bih.button.backtotop.text

มะเร็งปากมดลูก! อย่าพลาดโอกาสที่จะป้องกัน

11 เมษายน 2561

แม้มะเร็งปากมดลูกจะเป็นโรคมะเร็งที่ป้องกันและรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบแต่เนิ่นๆ แต่ก็ยังคงมีผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งชนิดนี้เพิ่มขึ้นถึงปีละกว่า 8,000 ราย ซี่งเป็นตัวเลขที่มากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม
 


HPV ไวรัสอันตราย

ปัจจุบัน เราทราบกันดีว่าสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกคือ เชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง ดังนั้น เพศสัมพันธ์จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อไวรัสสูงถึงร้อยละ 80 โดยประมาณ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น เช่น

  • มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
  • เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
  • มีคู่นอนหลายคน
  • สูบบุหรี่หรือคนรอบข้างสูบบุหรี่
  • มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี


ตรวจทุกปีก็อาจพลาดได้หากไม่ถูกวิธี

การได้รับเชื้อไวรัส HPV ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะร้อยละ 90 นั้นร่างกายสามารถกำจัดเชื้อออกไปได้เอง ขณะที่อีกร้อยละ 10 เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงในชั้นผิวของปากมดลูกเรียกว่าเป็นระยะก่อนมะเร็ง (pre-cancer) ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด และแพทย์อาจตรวจไม่พบได้ด้วยตาเปล่า

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปากมดลูกจากภาวะปกติเป็นระยะก่อนมะเร็งใช้เวลานานจาก

2- 10 ปี และเมื่อรวมเวลาที่เชื้อโรคลุกลามจนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วต้องใช้เวลา เฉลี่ยอีก 10-15 ปี ดังนั้นผู้หญิงจึงมีเวลามากพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดระยะมะเร็ง โดยตรวจหาโรคตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งเพื่อรักษาให้หายขาด ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ลงได้

สำหรับการป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั้นทำได้โดยวิธีการดังนี้ คือ

  • ฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับต่อต้านเชื้อ HPV โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากถึงร้อยละ 70 และยังช่วยป้องกันเชื้อไวรัส HPV อีกสองสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคหูดที่อวัยวะเพศได้ถึงร้อยละ 90 โดยแพทย์แนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 9 - 26 ปี ฉีดวัคซีนก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หรือฉีดในรายที่มีเพศสัมพันธ์แล้วแต่ยังไม่ติดเชื้อ HPV เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
  • การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) โดยแพทย์จะเก็บเซลล์จากปากมดลูกแล้วนำส่งตรวจเพื่อหาเซลล์ผิดปกติที่อาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจแปปสเมียร์อาจมีโอกาสพลาดถึงร้อยละ 40 ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนพบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกแม้จะตรวจแปปสเมียร์ทุกปี
  • ตรวจหาเชื้อไวรัส HPV เป็นการตรวจทางชีวโมเลกุลเพื่อหาเชื้อไวรัส HPV โดยตรง ซึ่งเป็นการตรวจที่มีความแม่นยำอย่างมากคือมีโอกาสพลาดเพียงร้อยละ 5-10 และส่วนใหญ่จะทำร่วมกับการตรวจ ThinPrep โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์เพื่อส่งตรวจในคราวเดียว หากตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติก็แสดงว่าโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกมีน้อยมาก และสามารถรอได้ถึง 3 ปี กว่าจะเข้ารับการตรวจคัดกรองอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับวัคซีนแล้ว ผู้หญิงก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเชื้อไวรัส HPV ชนิดเสี่ยงสูง มีถึง 14-15 สายพันธุ์ วัคซีนจึงไม่สามารถปัองกันโรคได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้อีก ดังนั้น การป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ถูกวิธีจึงควรใช้ทั้งการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนไปพร้อมกัน
 

รักษายากกว่าป้องกัน

ในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ ผู้หญิงจะได้รับการวินิจฉัยโดยการส่องกล้องตรวจปากมดลูก (colposcopy) ซึ่งให้ภาพขยายของปากมดลูก 10-20 เท่า แพทย์จึงเห็นการเปลี่ยนแปลงของผิวปากมดลูกได้อย่างชัดเจน เช่น มีสีขาวขึ้นเป็นฝ้า หรือมีลักษณะของหลอดเลือดเปลี่ยนไป จากนั้นแพทย์จะเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อส่วนที่ผิดปกติส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจว่าความผิดปกติดังกล่าวอยู่ในระยะก่อนมะเร็งหรือเป็นมะเร็งแล้ว เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

การรักษาโรคมะเร็งขึ้นอยู่กับระยะของโรค กล่าวคือ

  • ระยะก่อนมะเร็ง เป็นการรักษาเฉพาะที่ เช่น จี้ทำลายเซลล์ที่ผิดปกติด้วยความเย็นหรือความร้อน การตัดปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาครู่เดียวและเป็นหัตถกรรมสำหรับผู้ป่วยนอก
  • ระยะมะเร็งแล้ว (ระยะที่ 1 และ 2 ขั้นต้น) ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกนั้นต่างจากการผ่าตัดมดลูกทั่วไปนั่นคือเป็นการผ่าตัดแบบ "ถอนรากถอนโคน" หรือการผ่าตัดเอาปากมดลูก เนื้อเยื่อรอบๆ ปากมดลูก มดลูก ช่องคลอดส่วนต้นและต่อมน้ำเหลืองในบริเวณนั้นออกทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ การผ่าตัดนี้ทำได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้องและผ่าตัดผ่านกล้องซึ่งต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเท่านั้น
  • ระยะ 3 และ 4 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามออกนอกปากมดลูกแล้ว ดังนั้น การรักษาประกอบด้วยเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาในเวลาเดียวกัน เพื่อควบคุมไม่ให้มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียงและเนื้อเยื่อชั้นในรอบๆ มดลูก และหากมะเร็งแพร่ลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองและกระดูกเชิงกราน จะส่งผลให้ไต กระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ยิ่งถ้ามีการแพร่กระจายไปอวัยวะที่ไกลออกไป เช่น ตับหรือปอด อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

จะเห็นได้ว่ามะเร็งปากมดลูกนั้น นอกจากจะเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดได้ง่ายแล้วยังมีความรุนแรงอีกด้วย แต่โชคดีที่มะเร็งชนิดนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีน ดังนั้น อย่าพลาดโอกาสที่จะป้องกันโรคก่อนที่จะสายเกินไป

เรียบเรียงโดย นพ. วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และมะเร็งนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


ศูนย์สูติ-นรีเวช :
อาคารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชั้น 2 ด้านเหนือ
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 33 สุขุมวิท ซอย 3 เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110
โทร : 02 011 2361

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs