ในยุคปัจจุบัน มะเร็งปอดกลายเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลก รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ หรือสัมผัสมลพิษทางอากาศโดยตรง หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญหน้ากับภัยเงียบนี้ จนกระทั่งอาการรุนแรงขึ้นจึงเข้าสู่การรักษาที่ยากขึ้น
มะเร็งปอดคืออะไร?
มะเร็งปอดเกิดจากการที่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจมีการเจริญเติบโตมากกว่าปกติ ทำให้เกิดเป็นเนื้องอกชนิดเนื้อร้ายขึ้นภายในปอด สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดมีได้จากหลายปัจจัย หนึ่งในสาเหตุหลักคือ การสูบบุหรี่ รวมถึงควันบุหรี่มือสอง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สิ่งแวดล้อม ควัน PM 2.5 มลพิษต่าง ๆ รวมถึงการกลายพันธุ์ของยีนในร่างกาย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ในครอบครัว เป็นต้น
สัญญาณเตือนภัยที่ไม่ควรมองข้าม
- ไอเรื้อรัง มีเสมหะปนเลือด
- หายใจลำบาก หรือหอบเหนื่อยง่าย
- นอนราบแล้วอึดอัดแน่นหน้าอก
- แขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะมากผิดปกติ หรือมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท
- ปวดกระดูก กล้ามเนื้อมากผิดปกติ
- น้ำหนักลดมากผิดปกติ
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
การตรวจคัดกรองช่วยให้พบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
ปัจจุบันมีเทคโนโลยี
Photon-Counting CT Scan ซึ่งสามารถตรวจพบก้อนผิดปกติในปอดตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้ เนื่องจากมีความละเอียดของภาพสูงและมีความไวในการตรวจจับรอยโรคขนาดเล็ก เหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น
- ผู้ที่สูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน (เช่น 1 ซอง/วัน เป็นเวลา 20 ปีขึ้นไป)
- ผู้ที่เลิกบุหรี่ไม่เกิน 15 ปี
ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และเคยสัมผัสมลพิษเป็นประจำ
** และในปัจจุบันเริ่มมีผลการวิจัยที่รายงานออกมามากขึ้นว่า การที่มีญาติสายตรงในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด อาจจะเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งร่วมด้วย โดยหากยิ่งมีจำนวนหลายคนป่วยเป็นมะเร็งปอดในครอบครัวความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้น
ทางเลือกใหม่ในการรักษา
จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ ปัจจุบันเรามี “ยามุ่งเป้า” (Targeted Therapy) และ “ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน” (Immunotherapy) ที่สามารถรักษามะเร็งปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนในมะเร็งจะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้แม่นยำและลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัดแบบเดิม
การป้องกันคือหัวใจสำคัญ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และควันบุหรี่
- ป้องกันการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 โดยสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยง
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
มะเร็งปอดไม่ใช่จุดจบเสมอไป หากเรารู้เท่าทัน ใส่ใจสุขภาพ และเข้าถึงการรักษาตั้งแต่ระยะแรก โอกาสหายขาดมีอยู่จริง
ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์พร้อมดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอดด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งปอดจากสหสาขาวิชาชีพ (Bumrungrad Lung Cancer Consortium; BLCC) เพื่อให้คุณมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
เรียบเรียงโดย :
รศ.พญ. ธัญนันท์ ใบสมุทร
แพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 20 พฤษภาคม 2568