bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy)

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์เป็นหัตถการที่มักทำกับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ขนาดใหญ่และได้รับยาไทรอกซีน แต่ก้อนเนื้อยังคงมีขนาดโตขึ้นจนไปกดทับหลอดลมหรือหลอดอาหาร ทำให้ผู้ป่วยหายใจและกลืนอาหารลำบาก นอกจากนี้การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ยังทำได้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งและเพื่อความสวยงาม

ต่อมไทรอยด์คืออะไร
ต่อมไทรอยด์อยู่ด้านหน้าของลำคอ มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ แยกออกเป็นสองส่วนหรือสองกลีบ แนบอยู่ทาง
ด้านข้างของหลอดอาหาร ต่อมไทรอยด์ทั้งสองส่วนเชื่อมต่อกันที่คอคอดไทรอยด์ (isthmus) ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอกซีน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระบบเผาผลาญของร่างกาย (ระบบพลังงาน) ในบางกรณี การที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ อาจทำให้ต้องตัดต่อมไทรอยด์ออกครึ่งหนึ่งหรือตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หัตถการนี้เรียกว่า การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่มักไม่ใช่เนื้องอกชนิดร้าย (ไม่ใช่มะเร็ง) มีเพียงผู้ป่วยเปอร์เซ็นต์เล็กน้อยเท่านั้นที่เป็นมะเร็ง
  1. เนื้องอกชนิดไม่ร้ายรวมถึง
    • ซีสต์หรือก้อนที่ภายในเป็นของเหลว
    • เนื้องอกปกติที่อยู่ในต่อมไทรอยด์ ซึ่งมักมีขนาดเล็กไม่ไปกดทับอวัยวะที่อยู่ด้านข้าง
    • เนื้องอกที่เกิดจากการอักเสบหรือติดเชื้อที่ต่อมไทรอยด์ เช่น ฝี
  2. เนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็งต่อมไทรอยด์
อาจมีต้นกำเนิดจากต่อมไทรอยด์หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากส่วนอื่นของร่างกาย รูปลักษณะ ขนาดและอัตราการเติบโตของเนื้องอกมะเร็งขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของเซลล์ ก้อนมะเร็งในไทรอยด์บางชนิดเติบโตอย่างรวดเร็วและไปเบียดอวัยวะที่อยู่ข้างๆ รวมถึงเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ทำโดยการให้ยาสลบทั่วไป ดังนั้นผู้ป่วยต้องทำการทดสอบเพิ่มเติมก่อนการผ่าตัด ซึ่งรวมถึงการตรวจเลือด การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อให้มั่นใจว่าสภาพร่างกายผู้ป่วยแข็งแรงพอที่จะเข้ารับการผ่าตัดอย่างปลอดภัย และผู้ป่วยต้องงดอาหารและน้ำก่อนการผ่าตัดหกชั่วโมงหรือตามที่แพทย์แนะนำ ถ้าผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายและมีการติดเชื้อหรือเป็นหวัด อาจต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไป ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด

ผู้ป่วยอาจต้องงดยาบางชนิดก่อนผ่าตัดเป็นสัปดาห์ เช่น ยาที่มีส่วนผสมของแอสไพรินและยาต้านการแข็งตัวของเลือด โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าว่ายาที่คุณรับประทานเป็นประจำมีอะไรบ้าง

ผู้ป่วยต้องค้างคืนที่โรงพยาบาลหนึ่งคืนก่อนวันผ่าตัดเพื่อให้วิสัญญีแพทย์เตรียมตัวผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด พร้อมเตรียมผิวหนังผู้ป่วยและงดอาหารและน้ำหลังเที่ยงคืนเพื่อป้องกันการสำลักอาหารระหว่างการให้ยาสลบ
ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวเนื่องจากยาสลบ แพทย์จะเปิดแผลช่วงลำคอ เพื่อทำการผ่าตัดนำต่อมไทรอยด์ออก หลังจากผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะเย็บแผลให้สมานกัน
  1. ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด (total thyroidectomy) ต้องรับประทานยาไทรอกซินไปตลอดชีวิต
  2. ผู้ป่วยต้องทำการเจาะเลือดเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าฮอร์โมนไทรอกซีนอยู่ในระดับที่ปกติ
  3. ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกบางส่วน (partial thyroidectomy) แต่ต่อมไทรอยด์ที่เหลือทำงานผิดปกติ จำเป็นต้องรับประทานยาไทรอกซินเช่นกัน
  4. อย่าให้ผ้าปิดแผลเปียกอย่างน้อย 48 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด
  5. ติดต่อแพทย์หรือโรงพยาบาลทันทีถ้าแผลผ่าตัดมีลักษณะแดงและ/หรือรู้สึกเจ็บปวดบริเวณแผล
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์เป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย แต่เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่นๆ อาการแทรกซ้อนที่พบได้ไม่บ่อยอาจเกิดขึ้นได้และมักจะเกิดขึ้นชั่วคราว ดังนี้
  1. บางครั้งการผ่าตัดอาจมีผลกระทบต่อเส้นประสาทของกล่องเสียงที่อยู่ใกล้กับต่อมไทรอยด์ ทำให้เสียงแหบชั่วคราวและจะดีขึ้นหลังจากการผ่าตัด 3 วันถึง 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถร้องเพลงเสียงสูงได้หลังจากการผ่าตัด
  2. การผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมดอาจมีผลกระทบต่อต่อมพาราไทรอยด์ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย ผู้ป่วยอาจต้องกินแคลเซียมและวิตามินดีเพื่อรักษาระดับแคลเซียมในร่างกายให้เหมาะสม ผู้ป่วยบางรายอาจต้องกินอาหารเสริมเหล่านี้ตลอดชีวิตและต้องตรวจเลือดเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
  3. อาการเลือดไหลใต้แผลผ่าตัดอาจทำให้เกิดอาการบวม ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัดอีกครั้งหนึ่งเพื่อหยุดอาการเลือดไหลและระบายเลือดที่คั่งออกมา อาการแทรกซ้อนเช่นนี้มีโอกาสเกิดน้อยมาก
  4. แผลติดเชื้อ ซึ่งรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)
  • หากคุณรับประทานยาที่ทำให้เลือดจาง/ยาต้านการแข็งตัวของเลือด โปรดแจ้งให้แพทย์ของคุณทราบเพราะผู้ป่วยบางรายอาจต้องหยุดยาก่อนการเดินทางเพื่อเตรียมพร้อมในการผ่าตัด
  • คุณควรวางแผนที่จะอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์หรือตลอดระยะเวลาการรักษา
  • หากคุณวางแผนที่จะเดินทางกลับบ้านหลังการผ่าตัด โปรดปรึกษาแพทย์ของคุณก่อนที่จะจัดเตรียมการเดินทาง
ระหว่างการมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการหลังการผ่าตัด ทีมแพทย์จะประเมินสุขภาพและแผลผ่าตัดของคุณ หลังจากนั้นคุณจะได้รับเอกสารที่มีประวัติการรักษาและใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าคุณมีสุขภาพดีพร้อมในการเดินทาง (Fit to fly certificate) หากคุณจำเป็นต้องใช้
ความสำเร็จในการผ่าตัดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โปรดปรึกษาแพทย์ของคุณถึงโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการผ่าตัดก่อนที่จะตัดสินใจ
ปัญหาทางสุขภาพของคุณอาจรุนแรงขึ้นจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื้องอกอาจโตขึ้นจนไปกดทับหลอดลมหรือหลอดอาหาร ทำให้หายใจหรือกลืนลำบาก
การรักษาโรคทางต่อมไทรอยด์มีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาในการรักษา เมื่อแพทย์พบว่าต่อมไทรอยด์มีปัญหา แพทย์จะใช้วิธีรักษาด้วยการลดปริมาณฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมไทรอยด์ ซึ่งทำได้ดังนี้
  1. ใช้ยาเพื่อลดปริมาณการหลั่งฮอร์โมนไทรอกซีนในต่อมไทรอยด์
  2. การรักษาด้วยไอโอดีนรังสีเพื่อหยุดการทำงานและลดขนาดของต่อมไทรอยด์
  3. การผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือทั้งหมด มักทำกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยหรือผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคโรคเกรฟส์ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติ

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์หู คอ จมูก

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs