อาการเจ็บบริเวณหัวไหล่ ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บแบบรู้สึกแปลบขึ้นมาเฉพาะเวลาใช้แขน หรือเจ็บถึงขนาดไม่สามารถนอนหลับได้ ไปจนกระทั่งไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนได้อย่างที่เคยทำหรือไม่สามารถกางแขนออกข้างลำตัวได้เลย อาการเหล่านี้อาจเนื่องมาจาก “เอ็นข้อไหล่ฉีก” ซึ่งเกิดได้จากการที่เอ็นข้อไหล่มีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา รวมถึงการออกแรงที่บริเวณหัวไหล่มากเกินไปจนทำให้เกิดการบาดเจ็บ
เอ็นข้อไหล่ คือ กลุ่มเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่าง humerus (แขนบน) และ scapula (ไหปลาร้า) เข้าด้วยกัน เอ็นกลุ่มนี้ทำให้หัวไหล่มีความแข็งแรงและทำให้กล้ามเนื้อหัวไหล่หมุนได้
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เอ็นข้อไหล่ฉีกนั้น อาจเกิดได้จาก
- การเสื่อมสภาพของเอ็นข้อไหล่ตามกาลเวลา เนื่องจากส่วนของร่างกายเราถ้ามีเลือดไปเลี้ยงมากจะมีการรักษาตัวเองได้มากและเร็วขึ้น แต่เอ็นข้อไหล่เป็นส่วนที่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงน้อย กลุ่มเส้นเอ็นจึงเปราะและฉีกขาดได้ง่าย
- การเคลื่อนไหวของหัวไหล่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เมื่อร่วมกับการเสื่อมสภาพของเอ็นข้อไหล่จะทำให้อาการแย่ลงเรื่อยๆ โดยสาเหตุนี้จะพบได้ในนักกีฬาที่ต้องเขวี้ยงมือเป็นประจำ เช่น นักเบสบอล รวมถึงการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เช็ดหน้าต่าง ล้างรถ ทาสี หากต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานก็สามารถทำให้เกิดเอ็นข้อไหล่ฉีกได้
- การออกแรงมากเกินไป โดยเป็นแรงที่เกิดจากความพยายามที่จะจับวัตถุที่กำลังหล่นลงมาหรือยกวัตถุที่หนักมากด้วยมือที่ยืดออก รวมถึงแรงที่เกิดจากการตกกระแทกลงบนไหล่โดยตรง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เอ็นข้อไหล่ฉีกมักอยู่ในช่วงวัยกลางคนและมีปัญหาเกี่ยวกับหัวไหล่มาอยู่บ้าง เมื่อยกวัตถุหนักจึงทำให้เกิดเอ็นข้อไหล่ฉีกได้ อย่างไรก็ดี ในคนหนุ่มสาวก็สามารถเกิดการบาดเจ็บนี้ได้เช่นกันหากมีการใช้งานหัวไหล่มากเกินไปหรือเกิดอุบัติเหตุ
เมื่อเกิดเอ็นข้อไหล่ฉีก ผู้ป่วยจะมีอาการที่พบได้คือ อาการเจ็บปวดและหัวไหล่ข้างนั้นอ่อนแรง โดยยิ่งมีรอยฉีกมากเท่าไรก็จะยิ่งเจ็บปวดและมีอาการอ่อนแรงมากขึ้นเท่านั้น ในผู้ที่มีเอ็นข้อไหล่ฉีกเพียงบางส่วนอาจรู้สึกเจ็บแต่ผู้ป่วยยังสามารถเคลื่อนไหวแขนได้เป็นปกติ ในขณะที่ผู้ที่มีเอ็นข้อไหล่ฉีกทั้งหมดอาจไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนได้อย่างที่เคยทำหรือไม่สามารถกางแขนออกข้างลำตัวได้เลย อย่างไรก็ดีพบว่า โดยส่วนใหญ่แล้วเอ็นข้อไหล่ฉีกจะทำให้บริเวณหัวไหล่รู้สึกเจ็บแบบไม่ชัดเจนนัก อาจรู้สึกแปลบขึ้นมาเฉพาะเวลาใช้แขนหรือในบางรายอาจไม่สามารถนอนหลับได้เนื่องจากรู้สึกเจ็บ
ในการตรวจวินิจฉัยแพทย์จะทำการซักประวัติเกี่ยวกับความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ และความเจ็บปวด จากนั้นจะทำการตรวจหัวไหล่ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้มากขึ้น โดยปกติแล้วหากเอ็นข้อไหล่ฉีกทั้งหมดจะสังเกตได้ง่าย แพทย์จะจับแขนผู้ป่วยให้ทำท่าใดท่าหนึ่ง แล้วให้ผู้ป่วยลองทำท่านั้นด้วยตนเอง ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถทำได้ ก็เป็นไปได้ว่าผู้ป่วยมีเอ็นข้อไหล่ฉีก
ในกรณีที่จำเป็นแพทย์อาจให้ผู้ป่วยทำเอกซเรย์ที่หัวไหล่เพิ่มเติมเพื่อดูว่ามีกระดูกยื่นออกมา มีส่วนใดส่วนหนึ่งของหัวไหล่ที่หายไป หรือมีปุ่มกระดูกหัวไหล่ที่ดูไม่ปกติหรือไม่ ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับเอ็นข้อไหล่ฉีกทั้งสิ้น นอกจากนี้แพทย์อาจทำการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI ซึ่งเป็นการตรวจทางรังสีวิทยาที่ใช้คลื่นแม่เหล็กในการสร้างเป็นภาพหัวไหล่ลงบนฟิล์ม ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพเส้นเอ็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของการรักษาเอ็นข้อไหล่ฉีก มีทางเลือกในการรักษาทั้งการรักษาแบบไม่ใช่การผ่าตัดและการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย
- การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ได้แก่
o การพักผ่อนและการใช้ยาแก้อักเสบ เช่น aspirin หรือ ibuprofen เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมความเจ็บปวดและการอักเสบ แต่หากผู้ป่วยใช้ยากลุ่มนี้แล้วอาการเจ็บปวดไม่ทุเลาลง แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดยา cortisone
o การทำกายภาพบำบัด แพทย์อาจปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อให้ช่วยกำหนดโปรแกรมการฟื้นฟูให้แก่ผู้ป่วย ในขั้นแรกจะเป็นการลดความเจ็บปวดและการอักเสบด้วยการประคบร้อนหรือประคบเย็น จากนั้นจึงเป็นการรักษาด้วยการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้หัวไหล่ขยับได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในขั้นต่อไปผู้ป่วยจะเริ่มออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเพื่อให้สามารถควบคุมเอ็นข้อไหล่และกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ได้มากขึ้น นักกายภาพบำบัดจะช่วยถนอมกล้ามเนื้อกลุ่มนี้ให้ผู้ป่วยเพื่อให้กระดูก humerus ยังคงอยู่ในเบ้า ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้ตามปกติ ผู้ป่วยอาจต้องทำกายภาพบำบัดเป็นเวลา 6–8 สัปดาห์ เนื่องจากโดยมากแล้วผู้ป่วยจะสามารถทำกิจวัตรได้ตามเดิมและใช้แขนได้เต็มที่เหมือนเดิมภายในระยะเวลาดังกล่าว
- การรักษาด้วยการผ่าตัด หากผู้ป่วยต้องการกลับมาใช้ไหล่ให้ได้เหมือนปกติอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเอ็นข้อไหล่ ยกเว้นผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีโรคที่อาจเพิ่มความเสี่ยงจากการผ่าตัด ทั้งนี้ มีหลักฐานปรากฏว่าการผ่าตัดเปลี่ยนเอ็นข้อไหล่ภายใน 3 เดือนหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บจะทำให้เห็นผลได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรปรึกษากับแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดเพียงบางส่วนอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ในกรณีนี้แพทย์จะแนะนำว่าร่างกายสามารถสมานตัวเองได้ แต่หากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บจนทนไม่ไหวหรือไม่สามารถใช้แขนได้ อาจจำเป็นต้องพิจารณาผ่าตัด
เรียบเรียงโดย นพ.วิทูร บุญถนอมวงศ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: