bih.button.backtotop.text

โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV)

เชื้อไวรัสหลาย ๆ ตัวในบ้านเรามักจะระบาดในช่วงหน้าฝน เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ Influenza หรือเชื้อ คล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ เช่น Parainfluenza หรือไวรัสทางเดินหายใจอื่น ๆ หรือที่ไม่เกี่ยวกับทางเดินหายใจโดยตรง อย่างโรคมือเท้าปากก็เช่นเดียวกันก็มักจะระบาดในช่วงหน้าฝน เชื้อที่สำคัญที่สุดในเด็กที่สำคัญที่สุดในเด็กอันหนึ่งที่เป็นที่ผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลมากที่สุดก็คือ เชื้อ RSV 

ไวรัส RSV คืออะไร อันตรายต่อเด็กอย่างไร?

RSV (Respiratory Syncytial Virus) คือ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ในคนโดยเฉพาะ สามารถเกิดได้ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ จมูกรวมไปถึงกล่องเสียง ในช่องคอ ถึงระบบหายใจส่วนล่าง ตั้งแต่หลอดลมใหญ่ หลอดลมเล็ก ปอด
  • เด็กโต อายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ ถ้าติดเชื้อ ก็มักจะเป็นระบบหายใจส่วนบนเป็นหลัก
  • เด็กเล็กอายุแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี ก็เป็นได้ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน และลงไปถึงระบบหายใจส่วนล่างด้วย จึงมักมีอาการที่เยอะกว่า
  • มีไข้ (ต่ำถึงสูง) โดยปกติ 2 วันแรก
  • มีน้ำมูกใสในช่วงแรกซึ่งอาจเหนียวข้นขึ้นในอีกไม่กี่วันถัดมา
  • ไอมีเสมหะ บางครั้งไอจนอาเจียน
  • หายใจมีเสียงหวีดและหายใจลำบาก (หากไวรัสแพร่กระจายไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง)
 

สัญญาณที่แสดงว่า การติดเชื้อไวรัส RSV มีอาการรุนแรง และอันตราย

  • เด็กหายใจเร็วและถี่
  • ไอหรือมีเสียงวี้ดในปอดอยู่ตลอด
  • รอบปากหรือเล็บเป็นสีเขียว
  • จมูกบานหรืออกบุ๋มขณะหายใจ
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส (โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน)
หากพบอาการดังกล่าวให้รีบพาไปโรงพยาบาลทันที โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ยิ่งมีความเสี่ยงที่อาการจะรุนแรง เพราะสังเกตอาการได้ยากเนื่องจากเด็กยังเล็กสื่อสารไม่ชัดเจน ดังนั้นหากมีข้อสงสัยหรือสังเกตเห็นความผิดปกติตามที่กล่าวมาให้รีบพาไปตรวจที่โรงพยาบาลทันที เพื่อดูแลอาการและลดความรุนแรงของโรค ปัจจุบันสามารถป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรง ให้กับเด็กๆ ด้วยการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) เพียงครั้งเดียวในช่วงฤดูกาลระบาด
เมื่อมาพบกุมารแพทย์ จะให้การดูแลรักษาตามความรุนแรงของโรคเป็นหลัก เด็กบางคนที่เป็นไม่เยอะก็จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ในเด็กที่มีอาการเยอะ อายุน้อย หรือมีโรคประจำตัวหลาย อย่างๆ ก็อาจจะจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งจะมีการรักษาตั้งแต่
  • การให้น้ำเกลือเพื่อรักษาภาวะขาดน้ำ
  • เนื่องด้วยยาที่จะไปฆ่าเชื้อไวรัส RSV นี้ยังไม่มี การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาขยายหลอดลม การให้ยาละลายเสมหะ การให้ยาลดน้ำมูกในช่วงแรกซึ่งอาจจะมีความจำเป็น
  • บางคนอาจจะต้องได้รับยาแก้อักเสบร่วมไปด้วยตามดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งอาจพิจารณาว่ามีเชื้อแบคที่เรียปนเข้ามาด้วย
  • การให้ยาสเตียรอยด์บางครั้งก็อาจมีความจำเป็นในกรณีที่เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้  ระบบทางเดินหายใจ หรือ โรคภาวะหลอดลมไวร่วมด้วย
ช่วงที่เป็นฤดูระบาด คือ ช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน ในช่วงนี้ต้องระมัดระวัง เด็กที่เป็นหวัดในช่วงนี้อาจต้องคำนึงถึงเรื่องการติดเชื้อ RSV หรือ ไข้หวัดใหญ่มากกว่าเชื้ออื่น ๆ หากไม่สบายควรต้องไปพบแพทย์แต่เนินๆ  เพื่อรับการวินิจฉัยให้เร็วและรักษาได้ถูกต้องทันท่วงที
การป้องกัน มี 2 ส่วน
  1. การป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่ว ๆ ไป เช่น ล้างมือ การใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงไปในที่ ๆ มีคนป่วยเยอะ หากรู้ตัวว่าไม่สบายควรกักตัวอยู่บ้าน หรือรู้ตัวว่าติดเชื้อ RSV ควรหยุดเรียน
  2. เป็นการป้องกันเฉพาะเจาะจง คือ การฉีดวัคซีนหรือการให้ภูมิคุ้มกันโรคแบบสำเร็จ สำหรับป้องกันเชื้อ RSV 
ปัจจุบัน เรามีนวัตกรรมใหม่คือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ซึ่งต่างจากวัคซีน เพราะวัคซีนคือการฉีดสารบางอย่างเข้าไป แล้วร่างกายจะสร้างภูมิขึ้นมาต่อต้านเชื้อไวรัส ส่วนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปคือทำมาสำเร็จแล้วฉีดเข้าไปในร่างกาย พร้อมต่อสู้กับเชื้อโรค ภูมิขึ้นทันที ช่วงเวลาที่ควรฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV คือเดือนมิถุนายนของทุกปี ควรฉีดก่อนเข้าหน้าฝนซึ่งถือเป็นช่วงระบาด

ภูมิคุ้มกันสําเร็จรูป RSV (Nirsevimab) เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างจากเชื้อไวรัส Respiratory Syncytial (RSV) 


ประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันสําเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ในเด็ก

•    ลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัส RSV ได้ถึง 79.5%
•    ลดความเสี่ยงเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากไวรัส RSV ได้ถึง 83.2%
•    ลดความรุนแรงและลดโอกาสในการเข้ารักษาตัวในไอซียูได้ 75.3%
•    ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ได้ยาวนาน 5 เดือน ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาของการแพร่ระบาด
 

อายุเด็กที่สามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV ได้

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปสามารถฉีดได้ในกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิด – 2 ปี (สามารถฉีดได้ในช่วงฤดูกาลระบาดเลย เพราะภูมิคุ้มกันขึ้นทันทีหลังฉีด) ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้ฉีดภูมิคุ้มกันสําเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ดังนี้
ฤดูกาลแรก 
ฤดูกาลแรก 
1. แนะนำในทารกแข็งแรงดีทุกราย ที่อายุ ≤ 8 เดือน และอาจพิจารณาฉีดในทารกแข็งแรงดีอายุ > 8 - 12 เดือน 
2. แนะนำในทารกกลุ่มเสี่ยง ที่อายุ≤12เดือน โดยทารกกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อ RSV รุนแรง ได้แก่
  • 2.1 โรคปอดเรื้อรังจากภาวะคลอดก่อนกำหนด (BPD) ที่ยังคงได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ หรือมีการใช้ออกซิเจนในช่วง 6 เดือนก่อนเจ้าสู่ฤดูกาสระบาค
  • 2.2 เด็กมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง
  • 2.3 เด็กที่เป็น โรค cystic fibrosis รุนแรง เช่น เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการกำเริบของโรคปอดในปีแรกของชีวิต หรือมีความผิดปกติของภาพถ่ายทรวงอก หรือมีภาวะทุพโภชนาการ(Weight-for-length < 10th percentile) เป็นต้น
  • 2.4 เด็กที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดและยังคงได้รับการรักษาอยู่ (hemodynamically significant congenital heart disease)
3. โดยแนะนำให้ฉีดครั้งเดียวในระยะเข้าฤดูกาลระบาดของ RSV ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมของทุกปี สำหรับทารกที่เกิดในช่วงฤดูกาลระบาดสามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV หลังคลอดได้ทันที
 


โดย นพ. กัลย์ กาลวันตวานิช
กุมารแพทย์ ด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน และโรคระบบการหายใจ

แก้ไขล่าสุด: 07 กรกฎาคม 2568

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์กุมารเวช

ดูเพิ่มเติม

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs