bih.button.backtotop.text

โรคงูสวัด กันไว้ดีกว่าแก้ แค่ฉีด 1 เข็ม!

โรคงูสวัดคืออะไร?
 โรคงูสวัด (Herpes zoster หรือ shingles) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส varicella zoster ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส หลังจากที่ผู้ป่วยหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสนี้จะยังคงฝังตัวอยู่บริเวณปมประสาท เมื่อร่างกายเริ่มอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำลง อาจส่งผลกระตุ้นให้เชื้อไวรัส varicella zoster ออกมาจากบริเวณปมประสาท และก่อให้เกิดโรคงูสวัดได้

 
อาการและภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัดมีอะไรบ้าง?
อาการหลักของโรคงูสวัด คือ ปวด แสบร้อนบริเวณผิวหนัง ร่วมกับมีกลุ่มของผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นกระจุก นอกจากนี้ อาจพบอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น หรือไม่สบายท้อง ร่วมด้วย ส่วนอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยของโรคงูสวัด คือ อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia, PHN) จะพบอาการปวดมากในบริเวณที่เป็นผื่นจากโรคงูสวัด โดยอาการปวดนี้จะยังคงอยู่แม้ว่าผื่นจะหายไปแล้ว ทั้งนี้อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายในระยะเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัดอยู่นานเป็นปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

 
ท่านสามารถติดโรคงูสวัดจากผู้อื่นได้หรือไม่?
โรคงูสวัดเป็นโรคติดต่อทางการสัมผัส เนื่องจากในแผลที่มีตุ่มน้ำใสนั้น ยังสามารถพบเชื้อไวรัส varicella zoster จึงสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ โรคนี้สามารถเกิดในทุกช่วงวัย แต่บางรายอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้อื่น เช่น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 
เราสามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดได้อย่างไร?
วิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันตนเองจากโรคงูสวัด คือ การปฏิบัติตัวให้มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมี วัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคงูสวัด โดยท่านสามารถเข้ารับคำปรึกษาและรับวัคซีนจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลได้

 
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดคืออะไร?
ในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเพียงชนิดเดียว คือ วัคซีนที่เตรียมจากเชื้อไวรัส varicella zoster ชนิดที่ถูกทำให้อ่อนแรงลง

จากการศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ร้อยละ 69.8 และป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อน คือ อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด ได้ถึงร้อยละ 66.5 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี ส่วนในกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป วัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ร้อยละ 51 และป้องกันการเกิดอาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัดได้ร้อยละ 39

การบริหารวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดจะเป็นการฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพียงเข็มเดียว (0.65 mL) โดยภูมิคุ้มกันจะขึ้นเต็มที่หลังฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ และภูมิคุ้มกันอาจอยู่ได้นานถึง 10 ปี ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดเข็มกระตุ้นของวัคซีนนี้

 
ใครควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด?
บุคคลทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด แม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน เนื่องจากอายุที่มากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนจากโรคงูสวัดด้วย

โดยท่านสามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลก่อนการรับวัคซีน เนื่องจากวัคซีนนี้มีข้อจำกัดในบุคคลบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีน รวมถึงเจลาติน หรือผู้ที่มีประวัติแพ้ยานีโอมัยซินอย่างเฉียบพลัน (anaphylactic/anaphylactoid) หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อการทำงานของไขกระดูกและระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆ

 
อาการข้างเคียงอะไรบ้างที่อาจพบได้หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด?
อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด คือ อาการปวดหรือบวมในบริเวณที่ฉีด โดยพบได้มากกว่าร้อยละ 10 ส่วนอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ ปวดศีรษะ เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดท้อง และคลื่นไส้
 
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง


 
Reference
  1. Centers for Disease Control and Prevention. Shingles (Herpes Zoster). Available from: https://www.cdc.gov/shingles/hcp/clinical-overview.html [Assessed 20 July 2022].
  2. Zostavax® [package insert]. USA: Merck Sharp & Dohme Corp., a subsidiary of Merck & Co., Inc; 2019. Available from: https://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/z/zostavax/zostavax_pi2.pdf [Assesses 23 July 2022]
  3. Centers for Disease Control and Prevention. Shingles (Herpes Zoster). Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/shingles/public/zostavax/index.html [Assessed 20 July 2022].
  4. The Immunization Action Coalition. Recombinant Zoster (Shingles) Vaccine: What You Need to Know. Available from: https://www.immunize.org/vis/zoster_recombinant.pdf [Assessed 22 July 2022]
  5. Janniger c., et al Herpes Zoster: Practice Essentials, Background, Pathophysiology [Internet]. Emedicine.medscape.com. 202. Available from: https://emedicine.medscape.com/article/1132465-overview#showall [Assessed 21 July 2022]
  6. Hales, Craig M., et al. "Update on recommendations for use of herpes zoster vaccine." MMWR. Morbidity and mortality weekly report 63.33 (2014): 729.
  7. เสาวภา ทองงาม. ผู้ป่วยโรคงูสวัด: การจัดการดูแลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์. วารสารพยาบาลสภากาชาดไทย ปีที่ 14 ฉ.1. (2564): 31-39. เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


วัคซีนคลินิก
Tel: 02 066 8888

Related Health Blogs