bih.button.backtotop.text

GPS และการผ่าตัดสมัยใหม่

ท่านผู้อ่านเคยหลงทางกันไหมครับ? ย้อนเวลาไปสัก 20 ปีก่อน ยุคที่เราต้องมีแผนที่แผ่นใหญ่ๆ พับไว้ในรถเวลาเดินทางไปต่างจังหวัดไกลๆ แล้วต้องจอดรถเป็นระยะเพื่อกางแผนที่เช็กตำแหน่ง จนมาถึงวันนี้ที่เรามี GPS ที่สามารถนำทางเราไปไหนมาไหนได้ทุกที่ นอกจากจะมีในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เกือบทุกคันแล้ว ยังมีอยู่บนสมาร์ทโฟนหรือแม้กระทั่งนาฬิกาอัจฉริยะ (smart watch) ของเราอีกด้วย 
 
วันนี้ผมจะพาทุกท่านมารู้จักระบบนำทางที่ศัลยแพทย์ใช้ในการผ่าตัดยุคใหม่กันครับ
 
การผ่าตัดให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อยที่สุด ปลอดภัยที่สุดนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายเสมอสำหรับศัลยแพทย์ ซึ่งเป็นที่มาของการใช้ navigation system ในห้องผ่าตัด ยกตัวอย่างเช่น การผ่าตัดเนื้องอกสมองซึ่งบางครั้งไม่สามารถมองออกได้ว่าส่วนไหนเป็นเนื้องอกหรือเนื้อสมองปกติ การใช้ระบบนำทางซึ่งจะแสดงขอบเขตของเนื้องอกให้เห็นในคอมพิวเตอร์จะช่วยให้ศัลยแพทย์เลือกตัดเฉพาะเนื้องอกออกได้อย่างปลอดภัย
 
ในยุคแรกๆ การผ่าตัดโดยใช้ navigation ก็เหมือนกับเทคโนโลยีอื่นๆ ทั่วไปที่เริ่มจากขนาดใหญ่ ใช้ไม่สะดวก และมีความแม่นยำน้อย จากนั้นเมื่อมีการพัฒนาทั้งระบบคอมพิวเตอร์และระบบ medical imaging ก็ทำให้ระบบ navigation ใช้สะดวกมากขึ้น เพิ่มความแม่นยำ และลดข้อผิดพลาดมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันความแม่นยำนั้นพูดกันอยู่ที่ 90%ขึ้นไปแล้ว
 
แล้ว navigation สำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังนั้นมีประโยชน์อย่างไร ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังหลายๆ อย่างต้องมีการยึดตรึงกระดูกด้วยโลหะ ลองดูภาพประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายนะครับ
 
หลักการในการยึดกระดูกสันหลัง อย่างแรกคือเราต้องการยึดด้วยสกรูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เพื่อให้มีแรงยึดมากที่สุด โดยที่สกรูนั้นต้องไม่ล้ำออกนอกกระดูก เนื่องจากมีโอกาสกระทบกระเทือนเส้นประสาทได้ นอกจากนี้มุมของสกรูก็มีความสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้สกรูหลวมหลุดง่าย ลองเปรียบเทียบรูปทางซ้ายมือ (สกรูสีเขียว) กับรูปทางขวามือ (สกรูสีแดง) จะเห็นว่าหากต้องการดึงสกรูสีเขียวออกจะต้องใช้แรงดึงมากกว่าสกรูสีแดงมาก
 
การใช้ navigation system ในห้องผ่าตัด

ในขณะที่ภาพด้านล่าง ซึ่งเป็นภาพกระดูกที่ศัลยแพทย์เห็นระหว่างผ่าตัด จะเห็นว่าเป็นภาพที่มองจากด้านบนเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วภาพที่เราอยากเห็นมากกว่าคือภาพตัดขวางดังเช่นภาพด้านบน เพราะเราต้องการใส่สกรูเข้าในกระดูกซึ่งมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ดังนั้น การผ่าตัดในยุคก่อนที่ยังไม่มีเครื่อง navigator นั้น ศัลยแพทย์จะต้องใช้ประสบการณ์และทักษะเรื่องกายวิภาคอย่างมากเพื่อให้ใส่สกรูได้แม่นยำ
 
ระบบคอมพิวเตอร์และระบบ medical imaging ก็ทำให้ระบบ navigation

ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันเครื่อง navigator จะแสดงภาพ 3 มิติให้เราเห็นดังภาพด้านล่าง การเห็นภาพในแนวตัดขวางทำให้เราสามารถเลือกใช้สกรูขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้และเลือกมุมของสกรูที่ดีที่สุดเพื่อให้การยึดมีความแข็งแรงสูงสุดได้
 
เครื่อง navigator แสดงภาพ 3 มิติ
มาถึงสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างมากของ navigator คือ ทำให้แพทย์ไม่ต้องเปิดแผลขนาดใหญ่ที่กลางหลังอีกต่อไป คงเหลือแต่เพียงแผลที่มีลักษณะเป็นรูประมาณ 1-2 ซม. พอที่จะให้สกรูเข้าไปได้เท่านั้น การผ่าตัดที่เหลือก็สามารถทำผ่านอุโมงค์ขนาดเล็กโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ได้ การไม่ต้องเปิดแผลใหญ่นี้ทำให้ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดลดลงมาก ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว และสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็วขึ้น
 
การผ่าตัดเชื่อมกระดูกผ่านผิวหนงด้วยระบบคอมพิวเตอร์นำวิถี 

อย่างไรก็ตาม การใช้ navigator ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง คือผู้ป่วยจะได้รับรังสีมากขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยเทคนิคดั้งเดิม แต่ปริมาณรังสีก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำโดยมีปริมาณน้อยกว่าการตรวจ CT scan เล็กน้อย ซึ่งปัจจุบันถือเป็นการตรวจที่แพร่หลายมากแล้ว
 
ผลจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การผ่าตัดในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากยุคก่อนทั้งความปลอดภัยและการฟื้นตัวที่เร็วขึ้น ซึ่งในอีกสิบปีข้างหน้าก็คงเปลี่ยนแปลงไปจากตอนนี้อีกมาก เอาไว้โอกาสหน้าผมจะมาเล่าเรื่องการผ่าตัดในอนาคตซึ่งนักวิจัยกำลังพัฒนากันอยู่ให้ฟังกันนะครับ
 
 
เรียบเรียงโดย นพ.วิธวินท์ เกสรศักดิ์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง สถาบันกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs