bih.button.backtotop.text

ไฟโบรซิสติคของเต้านม

ก้อนในเต้านมชนิดไฟโบรซิสติค เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศตามรอบประจำเดือน ก้อนเนื้อชนิดนี้มักคลำได้ทั้งสองข้างของเต้านม ก้อนเนื้อมีขอบเขตไม่ชัดเจนและคลำได้ไม่ชัดเจน ผิวขรุขระ ลักษณะหยุ่นๆ ไม่แข็ง เคลื่อนที่ได้ มักมีอาการเจ็บเต้านมและ/หรือเจ็บก้อนเนื้อ เจ็บบริเวณรักแร้ และเจ็บที่ก้อน รวมทั้งรู้สึกตึงแน่นหรือเต้านมบวมใหญ่ โดยอาการต่างๆ จะเป็นมากขึ้นเมื่อใกล้วันประจำเดือนมา แต่อาการต่างๆ จะดีขึ้นเมื่อประจำเดือนมาแล้ว ทั้งนี้การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดจะบรรเทาอาการเหล่านี้ลง ในขณะที่ถ้ารับประทานฮอร์โมนชดเชย เช่น หลังผ่าตัดรังไข่ อาการต่างๆ จะมากขึ้น ทั้งนี้ก้อนเนื้อชนิดนี้มักไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านม

อาการ
  1. เต้านมบวม
  2. เจ็บเต้านม
  3. พบก้อนที่เต้านมเพียง 1 ก้อนหรือมากกว่านั้น พบได้ทั้งสองข้างของเต้านม ก้อนเนื้อมีขอบเขตไม่ชัดเจน
  4. อาการปวดจะรุนแรงขึ้นเมื่อถึงช่วงมีรอบเดือน
แพทย์วินิจฉัยว่ามีก้อนเนื้อและหาสาเหตุของก้อนเนื้อในเต้านมได้จากอายุ ประวัติ อาการต่างๆ ประวัติการใช้ยา ความสัมพันธ์กับประจำเดือน การตรวจคลำเต้านมโดยแพทย์ การตรวจร่างกาย การตรวจภาพเต้านมด้วยอัลตราซาวนด์ และ/หรือแมมโมแกรม (การตรวจภาพรังสีเต้านม) การเจาะ/ดูดเซลล์จากน้ำหรือจากก้อนเนื้อตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหรือผ่าตัดทั้งก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้การตรวจต่างๆ ดังกล่าวขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
แนวทางการรักษาก้อนเนื้อในเต้านมโดยทั่วไป คือ การผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกตั้งแต่แรกคลำพบก้อนเนื้อ หรือเจาะ/ดูดเซลล์ หรือตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยาหรือการตรวจทางพยาธิวิทยาให้ทราบว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใด แล้วจึงให้การรักษาด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้อ

บางครั้งเมื่อแพทย์แน่ใจว่าเป็นก้อนเนื้อจากไฟโบรซิสติคและก้อนเนื้อมีขนาดเล็กๆ หลายๆ ก้อน แพทย์อาจใช้วิธีตรวจติดตามโรค (เพราะถ้าผ่าตัด อาจต้องตัดทั้งเต้านม) โดยอาจนัดผู้ป่วยทุก 2-3 เดือน ทั้งนี้เพราะก้อนเนื้อชนิดนี้อาจหายเองได้ แต่จะผ่าตัดเมื่อก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้น

หากก้อนเนื้อเกิดจากถุงน้ำ แพทย์อาจรักษาด้วยการเจาะดูดน้ำออก
 
ในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากสาเหตุแล้วยังไม่สามารถป้องกันโรคก้อนเนื้อในเต้านมได้ ดังนั้นควรหมั่นดูแล
เต้านมของตนเอง ตั้งใจคลำเต้านมทั้งสองข้างทุกครั้งเวลาที่อาบน้ำเนื่องจากฟองตอนฟอกสบู่จะทำให้ตรวจได้ง่าย เมื่อพบหรือสงสัยมีก้อนเนื้อผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือตรวจภาพรังสีเต้านม/แมมโมแกรม และ/หรืออัลตราซาวนด์เต้านมเพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โดยเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปเมื่อมีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่น้องท้องเดียวกัน) เป็นโรคมะเร็งเต้านม ต่อจากนั้นความถี่ของการตรวจภาพรังสีเต้านมขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์
 

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ศัลยกรรม

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์เวชศาสตร์จีโนม บำรุงราษฎร์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs