bih.button.backtotop.text

คลำเจอก้อนที่คอ แค่ก้อนเนื้อหรือมะเร็งต่อมไทรอยด์

 
จะรู้ด้วยตัวเองได้อย่างไรว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์
หากอยากทราบว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์หรือไม่ สามารถตรวจด้วยตัวเองง่ายๆ โดยการยืนส่องกระจกและสังเกตบริเวณต่อมไทรอยด์ซึ่งอยู่ส่วนล่างของลำคอด้านหน้า ถ้าเป็นผู้ชายจะอยู่ใต้ลูกกระเดือก โดยอยู่ตรงกลางระหว่างกระดูกไหปลาร้าทั้งสองข้าง ให้แหงนคอไปข้างหลังเล็กน้อยจะทำให้เห็นไทรอยด์ได้ชัดเจนขึ้น หลังจากนั้นให้กลืนน้ำลายเพื่อให้ตัวไทรอยด์ขยับขึ้นลง หากมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ จะสังเกตเห็นก้อนขยับเลื่อนขึ้นลงขณะกลืนน้ำลาย บางครั้งทำครั้งเดียวอาจเห็นไม่ชัดเจน ให้จิบน้ำแล้วลองทำซ้ำหลายๆครั้งและสังเกตดูว่ามีลักษณะเป็นก้อนที่ต่อมไทรอยด์หรือไม่
 
ก้อนที่ต่อมไทรอยด์เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง
ก้อนที่ต่อมไทรอยด์อาจเกิดขึ้นได้จากภาวะหลายอย่าง เช่น
  • เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Adenoma)
  • เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของต่อมไทรอยด์แต่ทำงานมากเกินไป (Toxic Adenoma)
  • ซีสต์ที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid cyst)
  • โรคคอพอก (nodular goiter)
  • การอักเสบเรื้อรังของต่อมไทรอยด์ (Chronic inflammation of the thyroid)
  • โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (thyroid carcinoma)
ก้อนที่ต่อมไทรอยด์แบบไหนที่อาจเป็นมะเร็ง
มะเร็งต่อมไทรอยด์ มักเริ่มจากการเป็นก้อนบริเวณต่อมไทรอยด์ ก่อนที่ก้อนจะโตขึ้นเรื่อยๆ วิธีสังเกตว่าก้อนที่ต่อมไทรอยด์อาจเป็นเนื้อร้าย คือ ก้อนโตเร็วผิดปกติ เช่น เดือนที่แล้วคลำได้ขนาดประมาณ 1 ซม.แต่เดือนนี้คลำได้ขนาด 1.5 ซม. หรือ 2 ซม. รวมถึงก้อนมีลักษณะแข็ง หากเป็นก้อนนุ่มๆอาจเป็นเพียงก้อนซีสต์ธรรมดา นอกจากนี้ก้อนมะเร็งยังลุกลาม ซึ่งมีเส้นประสาทบังคับเส้นเสียงทำให้เกิดอัมพาตของเส้นประสาทและเส้นเสียงทำให้คนไข้เสียงแหบ มีปัญหาในการกลืน เกิดการสำลักน้ำและอาหารได้ ดังนั้นหากมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์และมีอาการเสียงแหบร่วมกับสำลักอาหาร ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นมะเร็ง
 
หากคลำเจอก้อนที่ต่อมไทรอยด์แล้ว ควรทำอย่างไรต่อไป
ถึงแม้สถิติในคนทั่วๆ ไปพบว่าก้อนที่ต่อมไทรอยด์เพียง 5-6% เป็นมะเร็งไทรอยด์ แต่โอกาสในการเป็นมะเร็งของคนแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ดังนั้นอย่างนิ่งนอนใจเมื่อพบว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ควรมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม หากแพทย์คลำพบว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ แพทย์จะวินิจฉัยเพิ่มเติมอย่างละเอียดด้วยวิธีการดังนี้
  • ตรวจอัลตร้าซาวด์ที่ต่อมไทรอยด์
  • ไทรอยด์สแกนในกรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนและมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
  • Fine Needle Aspiration (FNA) ในกรณีที่ตรวจอัลตร้าซาวด์แล้วสงสัยว่าอาจเป็นก้อนมะเร็งแพทย์จะใช้เข็มเล็กๆเพื่อเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจโดยใช้อัลตร้าซาวด์ช่วยในการระบุตำแหน่งของก้อน ทำให้มีความแม่นยำสูง ประกอบกับความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางในการอ่านชิ้นเนื้อ ทำให้มีโอกาสวินิจฉัยผิดพลาดน้อย
  • Cervical lymph node mapping ultrasound เพื่อให้มั่นใจว่ามะเร็งไม่ได้กระจายไปยังบริเวณอื่น แพทย์จะใช้อัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจบริเวณต่างๆของต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโดยละเอียดตั้งแต่คอส่วนบนจนถึงคอส่วนล่างเหนือกระดูกไหปลาร้า เพื่อดูว่ามะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใดบ้าง ทำให้ศัลยแพทย์สามารถเลาะต่อมน้ำเหลืองที่สงสัยออกมาพร้อมกับมะเร็งในต่อมไทรอยด์ ช่วยลดโอกาสในการเกิดมะเร็งซ้ำในต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอและลดความเสี่ยงในการผ่าตัดซ้ำ
  • ตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ในกรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่มากจนแพทย์สงสัยว่าก้อนไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียงบริเวณลำคอหรือช่องอก

โรคของไทรอยด์ พบได้บ่อยแต่ว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าสามารถตรวจพบได้เร็ว รักษาถูกต้อง ส่วนใหญ่ผลการรักษาจะดีมาก ซึ่งรวมถึงโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วย  ดังนั้นเมื่อคลำเจอก้อนเนื้อที่คอ ควรรีบมาพบแพทย์ หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ ประกอบกับความแม่นยำและความรวดเร็วในการตรวจชิ้นเนื้อของห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มั่นใจได้ว่าได้รับการรักษาอย่างตรงจุดและปลอดภัยอย่างแน่นอน


เรียบเรียงโดย นายแพทย์รชานนท์ มูรธานันท แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อเมตะบอลิสม


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
          8.00-20.00  (BKK Time)
          02-0113984-5 and 02-113991

          20.00-8.00 (BKK Time)
          Contact center +662 066 8888 and  1378

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs