bih.button.backtotop.text

มิติใหม่ของวงการแพทย์หลังการระบาดของโควิด-19

12 พฤษภาคม 2563

aw_4-มตใหมหลงโควด-19.jpg

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ มีความพยายามของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (Artificial Intelligence, AI) มาใช้ประโยชน์ในช่วงการระบาดของไวร้สโควิด-19 นอกจากการนำ AI มาใช้แล้ว วงการแพทย์ยังได้นำวิธีการใหม่ๆเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพมาใช้ในการรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งเผยให้เห็นทิศทางของการดูแลรักษาสุขภาพในอนาคต ในวันนี้เราจะมาดูแนวโน้มที่สำคัญ 4 ประการที่เราเชื่อว่าจะเปลี่ยนโฉมวิธีการการดูแลรักษาสุขภาพในอนาคตหลังการระบาดของโควิด-19

 

ศักยภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Potential of AI)

วงการแพทย์ได้นำ AI มาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายและในอนาคต AI จะมีบทบาทมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนี้
  • ตรวจจับโรคอุบัติใหม่ ช่วยให้ตรวจพบและป้องกันโรคระบาดอาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ซอฟแวร์บลูด็อท (BlueDot) ที่พัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัพจากแคนาดาที่สามารถแจ้งเตือนว่ามีกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบการระบาดใน อู่ฮั่น ซึ่งในอนาคตอาจทำให้หน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือสถานการณ์โรคระบาดได้อย่างทันท่วงที
  • พยากรณ์การระบาดของโรค ช่วยป้องกันการระบาดของโรค เช่น ซอฟแวร์บลูด็อท ที่นอกจากแจ้งเตือนการระบาดของไวรัสได้แล้ว ยังสามารถพยากรณ์ได้ถูกต้องว่าไวรัสจะระบาดจากอู่ฮั่นไปยังกรุงเทพ โซล ไทเป โตเกียว นอกจากนี้ AI ยังช่วยตรวจจับว่าผู้ป่วยมีไข้หรือไม่ เช่น โรงพยาบาล Florida’s Tampa General Hospital ในสหรัฐอเมริกาได้ใช้ AI ในการช่วยสแกนใบหน้าผู้ป่วยเพื่อตรวจอุณหภูมิร่างกายโดยไม่ต้องสัมผัสตัวผู้ป่วย
  • รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส  AI ช่วยเร่งให้ค้นพบยารักษาโรคทำได้เร็วยิ่งขึ้น อย่างเช่น บริษัทสตาร์ทอัพของอังกฤษชื่อ Exscienta ร่วมกับบริษัท Sumitomo Dainippon Pharma จากญี่ปุ่น  เป็นบริษัทแรกในการนำ AI มาใช้ในการคิดค้นยาใหม่ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ โดยสามารถคิดค้นและนำยามาทดลองกับมนุษย์ได้ภายในเวลาเพียง 12 เดือน จากปกติที่ยาทั่วไปต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปีจึงสามารถนำมาทดลองกับมนุษย์ได้
 

การดูแลรักษาสุขภาพแบบรายย่อย (Retailization of Healthcare)

การเจริญเติบโตของโซเชียล มีเดีย สมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีคลาวด์เป็นตัวเร่งให้การดูแลสุขภาพแบบรายย่อยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ผู้ป่วยมีความคาดหวังต่อผู้ให้บริการด้านดูแลรักษาสุขภาพเหมือนกับที่คาดหวังต่อร้านค้าปลีกหรือสินค้าและการบริการอื่นๆ นั่นคือความสะดวกสบาย ความโปร่งใสและการเข้าถึงการบริการได้อย่างง่ายดายรวดเร็ว การดูแลรักษาสุขภาพแบบรายย่อยมุ่งเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (patient centric) การระบาดของโควิด-19 ทำให้แนวโน้มนี้ไม่ได้เป็นเพียงความต้องการของผู้ป่วยอีกต่อไป แต่กลายเป็นความจำเป็น เช่น การมีศูนย์ฉุกเฉินเพื่อรองรับผู้ป่วยระหว่างการระบาดของโรคและช่วยคัดกรองว่าผู้ป่วยมีอาการหนักมากน้อยอย่างไร หรือการมีชุดทดสอบไวรัสโควิด-19 จำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ เป็นต้น

 

บริการโทรเวชกรรม (Teleconsultation)

คือ บริการให้คำปรึกษาและรักษาผู้ป่วยระยะไกลโดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล บริการโทรเวชกรรมเติบโตขึ้นอย่างช้าๆเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดความต้องการบริการทางการแพทย์ระยะไกลสูงขึ้นมาทันที  ตัวอย่างเช่น ทางกรุงเทพมหานครได้สร้างระบบ  BKK COVID-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปทำแบบประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง  พร้อมให้ความรู้ในการปฏิบัติตนตามระดับความเสี่ยงนั้น ๆ โดยกลุ่มเสี่ยงสามารถบันทึกข้อมูลเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ในระบบได้ เป็นต้น นอกจากนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ริเริ่มบริการโทรเวชกรรมโดยเสนอทางเลือกให้ผู้ป่วยที่มีประวัติกับเราไม่ต้องมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น เช่น ผู้ป่วยซึ่งแพทย์นัดติดตามอาการหรือเป็นโรคเรื้อรังและอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เรามีบริการปรึกษาแพทย์จากที่บ้าน (In-home healthcare) ผ่านสายด่วน 1378, บริการโทรเวชกรรม หรือ teleconsultation รวมถึงบริการฉีดวัคซีน และส่งยาที่บ้านตามใบสั่งแพทย์  นอกจากนี้เราอาจจะยังได้เห็นการเติบโตของแนวโน้มที่เชื่อมโยงกับโทรเวชกรรม นั่นคือ การมอร์นิเตอร์ผู้ป่วยทางไกล (Remote Patient Monitoring: RPM) ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้วงการแพทย์เห็นความสำคัญของบริการดูแลผู้ป่วยทางไกลรวมถึงการนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆเพื่อช่วยให้สามารถติดตามอาการผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้มีบริการนี้สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งทำให้เราสามารถติดตามอาการผู้ป่วยจากระยะไกลได้ หากผู้ป่วยมีลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เปลี่ยนแปลงไป ทางทีมแพทย์ผู้รักษาสามารถให้คำแนะนำและการดูแลได้อย่างทันท่วงที

 

การแพทย์แบบเฉพาะเจาะจง (Precision health medicine)

กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้วางเป้าหมายเรื่องการรักษาด้วยแนวทางการแพทย์แบบเฉพาะเจาะจงในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้คนไทยสามารถใช้ข้อมูลพันธุกรรมมาประกอบการรักษาโรคได้ในอนาคตการแพทย์แบบเฉพาะเจาะจงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรักษาในอดีตที่ใช้วิธีการเดียวกันในการรักษาผู้ป่วยทุกคน มาเป็นการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรม สภาพแวดล้อมและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้ป่วยมาพิจารณาหาสาเหตุ หรือแนวทางป้องกัน รวมถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด การแพทย์แบบเฉพาะเจาะจงกำลังเติบโตมากขึ้นจากความรู้ทางด้านพันธุกรรมที่มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้แพทย์สามารถใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมในการวินิจฉัยโรคหรือใช้ในการตัดสินใจเลือกวิธีการในการรักษาและป้องกันโรคที่มุ่งเป้าไปที่ความเสี่ยงและสถานการณ์ของแต่ละบุคคลแทนที่จะใช้วิธีเดียวกันหมด

นอกจากนี้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Internet of things, IoT) และเทคโนโลยีดิจิทัลยังช่วยยกระดับการแพทย์แบบเฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ดิจิทัลอย่างสมาร์ทโฟนหรือสายรัดข้อมือเพื่อติดตามการเคลื่อนไหว (Fitness tracker) ช่วยเก็บข้อมูลทางสุขภาพเชิงลึกถึงชีวภาพของผู้ใช้แต่ละบุคคล ทำให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์สามารถนำข้อมูลไปให้แนวทางในการเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงวิธีการรักษาที่ให้ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น 

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs