังสีที่ได้จากเครื่องกำเนิดรังสีที่อยู่ห่างจากตัวผู้ป่วย

2. การให้รังสีระยะใกล้ (brachytherapy) หรือที่เรียกกันว่าการฝังแร่ หรือใส่แร่ เป็นการนำสารกัมมันตรังสีซึ่งห่อหุ้มมิดชิดใส่เข้าไปภายในตัวผู้ป่วยหรือวางชิดกับบริเวณที่ต้องการจะรักษา


รังสีรักษาในโรคมะเร็ง

การรักษาโรคมะเร็งทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด และการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งแพทย์อาจรักษาด้วยวิธีเดียวหรือใช้หลายวิธีร่วมกัน

รังสีรักษาในโรคมะเร็ง เป็นการใช้รังสีตรงเข้าทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์มะเร็งเพื่อหยุดยั้งการเจริญเติบโตและทำให้เซลล์มะเร็งตายไปในที่สุด ปัจจุบัน เทคโนโลยีของรังสีรักษาพัฒนาให้ก้าวหน้าไปมาก ทำให้แพทย์กำหนดตำแหน่งของการรักษาได้แม่นยำ โดยรักษาเนื้อเยื่อปกติโดยรอบให้ปลอดภัยจากรังสี ลดผลข้างเคียงลงและควบคุมโรคได้มากขึ้น


การฉายรังสีระยะไกล

เครื่องเอกซเรย์ซิมูเลเตอร์ (CT Simulator) ระบุตำแหน่งและขนาดของมะเร็ง รวมถึงขอบเขตและอวัยวะใกล้เคียง โดยเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์วางแผน (Computer Planning) เพื่อสร้างภาพ 3 มิติและเปรียบเทียบกับผลของ CT scan, MRI และ PET/CT scan ทำให้ฉายรังสีได้ถูกต้องแม่นยำ นอกจากนี้ยังมีเครื่องฉายรังสี (Linear Accelerator) ซึ่งสามารถปรับความเข้มข้นของรังสีตามความหนาและขนาดของก้อนมะเร็ง เรียกว่า Intensity Modulated Radiation Therapy (IMRT) ซึ่งจะช่วยลดผลข้างเคียงต่ออวัยวะปกติรอบๆ รวมทั้งใช้เทคนิค VMAT (Volumetric Modulated Arc Therapy) โดยให้เครื่องฉายรังสีหมุนได้รอบตัวผู้ป่วย ซึ่งจะลดเวลาที่ผู้ป่วยต้องนอนรับรังสี และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะข้างเคียงได้

 


วิธีการฉายรังสีระยะไกล

แพทย์จะประเมินสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยอย่างละเอียด จากนั้นจะกำหนดแนวทางการรักษา จำลองการฉายรังสีและกำหนดจุดฉายรังสี เพื่อวางแผนการฉายรังสีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ระหว่างการฉายรังสี ผู้ป่วยจะถูกจัดตำแหน่งให้อยู่นิ่งกับที่ จากนั้นนักรังสีการแพทย์จะทำการฉายรังสี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-10 นาที แต่ใช้เวลาตั้งแต่การจัดตำแหน่งจนเสร็จ วันละประมาณ 20-25 นาที ฉายสัปดาห์ละ 5 วัน ใช้เวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ ตามแต่ชนิดของโรคและแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งการฉายรังสีนั้น ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนที่ผิวแต่อย่างใด และสามารถกลับบ้านได้


การให้รังสีระยะใกล้ หรือการฝังแร่

เป็นการใส่ต้นกำเนิดของรังสีภายในก้อนมะเร็งโดยตรงหรือใกล้ๆ กับก้อนมะเร็ง ทำให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด ซึ่งการฝังแร่กัมมันตรังสีมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่

1. การฝังแร่แบบถาวร เป็นการใส่ต้นกำเนิดของรังสีซึ่งมีขนาดเล็กและให้ปริมาณรังสีต่ำไว้ภายในก้อนมะเร็งแบบถาวร ส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

2. การฝังแร่แบบชั่วคราว เป็นการใส่ต้นกำเนิดของรังสีภายในหรือใกล้ๆ กับก้อนมะเร็งแบบชั่วคราว โดยต้นกำเนิดของรังสีจะให้อัตราปริมาณรังสีขนาดสูง มักใช้รักษามะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก

 

การเลือกวิธีฝังแร่ แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ตำแหน่ง ขนาด และการแพร่กระจายของมะเร็ง เพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และการฝังแร่กัมมันตรังสีอาจใช้เป็นการรักษาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการรักษาอื่นๆ เช่น การฉายรังสีภายนอก หรือการผ่าตัด
 

เรียบเรียงโดย นพ.อภิชาต พานิชชีวลักษณ์ แพทย์รังสีรักษา ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs