bih.button.backtotop.text

โรคไส้เลื่อน

ไส้เลื่อน (hernia) คือภาวะที่อวัยวะหรือบางส่วนของอวัยวะภายในช่องท้อง เช่น ลำไส้ (bowel) หรือ แผ่นไขมัน (omentum) ยื่นออกจากช่องท้องผ่านทางกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อผนังหน้าท้องที่อ่อนแอหรือมีรูเปิดผิดปกติไปยังตำแหน่งอื่น ซึ่งอาจเป็นตำแหน่งใดก็ได้ในส่วนท้องตั้งแต่เหนือสะดือลงมาจนถึงใต้ขาหนีบ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีก้อนนูนออกมาสามารถคลำพบได้โดยง่าย

ชนิดและสาเหตุของไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนเป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย และแบ่งออกได้หลายชนิดตามตำแหน่งและสาเหตุของการเกิดโรค เช่น
 
  • ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (inguinal hernia) เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบมากที่สุด และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไส้เลื่อนชนิดนี้มี 2 ลักษณะคือ
    • เป็นไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบที่เกิดจากผนังหน้าท้องส่วนล่างหย่อนยาน ทำให้มีลำไส้ยื่นออกมาบริเวณหัวเหน่า (direct inguinal hernia)
    • เป็นไส้เลื่อนที่เคลื่อนออกมาตามรูเปิดบริเวณขาหนีบ (indirect inguinal hernia) ซึ่งรูเปิดนี้เดิมเป็นทางออกของเลือดที่มาเลี้ยงลูกอัณฑะระหว่างพัฒนาการของทารกในครรภ์มารดาและจะปิดไปตามธรรมชาติ แต่เกิดความผิดปกติที่ทำให้รูเปิดยังคงอยู่ ทำให้ลำไส้หรือแผ่นไขมันเคลื่อนออกมาได้ และอาจเคลื่อนต่อเนื่องไปยังถุงอัณฑะ
 
  • ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (femoral hernia) พบในตำแหน่งต้นขาด้านในหรือที่เรียกว่าช่อง femoral canal แต่พบได้ค่อนข้างน้อยและมักพบเฉพาะในผู้หญิง โดยสาเหตุอาจเกิดจากผนังของ ช่อง femoral canal อ่อนแอแต่กำเนิด หรือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง
 
  • ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด (incisional hernia) เป็นไส้เลื่อนที่เกิดกับผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดภายในช่องท้องมาก่อน หรืออาจเกิดระหว่างที่แผลผ่าตัดยังไม่หายสนิทก็ได้ โดยพบได้ทุกเพศทุกวัยเนื่องจากการผ่าตัดทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอหรือหย่อนยานจนลำไส้หรืออวัยวะอื่นๆ ดันตัวขึ้นมา
 
  • ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (umbilical hernia) มักพบในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากผนังหน้าท้องส่วนที่อยู่ใต้ชั้นของผิวหนังยังปิดไม่สนิท ทำให้บางส่วนของลำไส้เคลื่อนตัวออกมาอยู่ใต้สะดือและดันจนสะดือโป่งหรือที่เรียกกันว่า สะดือจุ่น แต่ไส้เลื่อนสะดือยังสามารถเกิดในผู้ใหญ่ได้
 
  • ไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง (spigelian hernia) เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนักแต่มีความรุนแรงซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งกล้ามเนื้อหน้าท้องที่เรียกกันว่าซิกซ์แพ็ค
 
  • ไส้เลื่อนกระบังลม (hiatal hernia) เกิดจากการที่ผนังกระบังลมหย่อนยานหรือมีช่องเปิดในกระบังลมแต่กำเนิด ทำให้กระเพาะอาหารส่วนบนเคลื่อนขึ้นไปยังบริเวณช่วงอก เป็นภาวะไส้เลื่อนที่พบได้ในผู้สูงวัย
 
  • ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (obturator hernia) เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้น้อยมากและมีความรุนแรงค่อนข้างมาก มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโดยเฉพาะผู้หญิงสูงวัยที่มีรูปร่างผอมบาง
ปัจจัยเสริมที่ทำให้อวัยวะเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมผ่านผนังหน้าท้องที่อ่อนแอหรือมีรูเปิดผิดปกติ ได้แก่ แรงดันภายในช่องท้องที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ อาทิ
 
  • ไอเรื้อรัง เช่น การไอของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง
  • โรคอ้วน และภาวะน้ำหนักเกิน
  • การตั้งครรภ์
  • การยกของหนักเป็นประจำ
  • การเบ่งอุจจาระเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก
  • ต่อมลูกหมากโตทำให้ต้องเบ่งเมื่อปัสสาวะ
  • มีของเหลวในช่องท้อง เช่น เกิดจากการที่ตับมีปัญหา
อาการหลักของโรคไส้เลื่อนคือคลำพบก้อนนูนในบริเวณที่เกิดโรค เช่น ในกรณีของผู้ป่วยไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบจะมีก้อนนูนด้านใดด้านหนึ่งของกระดูกเชิงกรานหรือขาหนีบ และถ้านอนลงจะสามารถดันให้กลับเข้าไปในช่องท้องได้ ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกปวดบริเวณก้อนโดยเฉพาะขณะก้มตัว ยกสิ่งของ และไอจาม หรือมีอาการอัณฑะบวมและปวด

          ส่วนไส้เลื่อนกระบังลม ผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคกรดไหลย้อน ปวดบริเวณหน้าอก และรู้สึกกลืนลำบาก ทั้งนี้ โรคไส้เลื่อนบางชนิดอาจไม่มีก้อนนูนให้เห็นเลย แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้องโดยหาสาเหตุไม่ได้ ปวดเฉพาะเวลาไอจาม หรือยกสิ่งของ มีอาการท้องผูก มีเลือดปนในอุจจาระ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการซึ่งอาจเกิดจากโรคไส้เลื่อนได้

สำหรับอาการที่ผู้ป่วยไส้เลื่อนต้องมาพบแพทย์ทันที ได้แก่
  • ปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน
  • ไม่สามารถดันก้อนนูนกลับเข้าไปในช่องท้องได้
  • ปวดท้อง ท้องอืด ไม่อุจจาระ ไม่ผายลม
  • คลื่นไส้ อาเจียน

เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ไส้เลื่อนติดคาไม่สามารถดันกลับเข้าไปในช่องท้องได้ (incarcerated hernia) หรือภาวะลำไส้ขาดเลือดและเน่าตาย (strangulated hernia) หรือภาวะลำไส้อุดตัน (bowel obstruction) ซึ่งเป็นภาวะที่อาหารหรืออุจจาระไม่สามารถเคลื่อนผ่านลำไส้ไปได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการผ่าตัดรักษาฉุกเฉิน
 
วิธีการวินิจฉัยโรคไส้เลื่อนขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรค เช่น โรคไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบและไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัดสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยมักมีก้อนนูนที่คลำพบได้โดยเฉพาะขณะยืน ยกสิ่งของ หรือไอจามซึ่งแพทย์จะคลำพบก้อนเนื้อได้ง่ายขึ้น

สำหรับไส้เลื่อนชนิดที่มองเห็นไม่ชัดหรือคลำจากภายนอกไม่พบ อาจจำเป็นต้องใช้วิธีตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ในกรณีของไส้เลื่อนกระบังลม แพทย์อาจใช้วิธีส่องกล้องผ่านลำคอลงไปยังหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารเพื่อให้เห็นภาพของอวัยวะภายใน หรือใช้วิธีตรวจอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และ MRI ในกรณีของไส้เลื่อนที่เกิดบริเวณช่องท้องและช่องเชิงกราน เป็นต้น
 
วิธีหลักในการรักษาโรคไส้เลื่อนคือ การผ่าตัด โดยความเร่งด่วนในการรักษาขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนนูนและอาการของผู้ป่วยว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ในรายที่ก้อนมีขนาดเล็กและผู้ป่วยไม่มีอาการ แพทย์อาจแนะนำให้เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนโดยยังไม่จำเป็นต้องรีบผ่าตัด หรือในกรณีของไส้เลื่อนกระบังลม (hiatal hernia) ที่มีขนาดไม่ใหญ่ และมีอาการกรดไหลย้อน การรักษาอาจเป็นการใช้ยาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

          ในกรณีที่ไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มมีอาการจากไส้เลื่อน หรือ กรณีที่ยาลดกรดไม่สามารถควบคุมอาการกรดไหลย้อนได้ในไส้เลื่อนกระบังลม (hiatal hernia) แพทย์จะแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจตามมา โดยการผ่าตัดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
  1. การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (open surgery) ผู้ป่วยจะได้รับการระงับความรู้สึกโดยวิธีดมยาสลบหรือทำให้ชาเฉพาะที่ โดยแพทย์จะทำการผ่าบริเวณที่มีก้อนนูนเพื่อดันส่วนที่เคลื่อนออกมาให้กลับเข้าไปยังตำแหน่งเดิม แล้วเย็บซ่อมจุดที่อ่อนแอพร้อมใส่วัสดุสังเคราะห์ลักษณะคล้ายตาข่าย (surgical mesh) เพื่อเสริมความแข็งแรง แล้วจึงเย็บปิดแผล การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บแผลมากกว่า และอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าการผ่าตัดผ่านกล้อง
  2. การผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopic surgery) หรือการใช้แขนกลช่วยผ่าตัดด้วยระบบดาวินชี (robotic–assisted da Vinci surgical system) โดยจะทำผ่านรูเล็กๆ ที่เจาะเข้าทางหน้าท้อง และทำการซ่อมแซมไส้เลื่อน ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ให้ผลดีกับผู้ป่วยหลายประการ เช่น
  • รอยแผลเป็นจากการผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อยลง
  • ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง และฟื้นตัวเร็วขึ้น
  • อาจลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัด เช่น ลดการติดเชื้อของแผลผ่าตัด ลดการกระทบกระเทือนต่ออวัยวะหรือเนื้อเยื่อรอบๆ
  • ผู้ป่วยอาจมีการเสียเลือดน้อยลง
ไส้เลื่อนที่ไม่ใช่ความผิดปกติแต่กำเนิด อาจสามารถป้องกันได้ดังนี้
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีเพื่อป้องกันท้องผูกและการเบ่งถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ
  • หลีกเลี่ยง หรือระมัดระวังเมื่อต้องยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก หากต้องยกให้ย่อเข่าแล้วยกขึ้น ไม่ก้มตัวยก
  • หากมีอาการไอเรื้อรัง ต้องรักษาให้หายขาด
  • ไม่สูบบุหรี่

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดบำรุงราษฎร์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.75 of 10, จากจำนวนคนโหวต 8 คน

Related Health Blogs