bih.button.backtotop.text

การตรวจและรักษาข้อต่อด้วยวิธีส่องกล้อง

การตรวจและรักษาข้อต่อด้วยวิธีส่องกล้อง คือ หัตถการที่ใช้เพื่อการประเมินและรักษาปัญหาข้อต่อ โดยใช้กล้องใยแก้วนำแสง หัตถการชนิดนี้ทำให้แพทย์สามารถประเมินข้อต่อได้ โดยมีแผลขนาดเล็กเพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้น แต่สามารถทำหัตถการผ่าตัดได้ในพื้นที่ขนาดกว้าง หัตถการดังกล่าวหมายรวมถึงการนำเอากระดูกอ่อนที่ฉีกขาดออก หรือรักษากระดูกอ่อนที่ฉีกขาด รักษาเอ็น หรือนำเอาเศษกระดูกหรือเศษกระดูกอ่อนที่หลุดออกมา ข้อต่อบริเวณที่สามารถทำหัตถการนี้ได้คือ หัวเข่า ไหล่ ศอก ข้อมือ ข้อเท้า และสะโพก

ขั้นตอนการทำหัตถการ
การเตรียมตัวก่อนทำหัตถการ
เนื่องจากการผ่าตัดส่องกล้องทำเมื่อผู้ป่วยอยู่ภายใต้ฤทธิ์ยาสลบ ดังนั้นผู้ป่วยต้องตรวจสุขภาพร่างกาย ตรวจเลือด ถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อน ผู้ป่วยต้องงดอาหารและน้ำ 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัดหรือตามที่แพทย์สั่ง และต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่าใช้ยาอะไรอยู่บ้างเนื่องจากอาจต้องหยุดยาบางอย่างก่อนผ่าตัด
 
ขั้นตอนการทำหัตถการ
ผู้ป่วยได้รับการเตรียมข้อที่ผ่าตัดเช่นเดียวกับการผ่าตัดใหญ่ทั่วไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อแพทย์จะเจาะรูเข้าไปในข้อ มีบาดแผลเล็กๆ ขนาด 0.8-1 เซนติเมตร ซึ่งเพียงพอที่จะใส่กล้องเข้าไปในข้อเพื่อตรวจดูภายในข้อ หากพบความผิดปกติที่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์จะเจาะรูเพิ่มอีกเพื่อใส่เครื่องมือผ่าตัด ขณะผ่าตัดสามารถต่อกล้องเข้ากับจอภาพและบันทึกภาพได้ หลังผ่าตัดเย็บแผลปิด 1 เข็ม บางรายแผลเล็กมากอาจไม่ต้องเย็บแผล
 
หลังการทำหัตถการ
หลังการส่องกล้องตรวจภายในข้อ ผู้ป่วยอาจต้องอยู่ในห้องพักฟื้น 2-3 ชั่วโมงและสามารถกลับบ้านได้เลยในวันนั้น รอยแผลเล็กๆ ใช้เวลา 2-3 วันจึงจะหาย สามารถถอดวัสดุปิดแผลออกได้ในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากการทำหัตถการและใช้พลาสเตอร์ปิดแผลแทนแม้ว่าแผลจะมีขนาดเล็กก็ตาม ควรมีคนขับรถให้ ผู้ป่วยอาจต้องใช้สายคล้องแขนหรือไม้ค้ำหลังจากการส่องกล้อง ซึ่งส่วนใหญ่สามารถทำงานเบาๆ ได้ในช่วงสัปดาห์แรกและอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์จึงจะกลับไปทำงานหนักๆ ได้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของอาการและแพทย์อาจสั่งยาเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ อาจต้องยกข้อที่ผ่าส่องกล้อง ประคบเย็น และรัดข้อไว้เป็นเวลาหลายวัน แพทย์หรือพยาบาลอาจให้ทำกายภาพบำบัดหรือออกกำลังกายในท่าที่เฉพาะเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แต่สำหรับข้อต่อนั้นต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ในการฟื้นตัวได้เต็มที่ ผู้ป่วยอาจได้รับคำแนะนำให้ทำกิจกรรมเฉพาะหรือเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นฟูเพื่อให้การฟื้นตัวเป็นไปได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาข้อต่อของผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยไม่ควรกลับไปทำงานหรือไปโรงเรียนหรือปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามปกติในช่วงไม่กี่วันแรกหลังทำหัตถการ สำหรับนักกีฬาหรือบุคคลอื่นๆ ที่มีสภาพร่างกายที่ดีนั้นอาจกลับไปเล่นกีฬาได้ภายใน 2-3 สัปดาห์
ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการเหล่านี้
  • ไข้สูงมากกว่า 100.4 องศาฟาเรนไฮต์
  • แผลซึม
  • มีอาการปวดที่รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น
  • ข้อแดงหรือบวม
  • รู้สึกชาหรือซ่าๆ
การรักษาด้วยวิธีนี้นับเป็นวิธีการที่รุกล้ำน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก บางครั้งมองเกือบไม่เห็นแผลผ่าตัด ไม่ต้องตัดเยื่อหุ้มข้อ เนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ การบาดเจ็บจากแผลผ่าตัดน้อยลง การเคลื่อนไหวของข้อหลังผ่าตัดทำได้เร็วขึ้น สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็ว ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อยมาก วินิจฉัยได้ถูกต้อง แม่นยำ และรักษาได้ทันที หรือวางแผนผ่าตัดในอนาคตได้

หัตถการนี้ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน ทั้งนี้เวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวจะเกี่ยวข้องกับความซับซ้อนของปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย
อาการแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างทำหัตถการหรือหลังจากนั้น แต่ไม่เกิดขึ้นบ่อย อาการแทรกซ้อนอาจเป็นเรื่องของการติดเชื้อ เส้นเลือดทะลุ บวม มีเลือดออก เส้นเลือดหรือเส้นประสาทได้รับการกระทบกระเทือน และอุปกรณ์หัก แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้น้อย
 
คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางก่อนและหลังเข้ารับหัตถการ
ก่อนทำหัตถการ
  • ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายและการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนการวางแผนการผ่าตัด และได้รับการผ่าตัดอย่างเร็วที่สุดเมื่อผู้ป่วยมีความพร้อม โดยใช้เวลา 1-2 วันหรือภายใน 24 ชั่วโมง
  • แนะนำให้พักโรงแรมใกล้โรงพยาบาลเพื่อความสะดวกในการเดินทางทั้งก่อนและหลังทำผ่าตัด ตามที่แพทย์แนะนำให้กลับมาทำกายภาพบำบัดจนถึงวันนัดพบแพทย์
หลังทำหัตถการ
  • ผู้ป่วยควรอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ตลอดระยะเวลาการรักษา อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของโรคผู้ป่วย สภาวะของร่างกายก่อนการผ่าตัด รวมถึงอายุของผู้ป่วย ซึ่งอาจทำให้ใช้ระยะเวลาในการอยู่ประเทศไทยนานขึ้น
  • ในวันนัดตรวจติดตามอาการ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายและดูแลแผลผ่าตัด นอกจากนี้ผู้ป่วยจะได้รับเอกสารสรุปประวัติการรักษา ใบรับรองแพทย์ ใบนัดตรวจครั้งต่อไป และเอกสาร Fit to fly
  • ผู้ป่วยสามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ หากเป็นรถยนต์โดยสาร 4 ที่นั่ง แนะนำให้ผู้ป่วยนั่งหน้าข้างคนขับและปรับเบาะโดยสารเอนต่ำ แต่หากเป็นรถตู้โดยสาร แนะนำให้ผู้ป่วยนั่งเบาะหลังคนขับและปรับเบาะโดยสารเอนต่ำ
  • โดยปกติแล้วผู้ป่วยสามารถเดินทางกลับประเทศโดยเครื่องบินได้ ควรสอบถามแพทย์เจ้าของไข้เพื่อยืนยันความสามารถในการเดินทางก่อนการจองตั๋วเครื่องบิน
    • ผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำให้ใช้เครื่องพยุง (walker, crutches, cane) โปรดแจ้งสายการบินรับทราบหากท่านต้องการรถเข็นนั่ง (wheelchair) เพื่อช่วยเหลือระหว่างการเดินทาง
    • กรณีผู้ป่วยนั่ง First Class หรือ Business Class ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
      • กิจกรรม ผู้ป่วยสามารถปรับเบาะโดยสารเอนนั่งหรือนอนได้ตามปกติพยายามหนุนอวัยวะที่ผ่าตัดไม่ให้ห้อยต่ำและอยู่ในแนวปกติ (alignment) หมั่นบริหารกล้ามเนื้อขาอย่างสม่ำเสมอขณะที่นั่งระหว่างเดินทาง โดยเกร็งกล้ามเนื้อเหยียดปลายเท้าร่วมกับการหายใจลึกต่อเนื่อง 10 ครั้งต่อชั่วโมงซึ่งจะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
      • การรับประทานอาหารและยา แนะนำให้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ประมาณ 2,000-2,500 มิลลิลิตรต่อวัน งดคาเฟอีนและยากล่อมประสาท
      • อุปกรณ์ช่วยพยุง ผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหรือสายคล้องแขนให้สวมใส่ตลอดระยะเวลาที่อยู่บนเครื่องบิน แต่สามารถถอดออกเฉพาะเวลาปรับเอนนอนเท่านั้น
    • กรณีผู้ป่วยนั่ง Economy Class แนะนำให้เลือกที่นั่งแถวหน้าและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
      • กิจกรรม ให้ผู้ป่วยปรับเบาะที่นั่งเอนเท่าที่สามารถทำได้ พยายามหนุนอวัยวะที่ผ่าตัดไม่ให้ห้อยต่ำและอยู่ในแนวปกติ (alignment) หมั่นบริหารกล้ามเนื้อขาอย่างสม่ำเสมอขณะที่นั่งระหว่างเดินทาง โดยเกร็งกล้ามเนื้อเหยียดปลายเท้าร่วมกับการหายใจลึกต่อเนื่อง 10 ครั้งต่อชั่วโมงซึ่งจะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น นอกจากนี้ควรลุกจากที่นั่งมาเดินอย่างน้อยทุก 30 นาที
      • การรับประทานอาหารและยา แนะนำให้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ประมาณ 2,000-2,500 มิลลิลิตรต่อวัน งดคาเฟอีนและยากล่อมประสาท
      • อุปกรณ์ช่วยพยุง ผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหรือสายคล้องแขนให้สวมใส่ตลอดระยะเวลาที่อยู่บนเครื่องบิน
ควรปรึกษาแพทย์ แต่การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลและฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้ดีกว่า ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ออร์โธปิดิกส์

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 6.90 of 10, จากจำนวนคนโหวต 20 คน

Related Health Blogs