bih.button.backtotop.text

รู้หรือไม่..การเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธีทำให้ท้องผูกได้

14 พฤศจิกายน 2565
การเบ่งอุจจาระดูเหมือนเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทั่วไปและคงไม่มีใครคิดว่าจะนำมาซึ่งปัญหาได้ แต่จากข้อมูลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์พบว่าประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังโดยไม่พบสาเหตุแน่ชัดเกิดจากการเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธี
 
ศ.นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหารได้ให้ความรู้กับเราถึงสาเหตุของการเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธี วิธีการวินิจฉัยและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ก่อนอื่นเรามาดูที่สาเหตุกันก่อนว่าเกิดขึ้นจากอะไร

การเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธีเกิดจากอะไร
โดยปกติเมื่อคนเราเบ่งอุจจาระ ร่างกายจะควบคุมกล้ามเนื้อหน้าท้องและกะบังลมให้เกร็งตัวเพื่อเบ่งพร้อมๆ กับควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักให้คลายตัวเพื่อให้อุจจาระเคลื่อนผ่านออกมาได้ การทำงานที่ประสานกันนี้ทำให้เบ่งอุจจาระออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับคนบางคนมีการเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธี เช่น เบ่งได้ไม่แรงพอหรือไม่มีแรงเบ่ง หรือหูรูดทวารหนักหดเกร็งหรือไม่คลายตัวในขณะเบ่ง ทำให้เบ่งอุจจาระไม่ออกและใช้เวลาในการถ่ายนานกว่าปกติ หลายคนจึงต้องพึ่งยาสวนหรือยาระบาย ซึ่งถ้าเป็นบ่อยๆจนเรื้อรังอาจทำให้เป็นโรคริดสีดวงทวารได้
 
จะทราบได้อย่างไรว่าเกิดจากการเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธี
วินิจฉัยได้โดยใช้เครื่องตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก (anorectal manometry) ร่วมกับการตรวจทางรังสีวิทยา
 
รักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง
รักษาได้ด้วยการฝึกการเบ่งให้ถูกวิธีหรือที่เรียกว่า biofeedback therapy คือการฝึกเบ่งด้วยเครื่องมือตรวจวัดแรงเบ่งและการทำงานของหูรูดทวารหนัก โดยระหว่างฝึกการเบ่ง เครื่องคอมพิวเตอร์จะแสดงให้เห็นถึงแรงเบ่งและการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักขณะเบ่ง ผู้ป่วยสามารถรับรู้ได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ว่าเบ่งได้แรงเพียงไรและหูรูดทวารหนักกำลังเกร็งตัวหรือคลายตัวอยู่ การฝึกแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง รวมทั้งหมด 4-6 ครั้ง โดยมีแพทย์และพยาบาลคอยให้คำแนะนำถึงวิธีเบ่งที่ถูกต้อง
 
การรักษาโดยการฝึกการเบ่งมีทั้งหมดกี่ขั้นตอน

การรักษามี 3 ขั้นตอนด้วยกันคือ

  • ขั้นตอนที่ 1 เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำ โดยให้เข้าใจกลไกการเบ่งอุจจาระที่เป็นปกติและให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อให้ท้องไม่ผูก เช่น การดื่มน้ำและกินอาหารที่มีกากใยเพียงพอ การใช้ยาระบายอย่างเหมาะสม
  • ขั้นตอนที่ 2 เป็นการฝึกเบ่งให้มีประสิทธิภาพ เช่น การฝึกควบคุมกล้ามเนื้อหน้าท้อง การฝึกการหายใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแรงเบ่ง การควบคุมให้หูรูดทวารหนักคลายหรือไม่เกร็งตัวในขณะที่เบ่ง รวมถึงปรับระดับความไวของการรับรู้ความรู้สึกในทวารหนักเพื่อให้ไปเข้าห้องน้ำเพื่อถ่ายอุจจาระในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งวิธีการฝึกอาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนขึ้นกับปัญหาของแต่ละราย
  • ขั้นตอนสุดท้าย เป็นการประเมินติดตามผล โดยประเมินอาการ การปฏิบัติตัว การใช้ยาระบายและแก้ไขขั้นตอนในการเบ่งที่ยังมีปัญหาอยู่

คาดหวังผลลัพธ์ในการรักษาได้มากน้อยแค่ไหน
การรักษาโดยการฝึกเบ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลประมาณ 60-80% และส่วนใหญ่มักจะตอบสนองในระยะยาว ในผู้ป่วยที่รักษาได้ผลมีจำนวนไม่น้อยที่หายขาดจากปัญหาท้องผูกโดยไม่ต้องใช้ยาระบายอีก
 
ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหารมีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการซึ่งมีชื่อเสียงระดับนานาชาติและสหสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร การบริการครอบคลุมการให้การปรึกษา ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคการทำงานที่ผิดปกติของระบบทางเดินอาหารแบบองค์รวม โดยเฉพาะโรคที่ยากและซับซ้อน


ที่มา ศ.นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs