bih.button.backtotop.text

การปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต

การปลูกถ่ายตับ คือ การเปลี่ยนตับที่มีโรคด้วยตับใหม่ที่ปกติ โดยผ่าตัดเอาตับเดิมออกและนำตับใหม่ใส่ลงไปแทนที่ การรักษานี้เป็นทางเลือกในการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะโรคตับระยะสุดท้ายซึ่งไม่สามารถทำการรักษาได้โดยวิธีอื่น การปลูกถ่ายตับจะทำให้ตับสามารถกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้อีกครั้ง การปลูกถ่ายตับยังสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและช่วยยืดอายุของผู้ป่วยให้ยาวนานขึ้น

มีความสัมพันธ์กับผู้รับบริจาคทางใดทางหนึ่ง

คือ การผ่าตัดบางส่วนของตับจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย โดยผู้บริจาคจะต้องมีความสัมพันธ์กับผู้รับบริจาคทางใดทางหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 

  1. มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ได้แก่ บิดาหรือมารดา บุตร พี่น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องต่างบิดาหรือมารดา ลุง ป้า น้า อา หลาน หรือลูกพี่ลูกน้องในลำดับแรก (พิสูจน์ได้โดยหลักฐานทางกฎหมายและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ human leucocyte antigen (HLA) และ/หรือ DNA)
  2. คู่สมรส ซึ่งเป็นภรรยาหรือสามีที่ถูกต้องตามกฎหมายกับผู้รับบริจาค และสมรสมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี หรือหากมีบุตรร่วมกัน ระยะเวลาการสมรส 3 ปีนั้นสามารถยกเว้นได้โดยอาจใช้การตรวจ DNA ยืนยันการเป็นบุตรของคู่สมรส
การผ่าตัดบริจาคบางส่วนของตับเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้าย

 

ผู้บริจาคที่มีชีวิตจะต้องได้รับข้อมูลและได้รับการประเมินโดยละเอียด ดังต่อไปนี้

  1. รับทราบถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเพื่อเป็นผู้บริจาคตับ เช่น หมู่เลือดและขนาดของตับ
  2. รับทราบว่าผู้บริจาคจะได้รับการตรวจประเมินและดูแลจากแพทย์โรคตับอีกท่านหนึ่งเพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิ์ให้แก่ผู้บริจาค
  3. รับทราบถึงความเสี่ยงระยะสั้นและระยะยาวรวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้บริจาคภายหลังการผ่าตัดตับ
  4. รับทราบถึงความเสี่ยงระยะสั้นและระยะยาวรวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้รับบริจาค รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้รับบริจาคอาจไม่สามารถมีชีวิตรอด แม้จะได้รับการปลูกถ่ายบางส่วนของตับแล้ว
  5. ตรวจสอบหลักฐานเพื่อยืนยันความสัมพันธ์กับผู้รับบริจาคตามข้อกำหนดของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง ทะเบียนสมรส สูติบัตร เป็นต้น
    **กรณีชาวต่างชาติ เอกสารยืนยันการเป็นเครือญาติหรือสามี ภรรยา ต้องได้รับการออกเอกสารโดยสำนักงานกฎหมายในประเทศที่พักอาศัยอยู่ จากนั้นให้ได้รับการรับรองจากสถานทูตหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการนี้ของประเทศผู้มาร้องขอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ และได้รับการรับรองด้านความถูกต้องของผู้ออกเอกสารจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
  6. การซักประวัติสุขภาพและการตรวจร่างกายโดยแพทย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
  7. การตรวจทางห้องปฏิบัติการประกอบด้วยการทดสอบเลือดเพื่อตรวจหาไวรัสหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ (ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส ไซโตเมกะโลไวรัส และเชื้อไวรัสเอชไอวี) เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ การตรวจวัดปริมาตรของตับ และรายการทดสอบอื่นๆ ที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย
  8. การตรวจประเมินสภาพจิตใจและจิตสังคมโดยจิตแพทย์ เพื่อดูความพร้อมและความสมัครใจของการบริจาคตับ
  9. ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการปลูกถ่ายอวัยวะของโรงพยาบาลว่าสามารถบริจาคบางส่วนของตับให้กับผู้รับบริจาคได้
  10. มีความเข้าใจและยอมรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและความคุ้มครองของประกันที่เกี่ยวข้องของการเป็นผู้บริจาคที่มีชีวิต
  11. ลงนามยินยอมเข้าร่วมการบริจาคตับและรับทราบวันเวลา กำหนดนัดการผ่าตัดบริจาคตับ ระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาล และการดูแลตนเองภายหลังการผ่าตัด
  1. ตรวจดูแผลและบริเวณโดยรอบทุกวัน หากมีอาการบวม แดง ร้อน หรือมีของเหลวซึมบริเวณแผลผ่าตัด กรุณากลับมายังโรงพยาบาลทันที
  2. ห้ามดึงแผ่นปิดยึดแผลป้องกันน้ำออกจนกว่าจะพบแพทย์ในวันนัด หากแผ่นปิดยึดแผลหลุดออกเอง ไม่ต้องปิดยึดใหม่และระมัดระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำจนกว่าแผลจะหายดี
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ควรรับประทานผักผลไม้และอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ หรืออาหารที่ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ
  4. ควบคุมดัชนีมวลกาย (body mass index: BMI) ไม่ให้สูงเกิน 25 ซึ่งค่าดัชนีมวลกายสามารถคำนวณได้โดยนำน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงกำลังสองในหน่วยเมตร
  5. งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด เพื่อให้ตับได้รักษาตัวกลับสู่ภาวะปกติ
  6. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่สามารถทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหดตัวและทำให้ความดันสูงขึ้น
  7. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน
  8. งดการยกของหนักหรือการออกกำลังกายหักโหมอย่างน้อย 6 เดือนหลังการผ่าตัด เพื่อให้แผลผ่าตัดสมานตัวและเพื่อให้กล้ามเนื้อฟื้นคืนความแข็งแรง
  9. พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  10. สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันและมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ขึ้นกับสภาพความพร้อมของร่างกาย
  11. สามารถกลับไปทำงานได้เมื่อร่างกายมีความพร้อมขึ้นอยู่กับประเภทของงานที่ทำ
  12. งดขับรถในช่วง 4 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด
  13. พบแพทย์ตามนัดและตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของตับ
  14. ติดต่อโรงพยาบาลโดยด่วนหากมีอาการดังต่อไปนี้
  • มีเลือดหรือหนองไหลซึมออกมาจากแผลผ่าตัด
  • มีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
  • อาเจียนหรือท้องเสีย
  • มีอาการปวดมากจนไม่สามารถควบคุมได้
  • ตาหรือผิวกลายเป็นสีเหลือง (โรคดีซ่าน)

ความเสี่ยงทางด้านกายภาพทั่วไป

  • ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาระงับความรู้สึก
  • ภาวะเลือดออกมาก อาจจำเป็นต้องได้รับเลือด ซึ่งมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการให้เลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือด
  • ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจและหลอดเลือดล้มเหลว และความดันโลหิตสูง
  • อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับอวัยวะอื่นภายในช่องท้อง มีการสะสมของของเหลว การเกิดพังผืดภายในช่องท้อง
  • ลิ่มเลือดที่ขาแตกตัวและเคลื่อนย้ายไปสู่ปอด (โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด)
  • ปัญหาในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องอืด คลื่นไส้ (การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลงหรือไม่เคลื่อนไหว) ลำไส้อุดตันหรือทะลุ
  • ความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดหรือมีอาการไม่สุขสบายที่บริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่อาการปวดเรื้อรัง
  • การติดเชื้อ (เช่น โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ) หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการใส่สายสวน มีไข้ ปอดบวม หรือแผลติดเชื้อ
  • ผู้บริจาคที่มีชีวิตอาจเกิดภาวะตับล้มเหลวหลังจากเข้ารับการผ่าตัดบริจาคอวัยวะ ซึ่งอาจต้องได้รับการปลูกถ่ายตับอย่างเร่งด่วนหรือมีอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนนี้เกิดขึ้นได้น้อย โดยมีโอกาสการเกิด 2 รายในผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต 1,000 ราย (ร้อยละ 0.2)

ความเสี่ยงทางด้านกายภาพที่เฉพาะเจาะจง

ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดตับและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดตับบางส่วน ได้แก่

  • การรั่วไหลของน้ำดีเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด สามารถพบได้ร้อยละ 5-15 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด โดยส่วนใหญ่ภาวะถุงน้ำดีรั่วบรรเทาได้โดยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดแก้ไข และสามารถรักษาโดยการส่องกล้องใส่ท่อพลาสติกเพื่อลดความดันโดยการระบายน้ำดีออกจากบริเวณนั้น หรือใส่ท่อแบบนิ่มเพื่อระบายน้ำดีสู่จุดอื่นเพื่อให้แผลสมานตัว บางครั้งน้ำดีถูกปล่อยผ่านท่อออกมาสู่ถุงที่อยู่นอกร่างกาย ซึ่งถุงจะถูกปลดออกเมื่อไม่มีอาการน้ำดีรั่วอีกต่อไป
  • อาการท่อนำน้ำดีตีบตันสามารถเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดแต่เกิดขึ้นได้น้อย สามารถรักษาได้โดยการส่องกล้องเพื่อใส่ขดลวดขยายท่อนำน้ำดีส่วนที่ตีบตันได้
  • ตับของผู้บริจาคอาจไม่เหมาะสมต่อการปลูกถ่าย โดยตับของผู้บริจาคอาจมีความผิดปกติซึ่งไม่อาจตรวจพบได้จากการทดสอบวินิจฉัยก่อนผ่าตัดและแพทย์อาจตัดสินใจในเรื่องนี้ได้ทุกเมื่อแม้กระทั่งระหว่างการผ่าตัด หากแพทย์ทำการประเมินตับของผู้บริจาคและตัดสินว่าไม่สามารถนำไปปลูกถ่ายได้ การปลูกถ่ายอวัยวะนั้นจะถูกยกเลิก

อ้างอิงจากสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกา ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งประเภทรุนแรงและไม่รุนแรงอยู่ที่ประมาณ 15 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่มีผลกระทบรุนแรงและอาการบรรเทาได้เองโดยไม่ต้องทำหัตถการหรือการผ่าตัดแก้ไขใดๆ

ความเสี่ยงทางจิตสังคม

การบริจาคตับมีความเสี่ยงทางจิตสังคมที่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร โดยมีความเกี่ยวข้องกับการบริจาคตับ คุณภาพชีวิตของผู้บริจาคอาจได้รับผลกระทบจากการบริจาค โดยเกิดจากการนอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า หมกมุ่นกับสุขภาพโดยรวมและสุขภาพของตับ ความคิดฆ่าตัวตาย ปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (post-traumatic stress disorder: PTSD) ความรู้สึกผิดหรือความทุกข์ในกรณีที่ผู้รับบริจาคเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้รับบริจาคเกิดโรคเดิมอีกครั้ง หรือเสียชีวิต

หากผู้บริจาคมีความกังวล ความรู้สึกถาโถมหรือเกิดภาวะทุกข์โศกทางอารมณ์ โปรดติดต่อทีมปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อรับการสนับสนุนและความช่วยเหลือ นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้บริจาคและครอบครัว

 

หลังจากได้รับบางส่วนของตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต การปลูกถ่ายจะนับได้ว่าสำเร็จเมื่อผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับการฟอกตับอีกต่อไปหรือตับสามารถทำงานได้เป็นปกติ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้ ทำให้การปลูกถ่ายตับไม่ประสบผลสำเร็จแม้ว่าได้กระทำโดยหลักการและวิธีทางการแพทย์อย่างครบถ้วนแล้วก็ตาม อัตราความสำเร็จของการปลูกถ่ายตับขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของทีมแพทย์และยังรวมถึงปัจจัยอื่นอีกมากมาย

ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จ ได้แก่

  • อายุ สุขภาวะ และอาการเจ็บป่วยและโรคประจำตัวของผู้รับบริจาค
  • อายุและสุขภาวะของผู้บริจาค
  • คุณลักษณะของตับที่ได้รับบริจาค
  • ภาวะการเกิดปฏิกิริยาต่อต้านกับอวัยวะบริจาค
  • อาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
  • ผลข้างเคียงจากยาที่ใช้
  • การปฏิบัติตัวของผู้รับบริจาค
ในปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายตับได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้าย ซึ่งแหล่งที่มาของตับแบ่งออกเป็นจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตหรือที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยผู้บริจาคที่มีชีวิตจะได้รับการประเมินอย่างครอบคลุมก่อนการบริจาค และจะได้รับอนุญาตให้บริจาคตับได้เมื่อมีสภาวะร่างกายที่สมบูรณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความประสงค์บริจาคอวัยวะมีอิสระในการตัดสินใจที่จะบริจาคหรือยกเลิกการบริจาคอวัยวะได้ทุกระยะเวลา
 
เมื่อโรคตับมีการดำเนินของโรคในระยะสุดท้าย หากไม่รักษาด้วยการปลูกถ่ายตับ ผู้ป่วยจะมีอายุขัยที่สั้นลง การรักษาอื่นๆ เป็นเพียงการรักษาเพื่อหยุดหรือชะลอการทำลายของเนื้อเยื่อตับเท่านั้น

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์โรคไต

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs