bih.button.backtotop.text

ไขข้อสงสัย กับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คืออะไร ?
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่มีการอักเสบของผิวหนังอย่างเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ โดยโรคนี้พบได้บ่อยในเด็ก แต่สามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน อาการสำคัญของโรคนี้ คือ ผิวหนังแห้งอักเสบ และมีอาการคัน ซึ่งมักคันมากตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลากลางคืน นอกจากนี้ยังอาจเกิดเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง มีน้ำเหลืองไหล หากมีการติดเชื้อร่วมด้วย

 
อาการและอาการแสดงของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มีอะไรบ้าง ?
อาการคัน ถือเป็นอาการสำคัญของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ส่วนผื่นที่เกิดขึ้นนั้นจะมีลักษณะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่วงอายุ โดยแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
  1. ระยะวัยทารก
มักเป็นผื่นที่มีลักษณะเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มใสแตกออก มีน้ำเหลืองแฉะๆ เกาะติดบนแผล บริเวณที่พบบ่อยคือ แก้ม หน้าผาก หนังศีรษะ ซอกคอ บริเวณด้านนอกของแขนและขา
  1. ระยะวัยเด็ก (อายุหลัง 2 ปี จนถึงวัยรุ่น)
มักเป็นผื่นหรือตุ่มที่แห้งและหนา บริเวณที่พบบ่อยคือ ข้อพับแขนและขา ซอกคอด้านหลัง ใต้แก้มก้น ข้อมือ ข้อเท้า
  1. ระยะวัยผู้ใหญ่
ลักษณะผื่นคล้ายกับในช่วงวัยเด็ก เป็นผื่นแห้งและหนา มีขุยหรือสะเก็ด บริเวณที่พบบ่อยคือ ข้อพับแขนและขา ใบหน้า ระหว่างคิ้ว ศีรษะ รอบคอ หลังแขน ขา นิ้วมือและนิ้วเท้า
 
 
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดจากสาเหตุอะไร ?
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง แต่เชื่อว่าเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งผู้ป่วยจะมีการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง และมีสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นรุนแรงขึ้น

 
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ?
  • อายุ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักพบบ่อยในวัยทารก
  • มีประวัติเป็นภูมิแพ้ ผู้ที่มีประวัติส่วนตัวหรือครอบครัวเป็นโรคผิวหนัง ภูมิแพ้ ไข้ละอองฟาง หรือหอบหืด มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้มากกว่า
  • อาชีพ งานที่ต้องมีการสัมผัสกับโลหะ ตัวทำละลาย หรือสารทำความสะอาดบางชนิด จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
 
เราสามารถป้องกันและรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้อย่างไร ?
เนื่องจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ เป้าหมายของการรักษาโรคนี้จึงเป็นการควบคุมอาการต่างๆ ของโรค ป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ และอยู่ในช่วงสงบนานที่สุดเท่าที่จะทำได้
  1. หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้ผื่นกำเริบ ได้แก่
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสร
  • หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์หรือการสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด สารเคมี
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าเนื้อหยาบที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อย เช่น ไข่ นมวัว แป้งสาลี อาหารทะเล ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และได้รับการตรวจยืนยันว่าแพ้อาหารชนิดนั้นแล้วจริงๆ
  1. อาบน้ำด้วยสบู่ที่ไม่ระคายเคืองและไม่ใช้เวลานานเกินไป โดยใช้น้ำอุ่นหรือน้ำที่อุณหภูมิห้อง
  2. ทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนัง (Moisturizer) อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และทาภายหลังการอาบน้ำทันทีเพื่อให้เก็บความชุ่มชื้นของผิวหนังได้มากที่สุด
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจทำให้ผื่นกำเริบได้
  4. การรักษาด้วยยา
ยาต้านการอักเสบที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ (Topical anti-inflammatory drugs)
  • ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น Clobetasol propionate (ความแรงสูงมาก), Betamethasone dipropionate (ความแรงสูง), Betamethasone valerate (ความแรงปานกลาง), Hydrocortisone (ความแรงต่ำ) จะช่วยลดการอักเสบ และอาการคัน การรักษาควรเริ่มใช้ยาที่มีความแรงระดับปานกลาง เมื่อการอักเสบของผิวหนังดีขึ้นและควบคุมอาการได้ จึงลดความแรงของยาลงมาเป็นระดับต่ำ หรือหยุดใช้ยา โดยผลข้างเคียงของยาทากลุ่มสเตียรอยด์ อาจทำให้ผิวหนังบางลง สีผิวบริเวณที่ทาจางลง มีจ้ำเลือด หรือมีสิว บริเวณที่ทายาได้
  • ยาทากลุ่ม Calcineurin inhibitors เช่น Tacrolimus, Pimecrolimus พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ใช้เป็นยาทางเลือกในการรักษาทดแทนยาทากลุ่มสเตียรอยด์
ยาต้านการอักเสบที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic anti-inflammatory drugs)
ได้แก่ ยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดหรือรับประทาน และยากดภูมิคุ้มกัน มักใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาทั่วไป
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมียาฉีด Dupilumab ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โดย Dupilumab เป็นยาในกลุ่ม Monoclonal antibody บริหารยาโดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งยานี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรง ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป

ยาอื่นๆ
  • ยาต้านฮีสตามีนชนิดรับประทาน อาจช่วยลดอาการคันและช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดีขึ้น
  • ยาปฏิชีวนะ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
  1. การรักษาด้วยการฉายแสงอัลตร้าไวโอเลต (Phototherapy) เป็นทางเลือกในการรักษาสำหรับผู้ใหญ่ หรือในเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี แต่อาจเกิดผลข้างเคียงในระยะยาวที่ทำให้ผิวแก่ก่อนวัย หรืออาจเป็นมะเร็งผิวหนังได้
 
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง




 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs