bih.button.backtotop.text

CCPC การรับรองมาตรฐานการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมระดับนานาชาติ

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งได้มีความพยายามจะจัดตั้งศูนย์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการในด้านมาตรฐานคุณภาพของการผ่าตัด แต่ผู้ป่วยอาจยังไมทราบว่ามาตรฐานการรักษาพยาบาลมีหลายระดับ และมาตรฐานของแต่ละโรงพยาบาลอาจแตกต่างกัน

  • ความมุ่งหวังและเป้าหมาย
  • มาตรฐานการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม
  • การควบคุมมาตรฐานการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
  • ทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมในระยะยาว
  • การติดตามและประเมินผลการผ่าตัด

ความมุ่งหวังและเป้าหมาย (Objective and Target)
ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้กำหนดเป้าหมายมาตรฐานของศูนย์ฯ ให้อยู่ในระดับนานาชาติ และให้เทียบเท่ามาตรฐานเดียวกับในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคำนึงถึงประโยชน์ให้กับผู้ป่วยที่มารับบริการ

มาตรฐานการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม (Standard Quality of Joint Replacement Surgery)
การควบคุมมาตรฐานการรักษาพยาบาลทั่วไปในระดับนานาชาติ โดยการขอรับรองมาตรฐาน JCI แต่การขอรับรองมาตรฐานการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ซึ่งเป็นมาตรฐานการรักษาเฉพาะโรคที่เรียกว่า Critical Care Program Certificate (CCPC) ซึ่งทางศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้รับการรับรองมาตรฐาน CCPC ในด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมแล้วในปี 2016 ได้รับการรับรองมาตรฐานการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมครอบคลุมทั้ง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมแบบทั้งหมด (Total Knee Replacement) การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมแบบบางส่วน (Partial Knee Replacement) การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Computer-assisted Navigation TKA) และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยแขนหุ่นยนต์ (Robotic-assisted Knee Replacement) ซึ่งให้ความสำคัญกับการบริหารคุณภาพอย่างครบวงจรในทุกขั้นตอนในขบวนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ตั้งแต่เริ่มตัดสินใจผ่าตัดไปจนถึงการติดตามผลการผ่าตัดในระยะยาว เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องผ่าตัดข้อเข่าเทียม ให้ผู้ป่วยได้ผลการผ่าตัดที่ดีและเกิดความปลอดภัย

การควบคุมมาตรฐานการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม (Quality control of Joint Replacement Surgery)
เริ่มจากการกำหนดมาตรฐานแนวทางการรักษา (Clinical practice guideline) และข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม (Indication for Surgery) ให้แพทย์ทุกท่านในศูนย์ฯปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง โดยจะมีการทบทวนแนวทางนี้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้มาตรฐานเช่นเดียวกับในประเทศสหรัฐอเมริกา

คุณภาพของบุคคลากรภายในศูนย์ฯนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่คุณภาพของแพทย์ที่ปฏิบัติงานภายในศูนย์ฯทุกท่านต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม และมีประสบการณ์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี และต้องได้รับการพิจารณารับรองคุณภาพโดย คณะกรรมการควบคุมมาตรฐานของแพทย์ภายในศูนย์ฯ ส่วนพยาบาลทุกคนทั้งในส่วนห้องตรวจผู้ป่วยนอก (Out-patient Clinic) อาคารผู้ป่วยใน (In-patient Ward) รวมทั้งทีมนักกายภาพและแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู (Physical Therapy and Rehabilitation Team) จะต้องผ่านการฝึกอบรมความรู้ในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมโดยเฉพาะ

ทีมห้องผ่าตัดทุกคนต้องได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษในด้านมาตรฐานความปลอดภัยในการผ่าตัด และการป้องกันการติดเชื้อในระดับสูง เพื่อให้อัตราการติดเชื้อจาการผ่าตัดน้อย รวมทั้งการกำหนดแนวทางการป้องกันอาการปวดหลังผ่าตัด ด้วยการกำหนดให้ผู้ป่วยทุกรายที่ทำผ่าตัดข้อเข่าเทียมได้รับการให้ยาลดปวดที่เส้นประสาทเฉพาะขาข้างที่ได้รับการผ่าตัดชนิด Adductor Canal Nerve Block ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดหลังผ่าตัดให้เหลือน้อย โดยไม่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถเดินได้เร็วภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด

ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการประเมินข้อบ่งชี้และความเหมาะสมในการผ่าตัดโดยคณะกรรมการควบคุมคุณภาพการรักษาพยาบาลของศูนย์ฯ โดยจะร่วมกันปรึกษาเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับแนวทางการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ก่อนการผ่าตัดผู้ป่วยทุกรายต้องได้รับการประเมินสภาพร่างกายตามมาตรฐานที่ศูนย์ฯกำหนด และมีการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติก่อนการผ่าตัดเพื่อให้เข้าใจข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการผ่าตัดและมีการเตรียมความพร้อมของบ้านในการดูแลหลังผ่าตัด

ทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมในระยะยาว (Varieties of options for long term outcome)
ทางศูนย์ฯให้ความสำคัญของผลการผ่าตัดไม่เพียงแต่ในระยะสั้นแต่ยังคำนึงถึงผลการผ่าตัดในระยะยาว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ข้อเทียมที่ได้รับการผ่าตัดให้ได้นาน หลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาที่เป็นสาเหตุให้ต้องทำผ่าตัดซ้ำ ปัจจัยที่มีผลต่ออายุการใช้งานข้อเทียม นอกจากอาศัยประสบการณ์ของแพทย์ผู้ทำผ่าตัดแล้ว ยังขึ้นกับคุณภาพและชนิดของข้อเทียมที่เลือกใช้ ซึ่งในปัจจุบันข้อเทียมมีให้เลือกหลายชนิด ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่ทราบข้อมูลความแตกต่างของข้อเทียมแต่ละชนิด โดยมักให้แพทย์เป็นผู้แนะนำ และผู้ป่วยอาจเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดระหว่างโรงพยาบาลหรือระหว่างแพทย์แต่ละท่าน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ซึ่งหากแพทย์ท่านใดเลือกใช้ข้อเทียมชนิดราคาประหยัด (Standard Grade) ก็จะช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดลดลง แต่หากแพทย์ท่านใดเลือกใช้ข้อเทียมชนิดที่มีคุณภาพสูง (Premium Grade) เพื่อช่วยให้อายุการใช้งานที่นานยิ่งขึ้น ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดก็จะสูงขึ้น ส่วนใหญ่แพทย์มักแนะนำให้ใช้ชนิดข้อเทียมที่แพทย์ท่านนั้นชำนาญและคุ้นเคย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่สนใจด้านคุณภาพและชนิดของข้อเทียมที่แตกต่างกัน สามารถหาข้อมูลศึกษาเพิ่มเติมได้จากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ได้โดยตรง ทางศูนย์ฯจะมีชนิดของข้อเทียมให้เลือกหลากหลายชนิด

นอกจากนี้ทางเลือกหรือปัจจัยที่ช่วยสร้างความมั่นใจที่จะให้ข้อเทียมมีอายุการใช้งานที่ดีและใช้งานได้นาน คือการพัฒนานำเทคโนโลยีมาช่วยในการผ่าตัดเพื่อลดความคลาดเคลื่อน (Human Error) โดยเพิ่มความแม่นยำในการวางตำแหน่งข้อเทียมให้ดี ได้แก่ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Computer-assisted Navigation) และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยแขนหุ่นยนต์ (Robotic-assisted Surgery) ซึ่งได้รับการยอมรับและได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก แต่อาจมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพิ่มขึ้น และไม่ใช่แพทย์ทุกท่านที่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวนี้ได้ เนื่องจากแพทย์ต้องได้รับการเรียนและฝึกฝนการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีเพิ่มเติมจนมีความชำนาญเสียก่อน ดังนั้นหากผู้ป่วยท่านใดที่สนใจในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ทางศูนย์ฯมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมระบบด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-assisted Navigation) และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยแขนหุ่นยนต์ (Robotic-assisted Surgery) ที่พร้อมให้คำแนะนำแก่คนไข้ที่สนใจได้

การติดตามและประเมินผลการผ่าตัด (Data analysis and evaluation)
ขั้นตอนด้านคุณภาพที่สำคัญอีกประการคือการรวบรวมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด มาทำการวิเคราะห์และประเมินว่าได้มาตรฐานตามที่ศูนย์ฯกำหนดไว้หรือไม่ เช่น สถิติระยะวันนอนโรงพยาบาล (Length of Hospital Stay) สถิติการเสียเลือดในการผ่าตัด (Blood Loss) และ อัตราติดเชื้อหลังผ่าตัด (Infection Rate) เป็นต้น โดยจะนำไปเปรียบเทียบข้อมูลกับมาตรฐานระดับประเทศและระดับนานาชาติ นอกจากนี้ทางศูนย์ยังให้ความสำคัญในการประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยที่มารับบริการที่ศูนย์ฯ รวมถึงการประเมินคุณภาพการใช้งานข้อเทียมหลังผ่าตัดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ทางศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ดำเนินการและบริหารจัดการขบวนการในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมอย่างครบวงจร ทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัย (Quality & Safety) ความครบถ้วนของทางเลือกในการผ่าตัด (Complete Varieties of Options) เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่สำคัญคือ ความพึงพอใจของผู้ป่วย (Patient Satisfaction) และได้ผ่านการรับรองคุณภาพด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม Clinical Care Program Certificate (CCPC) ในระดับนานาชาติ


เรียบเรียงโดย  ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs